ม.มหิดล จุดประกายความหวังนักวิจัยทุกสาขา บูรณาการด้วยเทคโนโลยี AI
กว่า 1 เดือนแล้วที่ได้มีการเปิดตัว “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล” (Mahidol AI Center) ณ ลาน Innovative Space ชั้น 1 อาคารคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เนื่องในโอกาสครบรอบ”53 ปีวันพระราชทานนามมหิดล 134 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล” 2 มีนาคม 2565 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จุดประกายแห่งความหวังของนักวิจัย ไม่ใช่เพียงนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล แต่เปิดกว้างสำหรับนักวิจัยจากนอกรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยจากทั่วโลก ให้มีโอกาสได้มาร่วมสร้างสรรค์งานวิจัยขั้นสูงที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ
อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงภารกิจหลักของ “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล” (Mahidol AI Center) ซึ่งจัดตั้งขึ้น ตามนโยบายโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกลุ่มสาขา AI Based Diagnosis ว่า เพื่อรองรับการสร้างสรรค์งานวิจัยขั้นสูงที่ต้องอาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์โดยมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ขั้นสูงที่สนับสนุนงานที่มีความต้องการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ สถาบันฯ มีสถานที่ที่รองรับการจัดฝึกอบรมในระดับต่างๆ ตลอดจนได้จัดให้มี Co-working Space ให้นักวิจัยจากหลากหลายสาขา (Multi-disciplinary Researchers) ได้มาระดมสมองสร้างสรรค์และพัฒนางานวิจัยร่วมกันด้วยอุปกรณ์เครื่องมือระบบ AI ที่ครบครัน ทันสมัย และมีศักยภาพสูง
สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล มีหลักสูตรที่จัดฝึกอบรมเพื่อให้นักวิจัยสามารถใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีตั้งแต่ระดับพื้นฐาน (Introduction) ไปจนถึงระดับมืออาชีพ(Professional) และสำหรับนักวิจัย (Researchers) ที่ครอบคลุมทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์ โดยมีแผนระยะยาวในการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้สามารถออกไปเป็นพี่เลี้ยงที่คอยแนะนำการใช้ซอฟต์แวร์ AI ขั้นสูงให้กับสถาบันอื่นๆ ต่อไปรวมทั้งร่วมสร้างเครือข่ายเพื่อการแชร์ข้อมูล ร่วมพัฒนาความรู้ และพัฒนาซอฟต์แวร์ AI ขั้นสูง เพื่อร่วมสร้าง AI Digital Playground ขึ้นเป็นศูนย์กลางข้อมูล เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศชาติ
ซึ่งการพัฒนา AI ในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่มหาศาล และหลากหลาย สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล มีการวางระบบ Federated Learning System เพื่อสนับสนุนให้นักวิจัย หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ สามารถเข้าร่วมกันพัฒนาโมเดลการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์เชิงลึก โดยที่ไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่สามารถให้ซึ่งกันและกันได้สถาบันฯ ยังมีความร่วมมือกับ วิทยาลัยราชสุดา และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในการสร้างสรรค์และพัฒนาระบบนำทางให้คนตาบอดได้เดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้อย่างปลอดภัยภายในวิทยาเขตศาลายา โดยใช้อุปกรณ์ edge AI ร่วมกับระบบ cloud computing เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนตาบอด ซึ่งเป็นงานวิจัยระดับโลกที่มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถมีส่วนช่วยเหลือสังคม และมวลมนุษยชาติ
อาจารย์ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล” (Mahidol AI Center) ไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชาติแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งแก้ไขปัญหาของผู้คนในสังคมด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้พิการที่มีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายนี้ด้วย
จากความสำเร็จในเฟสแรกที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยวิทยาลัยราชสุดา ได้วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มต้นเก็บข้อมูลทำแผนที่ดิจิทัลเพื่อช่วยในการเดินทางสำหรับคนตาบอด ก้าวต่อไปเฟสที่สองจะได้ร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้ซอฟต์แวร์จากข้อมูลทำแผนที่ดิจิทัลที่ได้จากเฟสแรก มาใช้กับอุปกรณ์ช่วยในการเดินทางสำหรับคนตาบอด ที่ได้รับการสร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นโดยใช้ระบบAI ในการจดจำ เรียนรู้ และพัฒนาข้อมูลด้วยตัวเองต่อไป
อาจารย์ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ ได้ให้มุมมองถึงการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยในการเดินทางสำหรับคนตาบอดด้วยระบบ AI ว่า เนื่องจากสภาวะแวดล้อมของไทย ต่างบริบทกับต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบปรับปรุงจนกว่าจะสามารถใช้งานได้จริง โดยคาดว่าจะสามารถใช้ทดลองกับคนตาบอดไทยได้ภายในอีกประมาณ 5 – 6 เดือนข้างหน้าซึ่งหากสามารถปรับปรุงอุปกรณ์ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของคนตาบอดไทยได้มากเพียงใด จะยิ่งทำให้คนตาบอดไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้อย่างสะดวก และปลอดภัยได้มากขึ้นเท่านั้น
สิ่งที่มวลมนุษยชาติต้องการ นอกเหนือจากสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นและปลอดภัยแล้ว AI ยังสามารถใช้ในการดูแลสุขภาวะของมวลมนุษยชาติ เพื่อการมีชีวิตที่ยืนยาวปราศจากโรคภัยได้ต่อไปอีกด้วย ซึ่งปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางพันธุศาสตร์ของมวลมนุษยชาติในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลายในโลกด้วย จำเป็นจะต้องมีการศึกษาอย่างลึกซึ้งเพื่อการวางแผนทางสุขภาวะต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพัฒน์ สุริยผล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนโยบายและแผน หัวหน้าหน่วยชีวสารสนเทศและจัดการข้อมูลวิจัย และหัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศชีวสารสนเทศและจัดการข้อมูลคลินิก สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้กล่าวเสริมให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของ “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล” (Mahidol AI Center) ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้ AI นอกจากงานวิจัยหลักด้านจีโนมิกส์ โปรตีโอมิกส์ และรังสีวิทยาแล้ว ยังมีความโดดเด่นด้านการนำระบบAI มาช่วยพยาธิแพทย์ในการวินิจฉัยผู้ป่วย
จากเดิมที่ต้องใช้กล้องส่องหาเซลล์เนื้อร้ายในชิ้นเนื้อส่งตรวจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้ใช้วิธีสแกนสไลด์ภาพชิ้นเนื้อส่งตรวจ และได้สร้างplatform ขึ้นสำหรับ “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล” (Mahidol AI Center) เพื่อช่วยพยาธิแพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้รวดเร็วขึ้น ระบบดังกล่าวสามารถขยายเพิ่มเติมเพื่อให้การตรวจครอบคลุมโรคอื่นเพิ่มเติมได้การที่มี infrastructure ส่วนกลาง ที่ดูแลโดย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยลดการลงทุนทางด้าน infrastructure ของส่วนงานต่างๆ ได้มาก และจะเป็นการบูรณาการที่เป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ต่อไปอีกด้วย
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูมิ สุขธิติพัฒน์ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชีวสารสนเทศทางการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) (Master of Science Program in Medical Bioinformatics (International Program) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คร่ำหวอดในการทำวิจัยด้านการศึกษาโครงสร้างทางพันธุศาสตร์เพื่อทำนายการเกิดโรคมะเร็งในคนไทย ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อที่พบเป็นลำดับต้นๆ ในคนไทย กล่าวในฐานะหนึ่งในผู้ใช้ (User) ของ “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล” (Mahidol AI Center) ว่า เดิมการศึกษาโครงสร้างทางพันธุศาสตร์เพื่อทำนายการเกิดโรคมะเร็งใช้หน่วยประมวลผลแบบ CPU โดยทั่วไป มีข้อจำกัด คือใช้เวลานานในการประมวลผลข้อมูลในปริมาณมหาศาล (Big Data)
ซึ่งการนำระบบ AI ขั้นสูงมาใช้ ช่วยให้การศึกษาลักษณะทางพันธุกรรม เช่น ทำนายการตอบสนองต่อการรักษาสำหรับผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โดยมองว่าการลงทุนด้วย AI เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อโลก และการก้าวทันโรค
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล