โดฟ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็น จัดเสวนา Dove #LetHerGrow “สร้างอนาคตให้เด็กไทย เติบโตในแบบที่ดีที่สุดของตัวเอง”
โดฟ สานต่อแคมเปญ #LetHerGrow เปิดเวทีเสวนาระดมความคิด ในหัวข้อ Dove #LetHerGrow “สร้างอนาคตให้เด็กไทย เติบโตในแบบที่ดีที่สุดของตัวเอง” เพื่อรณรงค์ยุติกฎการลงโทษตัดผมนักเรียน ซึ่งกฎระเบียบเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบมากกว่าแค่ผมของนักเรียน แต่ยังส่งผลให้นักเรียนสูญเสียความมั่นใจในตนเอง โดย โดฟ เล็งเห็นและมุ่งมั่นที่จะให้ผู้คนสร้างคุณค่าความงาม คือ การมีความมั่นใจในตัวเองและการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
งานเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงการร่วมหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ผ่านตัวแทนของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ดร.นิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงทิศทางและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกฎระเบียบในโรงเรียน เพื่อสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม นางสาวผกาฉัตร เตชาบูรพานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายพัฒนาตลาด ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดฟ ในฐานะแบรนด์ที่ริเริ่มแคมเปญ #LetHerGrow ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ร่วมนำเสนอมุมมอง จากผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ดร.กัลยารัตน์ เมธีวีรวงศ์ ประธานฝ่ายการฝึกอบรม สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมแชร์มุมมอง ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับครูและโรงเรียน และนางสาวซาร่า-รัศมี สท๊วต ผู้ร่วมถ่ายทอดในแคมเปญภาพยนตร์ Dove #LetHerGrow ผู้เคยมีประสบการณ์จากการโดนบังคับตัดผม
ดร.นิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าร่วมงานเสวนาฯ พร้อมกล่าวถึง ทิศทางและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกฎระเบียบในโรงเรียนว่า “ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน โลกเปลี่ยน แคมเปญที่โดฟทำถือเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์และสื่อสารเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นด้วยกับเรื่องสิทธิในร่างกายและทรงผมของนักเรียน ทั้งนี้สถานศึกษาถือเป็นสังคมจำลอง ที่จะสร้างคนให้เข้าไปอยู่ในสังคมแห่งความเป็นจริงได้อย่างผาสุก ภายใต้กฎเกณฑ์ เงื่อนไข และกติกา โดยในเรื่องของทรงผมนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกระเบียบฯ ว่าด้วยทรงผมของนักเรียน โดยมีเจตนารมณ์ให้การปฏิบัติตนของนักเรียนเป็นไปด้วยความถูกต้อง และควบคู่ไปกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยหลักการสำคัญคือการกระจายอำนาจให้แก่โรงเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษา เพราะการศึกษาจะต้องลงถึงหน่วยปฏิบัติที่แท้จริง อีกทั้ง สพฐ. วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ ตามนโยบายของ เลขาธิการ กพฐ. (ดร.อัมพร พินะสา) นั้น โรงเรียนต้องรู้ความต้องการของนักเรียนในสังกัดตัวเองและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ซึ่งโรงเรียนร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของโรงเรียนร่วมกัน รวมถึงเรื่องของทรงผมนักเรียนที่เหมาะสมว่าควรจะทำเช่นไร
“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรามีระเบียบฯ เรื่องการลงโทษนักเรียน ซึ่งสามารถทำได้ใน 4 ข้อ คือ ว่ากล่าวตักเตือน ตัดคะแนนความประพฤติ ทำทัณฑ์บน และให้ทำกิจกรรม ในขณะเดียวกัน สพฐ. ได้สื่อสารกับครูอย่างใกล้ชิด โดยได้กำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตถึงประเด็นดังกล่าว พร้อมบทลงโทษต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ยังได้ให้ความเอาใจใส่กับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก ตลอดทั้งเข้าใจในสิทธิความเป็นมนุษย์ของเด็ก ซึ่งการที่โดฟเข้ามาจัดแคมเปญในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างการตระหนักรู้ให้แก่สังคมเป็นอย่างดี และหวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอนาคต” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
นางสาวผกาฉัตร เตชาบูรพานนท์ รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดฟ กล่าวว่า “โดฟ ยังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมรณรงค์ยุติกฎการลงโทษตัดผม ซึ่งไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาฯ เท่านั้น แต่เรายังมองหาแนวทางแก้ไข ปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อสร้างอนาคตที่ช่วยให้เด็กนักเรียนไทยทั่วประเทศได้เติบโตขึ้นในแบบที่ดีที่สุดของพวกเขา เราจึงเป็นสื่อกลางจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน เพื่อเด็ก ๆ ของเรา โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มุมมองและความเห็นที่เกิดจากงานเสวนาในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางในการช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ มองเห็นว่ากฎระเบียบดังกล่าวไม่ได้ลดทอนแค่ความยาวของเส้นผมของเด็กนักเรียน แต่ลดทอดความมั่นใจและตัวตนของพวกเขาอีกด้วย โดย โดฟ จะมีการขับเคลื่อนประเด็นนี้ อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 3 ปี ผ่านกองทุน The Growth Fund (เดอะ โกรธ์ ฟันด์) จำนวน 10,000,000 บาท เพื่อใช้ในงานศึกษาวิจัย การให้ความรู้ผ่านผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการทำงานร่วมกับโรงเรียนและนักการศึกษา อีกด้วย”
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ร่วมนำเสนอมุมมอง จากผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า “ตนรู้สึกเห็นใจเด็กไทยจำนวนมาก ที่จะต้องอยู่กับกฎระเบียบที่ส่งผลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งคำถามสำคัญ คือ ทำไมเรื่องทรงผมต้องเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย ยังมีข่าวนักเรียนถูกกล้อนผมอยู่ทำให้นักเรียนไปโรงเรียนอย่างไม่มีความสุข ทั้งที่โรงเรียน ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่สำหรับการเรียนรู้อย่างแท้จริง แต่กลับกลายเป็นว่าเด็กต้องไปโรงเรียนอย่างระแวดระวังกฎระเบียบและการลงโทษ การที่บอกว่าทรงผมเป็นการฝึกวินัย ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องวินัยไม่ใช่แค่เรื่องของทรงผม แต่การฝึกวินัยในโรงเรียนสามารถทำได้กับหลาย ๆ กิจกรรม เช่น การเข้าเรียนและส่งการบ้านให้ตรงเวลา ไม่ล้อเลียนเพื่อน ฯลฯ ซึ่งทรงผมไม่ได้เกี่ยวกับการเรียนรู้ แต่เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวตนของคน ๆ นั้น กฎกติกาเรื่องทรงผมก็เป็นการบังคับให้เด็กไม่มีทางเลือก และส่งผลต่อจิตใจของเด็กมากว่า อยากให้มีการตั้งคำถามว่า ทรงผมเด็กเกี่ยวข้องการการสร้างระเบียบวินัยจริงหรือ และเชื่อว่าเสียงสะท้อนของสังคมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคมได้แน่นอน”
ดร.กัลยารัตน์ เมธีวีรวงศ์ ประธานฝ่ายการฝึกอบรม สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมแชร์มุมมองในฐานะหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับครูและโรงเรียน กล่าวว่า “ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎทรงผม ครูอาจจะทำไปด้วยความรักและความปรารถนาดีที่สะสมกันมารุ่นต่อรุ่น ซึ่งเห็นด้วยว่าบางครั้งอาจจะเกิดการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมจริง ๆ อย่างไรก็ตามตอนนี้หลายโรงเรียนได้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องระเบียบทรงผมไปแล้วตามที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้พยายามออกมาตอกย้ำถึงการห้ามลงโทษด้วยการตัดผมและให้เคารพในสิทธิของเด็ก ครูจึงควรปรับ mindset ของตนเองเกี่ยวกับระเบียบทรงผม และเชื่อว่าเด็กทุกคนพัฒนาได้โดยไม่เกี่ยวกับทรงผมเลย นอกจากนี้ตนเองเชื่อว่าหากโรงเรียนมีการเปิดหลักสูตรที่หลากหลาย ให้เด็กได้เลือกตามความถนัด ตามความสนใจ จัดวิชาเลือกเสรี มีอะไรทำที่ท้าทาย สนุก ซึ่งสามารถช่วยเสริมศักยภาพและความมั่นใจให้กับเด็กได้อย่างแท้จริง อยากให้โรงเรียนเพิ่มกระบวนการหรือกิจกรรมที่สร้างความมั่นใจให้กับเด็กมากขึ้น ทางสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ฯ จะขอเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะเป็นสื่อกลางที่จะเอากิจกรรมดีๆ อย่างโครงการ Dove Self-Esteem Project / Free Being Me ที่สมาคมฯ ทำร่วมกับโดฟมาเป็นระยะเวลากว่า 8 ปี ที่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกด้านความมั่นใจ ช่วยสร้างเสริมศักยภาพ และเกิดความภาคภูมิใจในตนเองให้กับเด็ก ลงไปที่เด็กในพื้นที่ต่างๆ และเราเปิดกว้างที่จะจัดกิจกรรมกับทุกเพศ ไม่ใช่เฉพาะเด็กผู้หญิงเท่านั้น และตนเองเชื่อว่ากระบวนการที่จะสร้างความมั่นใจให้กับเด็กทำได้จริง ๆ “
นางสาวซาร่า-รัศมี สท๊วต ผู้ร่วมถ่ายทอดในแคมเปญภาพยนตร์ #LetHerGrow ผู้มีประสบการณ์ร่วมจากการโดนบังคับตัดผม ร่วมแชร์ประสบการณ์ต่อกฎการลงโทษตัดผมนักเรียน กล่าวว่า “ตนเองดีใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในแคมเปญนี้ เป็นหนึ่งเสียงที่สะท้อนเกี่ยวกับกฎระเบียบเรื่องทรงผม จากประสบการณ์ตรงของเด็กนักเรียนคนนึง ซึ่งคิดว่าการลงโทษที่เกินขอบเขต เช่น การตัดผมจนไม่เป็นทรง จนทำให้เด็กอับอายไม่กล้าออกไปเจอผู้คน และสูญเสียความมั่นใจไปเลย จึงอยากเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันหาทางออกที่สร้างสรรค์ร่วมกันให้มีความอะลุ่มอล่วยระหว่างคุณครูและเด็ก เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยและเป็นสถานที่แห่งความสุขนอกจากนี้ สำหรับตนยังมองว่าครอบครัวนั้นสำคัญมากในการทำให้เด็กมีกำลังใจ มีความมั่นใจและเป็นตัวของตัวเองอย่างมีความสุข”
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม คลิกไปที่ https://www.dovelethergrow.com/ พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #LetHerGrow
ที่มา: เอเดลแมน (ประเทศไทย)