คณะพาณิชย์ฯ มธ. จับมือ 9 สถาบัน เสริมศักยภาพ ยกระดับการศึกษาไทยด้านบริหารธุรกิจ
ครั้งแรกในประเทศไทย คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงกับสถาบันการศึกษาไทยรวม 9 สถาบัน ประสานความร่วมกันสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจแห่งประเทศไทย (Business School Network of Thailand: BSNT) ร่วมกันทำงานด้านวิชาการ การจัดกิจกรรมทางวิชาการในด้านการศึกษา แลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในประเทศไทย หวังยกระดับและปั้นบุคลากรทางการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ ขยายผลสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนในการจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างเครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจแห่งประเทศไทย (BSNT) รวม 9 สถาบัน ได้แก่
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา
- คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จากการบันทึกลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของไทยในการที่ผู้แทนจากสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 9 สถาบัน ได้ประสานความร่วมกันสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจแห่งประเทศไทย (Business School Network of Thailand: BSNT) ซึ่งได้มีการประชุมหารือกันมากว่า 1 ปี เพื่อสร้างเครือข่ายที่น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกสถาบัน รวมทั้งภาครัฐและเอกชน และสังคมภายนอก อีกทั้งจะเป็นการรวมตัวกันเพื่อสร้างมาตรฐานทางการศึกษาระดับชาติ เพื่อใช้รับรองมาตรฐานการศึกษาของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ขอไว้กล่าวในโอกาสต่อไป เนื่องจากมีรายละเอียดที่ต้องหารือกันค่อนข้างมาก
หลังจากการลงนามบันทึกข้อตกลงแล้วเสร็จ จะมีการทำงานร่วมกันทางด้านวิชาการ การจัดกิจกรรมในด้านการศึกษา แบ่งปันประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ให้แก่กัน เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งแต่ละสถาบันมีความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์งานร่วมกัน และรวมพลังเพื่อพัฒนาคุณภาพอันนำไปสู่ความสำเร็จด้วยกัน เป็นการร่วมมือทางด้านวิชาการ เช่น
– กิจกรรมทางวิชาการ เช่น กิจกรรมการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนอาจารย์ บุคคลากร และนักศึกษา ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานของแต่ละสถาบัน
– การสร้างเครือข่ายในการทำงานวิจัยร่วมกัน เช่น อาจารย์ของแต่ละสถาบันสนใจทำวิจัยในหัวข้อเดียวกันเพื่อให้ได้ความรู้หรือทฤษฎีใหม่ๆ มาปรับใช้ในการเรียนการสอน หรือนำไปใช้ประโยชน์กับองค์กรภายนอก
– การจัดสัมมนาทางวิชาการร่วมกัน เพื่อใช้ทรัพยากรที่แต่ละสถาบันมีมาแบ่งปันกัน เช่น ใช้อาจารย์ วิทยากร ตามความถนัดของแต่ละสถาบัน
– การบริการสังคม เช่น ร่วมกันจัดอบรมหรือสัมมนาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับบุคคลทั่วไป โดยที่สถาบันที่มีข้อมูลหรือได้รับทราบข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์กับสถาบันอื่นก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาแบ่งปันกัน รวมทั้งการเป็นพี่เลี้ยงในด้านวิชาการให้แก่กัน นอกจากนี้แต่ละสถาบันจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม อาจมีการไปเยี่ยมชมแต่ละสถาบันที่อยู่ในภูมิภาค หรือสถาบันในภูมิภาคอาจเดินทางมาเยี่ยมชมหรือจัดกิจกรรมร่วมกันในกรุงเทพฯ ฯลฯ
ศ.ดร.รุธิร์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับวงการศึกษาไทยด้านบริหารธุรกิจให้มีศักยภาพมากขึ้น วางรากฐานอย่างเข้มแข็งในการสร้างบุคลากรทางการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ นอกจากนี้จุดเปลี่ยนที่สำคัญของระบบการศึกษาไทยน่าจะเป็นเรื่องการสร้างเครือข่าย (networking) ด้านการศึกษามากกว่ารูปแบบการแข่งขันกันเหมือนในยุคที่ผ่านๆ มา การให้ความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับทุกสถาบัน คณาจารย์ได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด มุมมองหรือองค์ความรู้ใหม่ๆ มาสอนนักศึกษา ในส่วนของนักศึกษาซึ่งถือเป็นผลผลิตที่สำคัญของแต่ละสถาบันจะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างขวางมากขึ้น จากการได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้กับอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ สามารถนำความรู้มาปรับใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี
“สำหรับแนวทางในอนาคต อาจจะมีการลงนามร่วมมือกับอีกหลายสถาบันการศึกษา เพราะมองว่าหากมีพันธมิตรร่วมย่อมเป็นผลดีต่อระบบการศึกษาไทย เพราะเชื่อมั่นว่าทุกสถาบันการศึกษาในประเทศล้วนมีศักยภาพและบทบาทที่ดี หากนำความเชี่ยวชาญและจุดแข็งที่แต่ละสถาบันมี มาเป็นจุดร่วมเดินไปพร้อมกันย่อมจะส่งผลที่ดีต่อระบบการศึกษาไทยอย่างแน่นอน” ศ.ดร.รุธิร์ กล่าวปิดท้าย.
ที่มา: คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์