ป.โท MBA วิทยาลัยดุสิตธานี มุ่งเน้นการบริหารจัดการธุรกิจอาหาร (Gastronomy Business Management)
ในขณะที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังระส่ำระสายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เรากลับพบว่า มีธุรกิจหนึ่งที่ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ นั่นคือ ธุรกิจอาหาร เนื่องจากอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำหรับการยังชีพที่คนเราขาดไม่ได้ ถึงแม้ธุรกิจอาหารเองก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน แต่หากเจ้าของธุรกิจอาหารสามารถปรับตัวและปรับแปลงกลยุทธ์ของกิจการให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคแบบ New Normal ก็ย่อมสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤตินั้นไปได้ มิฉะนั้นธุรกิจอาหารจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ดังเช่นธุรกิจอาหารบางแห่งที่ต้องล้มลงกลางทาง เพราะไม่สามารถปรับตัวและขาดประสบการณ์หรือความเข้าใจในธุรกิจอาหารอย่างถ่องแท้
แต่การที่จะสามารถเข้าใจธุรกิจอาหารได้อย่างถ่องแท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่สามารถศึกษาจากตำราเพียงอย่างเดียว ทว่าต้องอาศัยประสบการณ์จริง การลองผิดลองถูก และต้องผ่านทั้งความสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งอาจต้องเรียนรู้เป็นเวลานานกว่าจะเข้าใจ ดังเช่นเซเลบริตี้เชฟชื่อดังอย่าง เชฟจากัวร์-ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ เจ้าของร้านอาหาร Sai & Lakeview และ SARN Khonkaen Fine Dining ที่ให้ทัศนะว่า
“จากประสบการณ์ตรงของผมที่เรียนมาตั้งแต่ระดับป.ตรี ป.โท และปัจจุบันที่กำลังเรียนปริญญาเอกในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ทำให้เห็นว่า การเรียนแบบดั้งเดิมที่มุ่งเน้นการบริหารนั้น แม้จะเป็นการเรียนที่ครอบคลุมก็จริง แต่ก็กว้างแบบมหาสมุทร สำหรับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจอาหาร พอเรียนจบมา ก็ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มเติมอยู่ดี ดังนั้นหากใครที่มี passion อยากทำธุรกิจอาหาร จึงควรที่จะเรียนเฉพาะทางด้านการบริหารจัดการธุรกิจอาหารโดยตรง เพื่อที่จะได้รู้ว่า ถ้าเราต้องการปลากะพงหรือปลาอินทรีย์ เราควรไปจับในทะเลไหนหรือใช้เบ็ดอะไรตก”
วิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำที่เปิดสอนด้านการโรงแรมและศิลปะการประกอบอาหาร โดยเป็นส่วนหนึ่งในเครือโรงแรมดุสิตธานี โรงแรมชั้นแนวหน้าระดับสากลของไทย เล็งเห็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่เชฟจากัวร์คิด จึงได้ผุดหลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร (Gastronomy Business Management) ขึ้น สำหรับผู้ที่มีใจอยากประกอบธุรกิจอาหารในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของร้านอาหาร เชฟ นักออกแบบอาหาร อาจารย์สอนการประกอบอาหาร หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ผู้เรียนจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการลองผิดลองถูกนานจนเกินไปกว่าจะก้าวไปสู่ความสำเร็จ ด้วยการเจาะลึกทักษะทางวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของอาจารย์และวิทยากรมืออาชีพจากอุตสาหกรรมจริงจากหลักสูตรนี้
“ในประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาที่สอนระดับปริญญาตรีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมครัวและศิลปะการประกอบอาหารมากมาย” ดร.วิลาสินี ยนต์วิกัย คณบดีหลักสูตรไทย วิทยาลัยดุสิตธานี กล่าวถึงวิสัยทัศน์ที่วิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร “แต่กลับพบว่า เมื่อจบป.ตรีมาแล้ว หากพวกเขาต้องการศึกษาต่อในระดับป.โทเฉพาะทาง กลับมีทางเลือกไม่มากนักทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหากเทียบกับหลักสูตรการตลาดและการจัดการทั่วไป หลักสูตรเฉพาะทางเกี่ยวกับธุรกิจอาหารก็นับว่ายังมีน้อยมาก ดังนั้นวิทยาลัยดุสิตธานีที่ได้รับการยอมรับมานานว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ อีกทั้งมีคอนเนคชั่นที่ชัดเจนในอุตสาหกรรมบริการโดยเฉพาะธุรกิจอาหาร จึงเกิดแรงบันดาลใจในการเปิดกลุ่มวิชานี้ขึ้น ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์ผู้ที่จบมาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้มี passion ในการทำธุรกิจอาหาร แต่ไม่ได้มีแบคกราวนด์ด้านครัวมาโดยตรง คนกลุ่มนี้สามารถไปเรียนเสริมทักษะภาคปฏิบัติได้ก็จริง แต่อาจยังขาดทักษะในเชิงบริหารธุรกิจอาหารให้ประสบความสำเร็จ”
ความโดดเด่นของหลักสูตรนี้ คือ เป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่สอนด้าน Gastronomy Business Management โดยตรง ไม่ใช่สอนแค่ด้าน Food หรือสิ่งที่อยู่บนจานเพียงเท่านั้น ประกอบด้วยศาสตร์วิชาหลากหลายที่น่าสนใจ ครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวกับอาหาร ผสานองค์ความรู้ที่เป็นสากล และเน้นการนำความรู้ไปใช้ได้จริงในเทรนด์ธุรกิจอาหารร่วมสมัย อาทิ การจัดการ Human Capital นวัตกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ การวิจัยเชิงนวัตกรรมทางธุรกิจ การท่องเที่ยวเชิงอาหารแบบยั่งยืน การออกแบบความคิดสำหรับธุรกิจอาหารอย่างสร้างสรรค์ เป็นต้น ซึ่งศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้จะช่วยผลักดันให้การบริหารจัดการธุรกิจอาหารทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบครบวงจร อันจะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในที่สุดไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับนานาชาติ
ทางด้านเชฟจากัวร์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรการจัดการโรงแรมและภัตตาคาร วิทยาลัยดุสิตธานี เมื่อหลายปีก่อน พอทราบว่า วิทยาลัยเปิดสอนกลุ่มวิชามุ่งเน้นใหม่นี้ ก็ได้กล่าวเสริมว่า เป็นความโชคดีของคนในยุคนี้ที่มีหลักสูตรตอบโจทย์ผู้มีใจรักด้านการทำธุรกิจอาหารโดยเฉพาะ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้นานเหมือนเช่นเขา
“หลักสูตรที่เจาะจงการทำธุรกิจอาหารนี้น่าจะช่วยทำให้เจาะกลุ่มลูกค้าได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของคนเราส่วนใหญ่คือการกิน อีกทั้งอาหารยังเป็นปัจจัยสี่ของชีวิต ซึ่งในขณะที่บ้าน ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม เมื่อถึงจุดหนึ่งจะมีวันพอ ต่างจากการกินที่คนเราต้องกินทุกวันเพื่อดำรงชีวิต ธุรกิจอาหารจึงเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันตาย ดังนั้นหลักสูตรนี้จึงน่าสนใจมาก เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้จากความเชี่ยวชาญของวิทยาลัยดุสิตธานีที่เติบโตมาจากโรงแรมดุสิตธานีแล้ว ยังจะได้เรียนจากมืออาชีพผู้มีประสบการณ์ตรง ผู้เรียนจึงสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาเหมือนผมที่เริ่มต้นธุรกิจของตัวเองจากซาลาเปารถเข็นจนมาถึงร้านไฟน์ไดนิ่งในปัจจุบัน ซึ่งใช้เวลาเรียนรู้เป็นเวลากว่าสามสิบปีกว่าจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง”
“การที่เราจะประสบความสำเร็จเร็วต้องมาจากการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิต” เชฟจากัวร์กล่าวทิ้งท้าย “เหมือนกับสถาบันการศึกษาดังเช่นวิทยาลัยดุสิตธานีที่เติบโตมาจากโรงแรมดุสิตธานี จึงมีองค์ความรู้ที่เป็นสากล มีเครือข่ายกว้างขวาง และถ่ายทอดความเป็นมืออาชีพจากธุรกิจโรงแรมมาไว้ในหลักสูตร ผู้เรียนจึงสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตนได้ทันที”
สำหรับผู้ที่มี passion จะประกอบธุรกิจอาหาร หลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร (Gastronomy Business Management) ของวิทยาลัยดุสิตธานีนี้ ไม่เพียงจะทำให้ผู้เรียนไปถึงความสำเร็จได้ “เร็วกว่า” ด้วยการเรียนรู้ด้านนี้โดยตรง แต่ยัง “เหนือกว่า” ด้วยประสบการณ์ของคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากธุรกิจจริงและความเป็นมืออาชีพที่ถ่ายทอด DNA มาจากโรงแรมดุสิตธานีนั่นเอง
(หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิทยาลัยดุสิตธานี เป็นหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2565 ประกอบไปด้วย 3 กลุ่มวิชามุ่งเน้นที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ ได้แก่ กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจการบริการ (Hospitality Business Management) กลุ่มวิชาผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม (Innovative Entrepreneur) และกลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร (Gastronomy Business Management) เรียนเฉพาะวันเสาร์ มีโอกาสสำเร็จการศึกษาภายใน 1.5 ปี รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก https://bit.ly/3FRBKJT)
ที่มา: Dusit Thani College