วิศวะมหิดล จัดงานประชุมนานาชาติ…ปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร-หุ่นยนต์ (IWAM 2022)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ เรื่อง การปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือ International Workshop on Affective Interaction Between Humans and Machines in Multicultural Society (IWAM 2022) โดยมี รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคุณฮิโรยูกิ ไอดะ (Mr. Hiroyuki Iida) รองอธิการบดี สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งญี่ปุ่น(JAIST) คุณบุย ตรัน เกวียน งอค (Bui Tran Quynh Ngoc) รองอธิการบดี และ คุณฟาม เหงียน ตันวินห์ (Pham Nguyen Thanh Vinh) หัวหน้ากองการต่างประเทศจาก มหาวิทยาลัยการศึกษาโฮจิมินห์ซิตี้ (HCMUE) ประเทศเวียดนาม โดยมีนักวิจัยและนักวิชาการเข้าร่วมประชุมและผนึกความร่วมมือ
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกปัจจุบันและอนาคตมีแนวโน้มของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์ กับเครื่องจักร หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอ.ไอ.มากยิ่งขึ้นทุกขณะ ซึ่งมีผลดีเพื่อเชื่อมต่อ เพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นวงการสุขภาพ การแพทย์ทางไกล หรือธุรกิจอุตสาหกรรม ดังนั้นการปฏิสัมพันธ์ที่ ‘ถูกต้องตรงกัน’ ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรผ่าน input ในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพ ข้อความ คำสั่ง เสียง ย่อมมีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการตอบโต้ของเครื่องจักร วัตถุประสงค์ของการจัดการประชุม IWAM 2022 จึงมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ศึกษาการกำหนดแนวทางในอนาคตด้านการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพงานวิจัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประชาคมร่วมกัน
การประชุม IWAM 2022 เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อริเริ่มและกำหนดแนวทางการดำเนินงาน (Kick-off) ระดับนานาชาติให้มีมาตรฐานไปในทิศทางเดียวกัน โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง (Japan Advanced Institute of Science and Technology : JAIST) แห่งประเทศญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยการศึกษาโฮจิมินห์ซิตี้ (Ho Chi Minh City University of Education : HCMUE) ประเทศเวียดนาม และ มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนพัฒนาองค์ความรู้ในงานวิจัยทางด้านการปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผ่านสหวิทยาการ อย่างเช่น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) จิตวิทยา (Psychology) และการรักษาความปลอดภัยทางสารสนเทศ (Information Security) เป็นต้น
ทั้งนี้ทางประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจอย่างมากที่ประเทศไทยโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จในการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเอไอ มาช่วยยกระดับสุขภาพจิตของประชาชนในวิถีใหม่ยุคดิจิทัล เช่น นวัตกรรมใส่ใจ Chatbot ซึ่งเป็นบริการแชทบ็อทปัญญาประดิษฐ์ประเมินผลภาวะซึมเศร้าทางออนไลน์แก่ประชาชน โดยได้พัฒนา เอไอ ซึ่งสามารถประมวลผลด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็วจากข้อมูลที่โต้ตอบกับผู้ใช้บริการ และแช็ทบอทยังสามารถสนทนาช่วยให้ผู้รับการประเมินมีกำลังใจที่ดี อันจะนำไปสู่การปรับพฤติกรรมและการฟื้นฟูรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญในขั้นต่อไป
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น