ความร่วมมือครั้งสำคัญของ สื่อสาธารณะ และภาคการศึกษา เปิดตัว “โครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็กยุค Metaverse”
ความร่วมมือครั้งสำคัญของ สื่อสาธารณะ และภาคการศึกษา เปิดตัว “โครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็กยุค Metaverse” เครื่องมือครูยุค 5G วางรากฐานให้เด็กไทยก้าวสู่สังคมแห่งอนาคต
ศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและครอบครัว ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แถลงข่าว “โครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็กยุค Metaverse” ความร่วมมือครั้งสำคัญของสื่อสาธารณะและภาคการศึกษา ที่ผนึกกำลังกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการศึกษา เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนให้กับครูทั้งระดับประถมศึกษา และปฐมวัย ภายใต้ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ คิดเรนเจอร์ส ชวนครูวิทย์-คณิต มาคิดให้ WOW ปี 6 และ โครงการ KIDDY CODE สนุกโค้ด สนุกคิด โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวเปิดโครงการ และ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับและรายงานถึงที่มาโครงการ
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “รู้สึกชื่นชมยินดีกับสถานีไทยพีบีเอส ที่จัดทำโครงการอันเป็นประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนเข้าสู่ปีที่ 6 เด็กในยุคศตวรรษที่ 21 ต้องสามารถวางแผน คิด วิเคราะห์ เป็นเหตุเป็นผล เชิงวิทยาศาสตร์ มีภูมิคุ้มกัน มีความสุข แก้ปัญหาชีวิตได้ ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง และผู้ใหญ่ต้องส่งเสริมและฝึกฝนให้เด็กมีทักษะเหล่านี้ ที่เรียกว่า unplugged coding ผ่านการเล่น การเรียนรู้ ทั้งในครอบครัว จากงานบ้าน งานสวน งานครัว สร้างมูลค่าเพิ่มให้ครอบครัวได้ เป็นพื้นฐานสู่อนาคตในการเผชิญปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น เป็นทักษะที่โลกสมัยใหม่ต้องการ ทั้งเด็กปฐมวัย ประถมต้น ประถมปลาย มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ มีระบบคิด ซึ่ง coding ง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล all for coding, coding for all และ metaverse จะเป็นตัวกรองให้เด็กเรียนรู้ ทั้งในจินตนาการและในโลกความจริง”
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย รายงานว่า “ไทยพีบีเอส เป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่มีเป้าหมายในการเป็นสื่อที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีแผนดำเนินงานภายใต้ประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง เพื่อนำไปสู่สังคมคุณภาพและคุณธรรม โดยเฉพาะกลุ่ม “เด็กและเยาวชน” ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญ รูปแบบรายการเด็กที่ออกอากาศทางไทยพีบีเอส จึงเป็นรายการที่เน้นส่งเสริมทักษะด้านการเรียนรู้ ส่งเสริมให้มีสื่อสำหรับเด็กที่มีคุณภาพและคุณค่าสาธารณะสอดคล้องเหมาะสมกับช่วงปฐมวัย สามารถนำความรู้จากเนื้อหารายการไปบูรณาการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับครูและนักเรียน ดังเช่นโครงการ คิดเรนเจอร์ส ชวนครูวิทย์-คณิต มาคิดให้ WOW ปี 6 และ โครงการ KIDDY CODE สนุกโค้ด สนุกคิด นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 4-7 ปี) ให้เด็ก ๆ รู้จักกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ คิดอย่างเป็นระบบด้วยเหตุผลอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยจะเป็นเรื่องราวรอบตัว และสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถเชื่อมโยงแนวความคิดนี้กับชีวิตจริงของพวกเขาได้ จัดทำในรูปแบบคลิปวิดิโอเรื่องวิทยาศาสตร์ และเกมการ์ด สำหรับเด็กปฐมวัย แจกให้ครูโรงเรียนอนุบาลนำไปเป็นสื่อกิจกรรมวิทยาการคำนวนภายในห้องเรียน”
อาจารย์ฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ครูเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ การส่งเสริมครูให้มีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญมากในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน การเตรียมคนสำหรับอนาคต จึงจำเป็นมากที่เราจะทราบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกหรือ Mega Trends ทำให้เกิดผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม ธุรกิจ วัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม โดยในปีนี้ ได้เลือก 4 เรื่องที่สำคัญมาอบรม ได้แก่ Jump to Metaverse for Innovative Learning กระโดดเข้าโลกเสมือนเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ของเด็ก, เติมความรู้ สร้างทักษะ สู่สมรรถนะ หนูทำได้แก้ปัญหาเป็นแบบเต็ม STEAM, โลกสวยและน่าอยู่ด้วยมือเรา…แนวทางและกิจกรรมจัดการศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development) และ โค้ดให้ม่วนชวนให้คิด เสริมทักษะความเข้าใจและการใช้ เทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 (Coding in Action)”
รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปีนี้ทางทีมสะเต็มของเราได้ออกแบบกิจกรรม โดยยังเน้นการเรียนรู้ตามวิถีสะเต็มและใช้สโลแกนสำหรับกิจกรรมครั้งนี้ว่า “สนุกคิดพิชิตปัญหาด้วยสะเต็ม” โดยภาพรวมกิจกรรมจะมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการแก้ปัญหาผ่านการร่วมด้วยช่วยกันเรียนรู้ทำงานกันเป็นทีมในการแก้ปัญหาหรือก้าวผ่านความท้าทายที่กำหนดให้ เราได้พยายามออกแบบสถานการณ์ให้ครอบคลุมในมิติต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาสมรรถนะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน โดยกิจกรรมจะครอบคลุมทั้งที่เกี่ยวกับคน สัตว์ สิ่งของ และสถานการณ์จะออกแบบให้เป็นทั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่อยู่บนโลกและดาวอังคาร เช่น กิจกรรมที่ผู้เรียนรับบทบาทเป็นนักพันธุศาสตร์ในการสร้างสายพันธุ์แมลงใหม่เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างเป็นหุ่นยนต์เพื่อไปสำรวจดาวอังคาร และกิจกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องปากท้องใกล้ตัวที่ผู้เรียนจะรับบทเป็นนักสืบ FDA ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว เป็นต้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทางทีมเราเชื่อว่า ผู้เรียนจะได้รับแรงบันดาลใจกระตุ้นปลุกเร้า เพื่อมุ่งสัประยุทธ์พิชิตความท้าทาย โดยใช้ความรู้ และทักษะด้าน STEM และสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเอง เพราะเราเชื่อว่า วันนี้ โรงเรียนจะไม่ใช่โรงสอนอีกต่อไป ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เราสอนมากเท่าไร แต่ขึ้นอยู่กับการที่นักเรียนของเราสามารถเรียนรู้ได้เท่าไร เรียนรู้ตามรูปแบบที่ถนัด เรียนรู้ให้เต็มศักยภาพ และให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นผู้ที่มีทักษะการเรียนรู้ที่สามารถออกแบบและหาทรัพยากรการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ จนนำไปสู่ผู้เรียนที่ “เป็นผู้รู้จริง ทำได้ ใช้ประโยชน์เป็น”
นางวรินทร์เนตร เติมศิริกมล ผู้ผลิตรายการคิดเรนเจอร์ส และผู้จัดทำโครงการ คิดเรนเจอร์ส ชวนครูวิทย์-คณิต มาคิดให้ WOW ปี 6 และ โครงการ KIDDY CODE สนุกโค้ด สนุกคิด กล่าวปิดท้ายว่า “กิจกรรมเหล่านี้ เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากรายการ Kid Rangers ของไทยพีบีเอส ที่จะนำเสนอรูปแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการ และ STEM ศึกษา ผ่านการผจญภัยไปทำภารกิจของเด็กๆในที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กประถมศึกษา เราจึงจัดกิจกรรมอบรมครู เพื่อนำสื่อเพื่อการเรียนรู้จากหน้าจอสู่ห้องเรียน โดยกิจกรรมอบรมนี้จัดมาเป็นปีที่ 6 แล้ว ก่อนหน้านี้จะมีการจัดในรูปแบบ on-site ไปยังหัวเมืองต่างๆทั่วประเทศ และช่วงโควิดที่ผ่านมาก็ปรับเป็นรูปแบบ online โดยคุณครูจะได้มาอัพเดทนวัตกรรม หรือเทรนด์ ทางการศึกษาใหม่ๆ แล้วนำกลับไปลองใช้กับนักเรียนในห้องเรียน จากนั้นก็จะมีการจัดประกวดคลิป VDO การสอนของคุณครูตามเนื้อหาที่คุณครูได้รับการอบรมไป คุณครูที่ชนะ 5 ท่านก็จะได้ไปดูการจัดการเรียนการสอนใหม่ๆ ที่ต่างประเทศ”
โครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็กยุค Metaverse ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ “โครงการ คิดเรนเจอร์ส ชวนครูวิทย์-คณิต มาคิดให้ WOW ปี 6” และ “โครงการ KIDDY CODE สนุกโค้ด สนุกคิด” จัดด้วยรูปแบบไฮบริด คือทั้ง on-site และ online ด้วยกัน โดยจะเดินทางไปยังหัวเมือง 5 จังหวัดทั่วประเทศและจัดอบรมครูที่สมัครมา on-site จำนวน 50 คน ในขณะเดียวกัน จะมีการ Live สื่อสารถึงครูในรูปแบบ online อีกด้วย
ทั้งนี้ 4 Mega Trends กับการศึกษาของเด็กในโลกอนาคต คือ 4 เรื่องสำคัญในแวดวงการศึกษา ที่ครูไทยควรเตรียมพร้อมเรียนรู้ เพื่อส่งต่อเนื้อหาเหล่านี้ให้เด็กนักเรียนในศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาโลกในอนาคตอันใกล้ ได้แก่
- Jump to Metaverse for Innovative Learning กระโดดเข้าโลกเสมือนเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ของเด็ก
- เติมความรู้ สร้างทักษะ สู่สมรรถนะ หนูทำได้แก้ปัญหาเป็นแบบเต็ม STEAM
- โลกสวยและน่าอยู่ด้วยมือเรา แนวทางและกิจกรรมจัดการศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- โค้ดให้ม่วน ชวนให้คิด เสริมทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21
โครงการ KIDDY CODE สนุกโค้ด สนุกคิด เป็นโครงการที่ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่อง แนวคิดเชิงคำนวณ และ Unplugged Coding ให้กับเด็กปฐมวัย หรือเด็กอนุบาล แบบครบวงจร โดยมีตั้งแต่คลิป VDO เพื่อการเรียนรู้ ชื่อรายการ Kiddy Code สนุกโค้ด สนุกคิด นำเสนอเกี่ยวกับการฝึกคิดเชิงคำนวณของเรื่องราวในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมีการฝึกแก้ไขโจทย์ปัญหาที่มาในรูปแบบนิทาน และกิจกรรม Unplugged Coding สนุกๆ รวมไปถึงการฝึกให้เด็กรู้จักสิ่งที่เป็นเทคโนโลยีดิจิทัล รอบตัวแบบง่ายๆ จำนวน 20 ตอน ออกอากาศในช่องทางที่หลากหลายของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จากนั้นนำตัวรายการโทรทัศน์มาต่อยอดเป็นการ์ดเกม ที่คุณครูสามารถนำไปเป็นสื่อในการเรียนการสอนแบบ Unplugged Coding อย่างสนุกสนานในห้องเรียน กับเด็กปฐมวัย จำนวน 3,000 ชุด และมีการจัดกิจกรรมอบรมครูปฐมวัย เพื่อสอนเทคนิควิธีการใช้คลิปรายการ และการ์ดเกมเพื่อสอนนักเรียนในห้องเรียนให้สนุกและมีความสุขกับการเรียนรู้แบบ Unplugged Coding
ที่มา: ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์