ซีพี ออลล์ ยกทัพพันธมิตรขยายเครือข่าย “ต้นกล้าไร้ถัง” 245 โรงเรียนในภาคอีสาน มอบองค์ความรู้บูรณาการ การจัดการขยะเต็มรูปแบบ

ซีพี ออลล์ ยกทัพพันธมิตรขยายเครือข่าย “ต้นกล้าไร้ถัง” 245 โรงเรียนในภาคอีสาน มอบองค์ความรู้บูรณาการ การจัดการขยะเต็มรูปแบบ

ซีพี ออลล์ยกทัพพันธมิตรขยายเครือข่ายร.ร.’ต้นกล้าไร้ถัง’ 245 โรงเรียนในภาคอีสาน หนึ่งในโครงการที่ซีพี ออลล์-เซเว่น อีเลฟเว่น ให้การสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนผ่านโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED และร่วมยกระดับการศึกษาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า (Education for better life) มาอย่างต่อเนื่อง

จากความสำเร็จของการบูรณาการหลักสูตรการศึกษาให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมลดปริมาณขยะภายในโรงเรียน ผ่านโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” ของโรงเรียนอนุบาลทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ หนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับการยกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ (School Model) ภายใต้โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED โดยการสนับสนุนของซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่  นำทัพพันธมิตรวิทยากรด้านการจัดการขยะ ร่วมมอบองค์ความรู้สู่การขยายเครือข่ายในพื้นที่ภาคอีสานผ่านการจัดงานสัมมนาแบบคู่ขนาน (Hybrid) “การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดต้นกล้าไร้ถัง ประจำปี 2565” ให้กับ 245 โรงเรียน สังกัดสพป.กาฬสินธุ์ เขต 1 เขต 2  เขต 3 (โรงเรียนระดับประถม/ขยายโอกาส) สังกัดสมพ.กาฬสินธุ์ (โรงเรียนระดับมัธยม) และ สังกัดสพป.ขอนแก่น เขต 4  

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขยะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตของทุกคน แต่ปัญหาขยะกลับเป็นสิ่งที่กำลังถูกมองข้าม เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักวิธีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง ซีพี ออลล์ เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ขยายผลแนวคิด “ต้นกล้าไร้ถัง” ของโรงเรียนอนุบาลทับสะแก มาเป็นต้นแบบในการบ่มเพาะเยาวชนตามโรงเรียนต่างๆ โดยถ่ายทอดแนวคิดให้นักเรียนมองว่าขยะเป็นวัสดุเหลือใช้ที่ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ทั้งยังร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายภาคเอกชนในการให้ความรู้ด้านการรีไซเคิลวัสดุกับโรงเรียนในภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมการลดปริมาณขยะเหลือทิ้งในโรงเรียนและชุมชน

“เราเชื่อว่าการให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเขาจะได้รู้กระบวนการ การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษในประเทศไทย แม้โครงการต้นกล้าไร้ถังอาจจะไม่สามารถลดมลพิษได้ทั้งหมด แต่เราเชื่อว่าการทำกิจกรรมร่วมกันผ่านภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถังจะเป็นพลังที่แข็งแกร่ง ที่จะช่วยให้สิ่งแวดล้อมของเราดีขึ้นได้” นายสุวิทย์ กล่าว

โดยภายในงานโรงเรียนสังกัดสพป.กาฬสินธุ์ เขต 1 เขต 2  และเขต 3 (โรงเรียนระดับประถม/ขยายโอกาส) สังกัดสมพ.กาฬสินธุ์ (โรงเรียนระดับมัธยม) และ สังกัดสพป.ขอนแก่น เขต 4 รวมทั้งสิ้น 245 โรงเรียน ได้ร่วมกันลงนาม MOU เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถังให้ขยายออกไปเป็นวงกว้าง

ด้านนายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป สำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรียนที่ลงนามเข้าร่วมเครือข่ายต้นกล้าไร้ถังจะร่วมกันปฏิบัติตามพันธสัญญาภาคี 5 ข้อ ได้แก่ 1.สนับสนุนและแลกเปลี่ยน ความรู้ด้านการจัดการและคัดแยกขยะโดยเริ่มจากภายในโรงเรียน ไปถึงกลุ่มโรงเรียนเครือข่าย เพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดแนวคิดและการปฏิบัติที่ดียิ่งขึ้น 2.เผยแพร่และขยายเครือข่าย นำแนวคิดต้นกล้าไร้ถังขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ 3.สร้างองค์ความรู้ พัฒนาหลักสูตรต้นกล้าไร้ถัง ซึ่งเป็นหลักสูตรบูรณาการร่วมกับ 8 กลุ่มสาระให้นักเรียนได้เรียนรู้ โดยใช้หลักการประเมินผลตามเกณฑ์กระทรวงศึกษาธิการ 4.พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ การจัดการขยะเพื่อนักเรียน ครู และชุมชน  5.บันทึกรายงานผลข้อมูลการรับฝากและจำหน่ายวัสดุรีไซเคิลผ่านทางแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) ซึ่งในบทบาทของ “ธนาคารขยะ” โรงเรียนจะเป็นตัวกลางระหว่าง “ผู้ฝากวัสดุ” จากสมาชิกซึ่งจะมีทั้ง ครู บุคลากร นักเรียน ชาวบ้านในชุมชน ก่อนที่จะนำส่งเพื่อจำหน่าย หรือแลกเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากผู้รับซื้อ ทั้งรถซาเล้ง โรงงานรีไซเคิล และ ซีพี ออลล์ โดยมีบริการจัดส่งพัสดุผ่านทาง Speed-D ภายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทุกสาขาเป็นเครื่องมือในการส่งต่อวัสดุต่างๆ ที่คัดแยกไว้แล้วไปยังปลายทางโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นางสาววันเพ็ญ โล่ห์เลิศพิภพ ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม หนึ่งในพันธมิตรภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง เล่าว่า กล่องนม UHT ที่มีการรับประทานในโรงเรียน สามารถเอาไปรีไซเคิลได้หลายรูปแบบเพื่อลดปริมาณขยะ เช่น การนำไปประดิษฐ์เป็นโต๊ะ-เก้าอี้นักเรียน แต่บรรจุภัณฑ์ UHT อาจมีวิธีการจัดการที่ยากกว่าวัสดุเหลือใช้ประเภทอื่น เนื่องจากประกอบด้วยกระดาษ พลาสติกโพลิเมอร์ และอะลูมิเนียมฟอยล์ ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการรีไซเคิลอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การใช้กระบวนการอัดแน่นด้วยความร้อนสูง 180 องศาเซลเซียส เพื่อผลิตแผ่นชิพบอร์ดที่มีความแข็งแรงเทียบเท่าแผ่นไม้อัด ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นชุดโต๊ะและเก้าอี้นักเรียนได้ และ 2.การแยกโพลิเมอร์และอะลูเนียมฟอยล์ด้วยการปั่นวนในน้ำ แล้วนำวัสดุที่ได้ไปผลิตเป็นหลังคาที่มีคุณสมบัติกันน้ำกันไฟ และสะท้อนแสงยูวี เพิ่มความเย็นภายในตัวอาคาร

ขณะที่นายวัชรพงศ์ อึงศรีสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยบริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด หนึ่งในพันธมิตรภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง เล่าเพิ่มเติมว่า กล่องบรรจุภัณฑ์ UHT ยังสามารถนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล ผลิตเป็นอิฐบล็อกช่องลมที่มีลักษณะโปร่ง ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดี ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทเคยนำอิฐบล็อกช่องลมรีไซเคิลมาก่อสร้างอาคารเพื่อพัฒนาเป็นโรงอาหาร (Eco-Canteen) ให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนมาแล้ว

ดร.วิภา สายรัตน์ รอง ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 3 กล่าวเสริมว่า โครงการต้นกล้าไร้ถังนับเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษาอย่างยิ่ง เนื่องจากนักเรียนสามารถเรียนรู้และนำมาปฏิบัติเองได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักการลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ จึงขอขอบคุณซีพี ออลล์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดทำโครงการนี้ และนำแนวปฏิบัติมาถ่ายทอดสู่โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

ทั้งนี้ในปัจจุบันการดำเนินโครงการต้นกล้าไร้ถัง สู่โรงเรียนไร้ถัง แนวคิดจากโรงเรียนต้นแบบอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้นโยบาย 7 GO GREEN ของซีพี ออลล์ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 และมีโรงเรียนเครือข่ายสะสมรวมกว่า 378 โรงเรียน โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับพฤติกรรมจากการ “ทิ้งขยะลงถัง” เป็นการ “คัดแยกวัสดุออกจากขยะเพื่อส่งไปยังปลายทางที่เหมาะสมก่อนทิ้งลงถัง” พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้จากโรงเรียนสู่ชุมชนทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนส่งผลต่อสังคมโดยรวม อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาการจัดการขยะได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) และเป็น 1 ใน 44 องค์กรเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญและตอบรับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยขับเคลื่อนโครงการตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน”  วางเป้าร่วมยกระดับการศึกษาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า (Education for better life) ดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED 5 เฟส จำนวนกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถดำเนินโครงการด้านต่างๆ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โครงการพัฒนาคุณภาพคน โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากในองค์กรร่วมลงพื้นที่และคอยให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการของโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิด  

ที่มา: Agate Communications

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ