ม.มหิดล เปิดคลังสมองพยาธิชีววิทยา ไขความลับพิชิตโรคร้าย
สิ่งที่จะขาดไม่ได้ในการเรียนแพทย์ คือ การเรียนรู้เพื่อค้นหาสาเหตุและกลไกการเกิดโรค ที่จะนำไปสู่การรักษาที่แม่นยำ
รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ หัวหน้าภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “พยาธิวิทยา” (Pathology) เป็นศาสตร์วิชาเพื่อศึกษาสาเหตุ กลไกการเกิดโรค และการเปลี่ยนทางพยาธิสภาพของโรค ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานของนักศึกษาแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ส่วน “พยาธิชีววิทยา” (Pathobiology หรือ Experimental Pathology) จะเน้นการศึกษาวิจัยเพื่อทดสอบสมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ทางพยาธิวิทยา โดยมีการศึกษาค้นคว้า ทั้งในระดับโมเลกุล เซลล์ เนื้อเยื่อ สัตว์ทดลอง และในมนุษย์ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการประยุกต์ใช้ในทางคลินิกต่อไป
กว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการเรียนการสอน วิจัย และบริการทางวิชาการทางพยาธิชีววิทยา นับตั้งแต่สมัยอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าภาควิชาพยาธิชีววิทยาท่านแรก ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ ได้บุกเบิกนำทีมคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาสร้างสมองค์ความรู้ทางด้านดังกล่าว จนสามารถขยายผลจากการเป็นเพียงวิชาพื้นฐานสำหรับนักศึกษาแพทย์ สู่ศาสตร์แห่งการไขความลับโรคเรื้อรังต่างๆ ตลอดจนโรคอุบัติใหม่อย่างเช่นCOVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาด พัฒนาสู่การเป็น “คลังข้อมูลและศูนย์เรียนรู้ทางพยาธิชีววิทยา ภาควิชาพยาธิชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” ซึ่งเปรียบเหมือน”คลังสมอง” หรือเครื่องมือสำคัญในการพิชิตโรคร้าย ที่สามารถต่อยอดสู่การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ต่างๆ ได้ ในฐานะแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ทางด้านพยาธิชีววิทยาที่ครบวงจรเช่นปัจจุบัน
กว่า 10,000 ชิ้นงานทางพยาธิชีววิทยา ซึ่งอัดแน่นไปด้วยองค์ความรู้ สื่อ และนวัตกรรมที่รอการศึกษา และต่อยอดการค้นพบอยู่ในคลังสมองแห่งนี้ ได้รับการจัดหมวดหมู่ให้ง่ายต่อการค้นหา และด้วยความทันสมัย ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆทั้งในรูปแบบ Onsite ที่เปิดให้เข้าชม และศึกษา อบรม ดูงานณ คลังข้อมูลและศูนย์เรียนรู้ทางพยาธิชีววิทยา ภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ และในรูปแบบ Online ที่เปิดให้ผู้ใฝ่รู้ในวงกว้างได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าได้อย่างไร้ขีดจำกัด
มีให้ศึกษากันอย่างจุใจ ตั้งแต่ระดับโมเลกุล เซลล์ เนื้อเยื่อสัตว์ทดลอง ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางห้องปฏิบัติการพยาธิชีววิทยา อาทิ การสแกน และย้อมชิ้นเนื้อในแบบต่างๆทั้งหมดนี้แสดงตัวอย่างในรูปแบบของ electronic files ซึ่งสะดวกอย่างยิ่งต่อการจัดเก็บ และง่ายต่อการค้นหา
นอกจากนี้ ยังได้จัดฝึกอบรม และดูงานทางพยาธิชีววิทยา ซึ่งในแต่ละปีมีนักศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ และเอกชน แวะเวียนกันเข้ามาศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่ามวลมนุษยชาติจะต้องต่อสู้กับโรคร้าย ทั้งที่เป็นโรคเรื้อรังที่คุ้นเคย หรือโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยค้นพบในอนาคต ด้วยคลังสมองทางพยาธิชีววิทยาที่เป็นศูนย์รวมแห่งองค์ความรู้ในศาสตร์ดังกล่าวที่ครบครันแห่งนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นคลังแห่งปัญญาที่จะช่วยฝ่าฟันทุกอุปสรรคปัญหาสู่การเกิดโรค ให้สามารถยับยั้งความรุนแรงของโรค และเป็นที่พึ่งทางปัญญาของมวลมนุษยชาติ ที่นับวันจะยิ่งทวีค่าตราบนานเท่านาน
ติดตามรายละเอียด และเข้าชม คลังข้อมูลและศูนย์เรียนรู้ทางพยาธิชีววิทยา ภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่https://pathoinfo.sc.mahidol.ac.th
และติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล