เภสัช จุฬาฯ พัฒนาน้ำกระสายยาฟาวิพิราเวียร์ รสหวานเหมาะสำหรับเด็ก ลดภาระการเตรียมยา
อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาน้ำกระสายยาสำหรับการเตรียมยาน้ำแขวนตะกอนฟาวิพิราเวียรสำหรับผู้ป่วยเด็กเฉพาะราย ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในขั้นตอนการเตรียมยาน้ำจากยาเม็ด อีกทั้งช่วยผู้ปกครองดูแลให้ยาลูกหลานที่ป่วยในช่วง Home Isolation ได้อย่างเหมาะสม
ไม่เพียงผู้ใหญ่ แต่เด็กจำนวนไม่น้อยก็ป่วยเป็นโรคโควิด-19 และต้องได้รับการรักษาด้วยการกินยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้รักษาโรคระบาดในปัจจุบัน แต่การกินยาในรูปแบบเม็ดแบบที่ผู้ใหญ่บริโภคอยู่นั้นไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่ยังกลืนยาไม่ได้ อาจารย์ เภสัชกร ดร.วันชัย จงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าใจปัญหานี้และได้พัฒนาสูตรน้ำกระสายยาสำหรับผสมกับยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ที่ไม่เพียงเปลี่ยนยาที่มีรสขมให้เด็กทานได้ง่ายขึ้น แต่ยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องเตรียมยาน้ำจากยาเม็ดให้กับผู้ป่วยเด็กเป็นรายครั้งอีกด้วย
จุดเริ่มสูตรน้ำกระสายยาฟาวิพิราเวียร์ จุฬาฯ
เมื่อเด็กป่วยด้วยโรคคิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ต้องเตรียมยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กเป็นรายบุคคล โดยขั้นตอนเริ่มจากการคำนวนขนาดยาที่ต้องได้รับ จากนั้น นำยาเม็ดจำนวนที่มีปริมาณตัวยาเทียบเท่ากับปริมาณที่ต้องการ นำไปบดให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำหรือน้ำหวานก่อนจะนำไปป้อนให้ผู้ป่วยเด็ก
“กระบวนการเหล่านี้ต้องคำนึงถึงความแตกต่างกันตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเด็ก ซึ่งหมายความว่าสำหรับเด็กแต่ละคน บุคลากรทางการแพทย์ต้องเตรียมจำนวนเม็ดยา บด และผสมน้ำให้เป็นรายๆ ไป ขั้นตอนค่อนข้างละเอียดและใช้เวลา เมื่อผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้ก็ต้องใช้เวลามากขึ้นตามไป และเป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่บุคลากรมีไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยเด็กได้รับยาไม่ครบตามปริมาณที่เหมาะสมตามแผนการรักษาและอาจเกิดการดื้อยาได้เมื่อได้รับยาไม่ตรงกับขนาดที่ควรจะเป็น” อาจารย์ ภก. ดร.วันชัย กล่าวถึงปัญหาการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กโรคโควิด-19
นอกจากปัญหาในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ปัจจุบันและอนาคต ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่หนักจะเข้ากระบวนการรักษาตัวแบบ Home isolation มากขึ้น ซึ่งหมายความว่า ครอบครัวที่มีเด็กติดโรคโควิด-19 ต้องดูแลและป้อนยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับเด็กเอง
“ปัญหาที่เราห่วงใยคือผู้ปกครองจะบด ตวง และผสมยาได้อย่างที่บุคลากรทางการแพทย์ทำให้ได้หรือไม่ อาจทำให้เด็กได้รับยาไม่ครบถ้วนเหมาะสมและได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง”
ข้อห่วงใยดังกล่าวทำให้อาจารย์ ภก.ดร.วันชัย และคณะผู้วิจัย ประกอบด้วย ผศ. ภญ. ดร.นฤพร สุตัณฑวิบูลย์ ผศ. ภญ. ดร.ดุษฎี ชาญวาณิช รศ. ภญ. ดร.อังคณา ตันติธุวานนท์ และ อ. ภก. ดร.ภาสวีร์ จันทร์สุก จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เร่งคิดค้นและพัฒนาน้ำกระสายยาเพื่อใช้กับยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ที่สามารถเตรียมให้เป็นรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอนที่รับประทานง่ายสำหรับผู้ป่วยเด็ก และสะดวกต่อการเก็บไว้ใช้ได้จนครบกำหนด 5-10 วัน ตามระยะเวลาการรักษาที่แพทย์แนะนำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ปกครองดูแลให้ยาลูกหลานได้อย่างเหมาะสม
“สุขภาพเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เมื่อเราเห็นปัญหาในเด็ก เห็นบุคลากรทางการแพย์ลำบาก เราจึงนำองค์ความรู้มาพัฒนาสิ่งนี้เพื่อแบ่งเบาภาระเพื่อนร่วมวิชาชีพ” อาจารย์ ภก. ดร.วันชัย กล่าว
น้ำกระสายยาฟาวิพิราเวียร์ ตอบโจทย์เด็กป่วยโควิด-19
อาจารย์ ภก. ดร.วันชัย กล่าวถึงน้ำกระสายยาที่ใช้ผสมกับยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ว่าเป็นสูตรที่มีรสหวานอ่อนๆ และสามารถคงปริมาณตัวยาสำคัญได้ตลอดอายุการใช้งานที่แนะนำ ที่สำคัญเมื่อผสมยาเม็ดกับน้ำกระสายยาแล้วสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 10 วัน! ที่อุณหภูมิห้องหรือในตู้เย็น
“หากนึกถึงภาพการผสมยาเม็ดที่ถูกบดละเอียดกับน้ำกระสายยา เมื่อตั้งทิ้งไว้ไม่นาน ผงยาจะตกตะกอนนอนก้นและเขย่ากลับคืนได้ยาก แต่สูตรน้ำกระสายยาที่เราพัฒนาขึ้นนี้จะช่วยพยุงผงยาไม่ให้นอนก้นเร็วเกินไปและสามารถคงสภาพได้นานพอที่จะเตรียมเป็นยาสำเร็จรูปพร้อมใช้ได้” อาจารย์ ภก. ดร.วันชัย อธิบายคุณลักษณะเด่นของน้ำกระสายยา
“เราต้องการทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานสะดวกขึ้น ผู้ปกครองสามารถดูแลบุตรหลานเองได้ เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่บ้วนหรือคายยาทิ้ง”
เร่งผลิตน้ำกระสายยาสำหรับยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์เพื่อสังคม
หลังจากประสบความสำเร็จในการคิดค้นสูตรน้ำกระสายสำหรับยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ คณะผู้วิจัยได้ทดลองผลิตน้ำกระสายยาในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการนำไปใช้ของสถานพยาบาล
“เราไม่มีเครื่องมือการผลิตแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เราจึงเตรียมในห้องแลปมาตรฐานที่อ้างอิงมาตรฐานห้องสะอาด (clean room) ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นระดับที่เล็กกว่าอุตสาหกรรมประมาณ 10 เท่า ในห้องแลปของเรา หนึ่งชั่วโมง เราจะเตรียมน้ำกระสายยาได้ประมาณ 10 ถึง 20 ลิตร และใน 1 วัน เราผลิตได้ประมาณ 50 ลิตร” อาจารย์ ภก. ดร.วันชัย กล่าว
นอกจากการเตรียมน้ำกระสายยาแล้ว คณะผู้วิจัยยังได้จัดทำคู่มือขั้นตอนการนำน้ำกระสายยาไปใช้เพื่อเตรียมยาสำหรับดูแลผู้ป่วยเด็กด้วย
“เราทำโบว์ชัวร์ มี QR Code วิดีโอแสดงขั้นตอนการเตรียมยาน้ำแขวนตะกอนจากยาเม็ด สำหรับแนะนำสถานพยาบาล วิธีการคำนวนจำนวนยาเม็ดที่ต้องใช้กับผู้ป่วยเด็กที่มีน้ำหนักและช่วงอายุที่ต่างกัน รวมถึงความเข้มข้นของตัวยาหลังการผสม และมีตารางกำกับเกี่ยวกับปริมาณการใช้ยาน้ำแขวนตะกอนนี้ตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเด็ก เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจัดเป็นยาที่ใช้รักษาเฉพาะรายบุคคล”
ในอนาคต เมื่อการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย อาจารย์ ภก. ดร.วันชัย เผยว่าคณะผู้วิจัยน้ำกระสายยามีแผนจะพัฒนาสูตรน้ำกระสายยาสำหรับปรับใช้กับยาตัวอื่น ๆ หรือพัฒนาเป็นรูปแบบผงพร้อมใช้ (ready to use) เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถาณการณ์ที่ไม่คาดคิดหากพวกเราต้องเผชิญภาวะแบบโควิด-19 อีก
สถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่สนใจน้ำกระสายยาฟาวิพิราเวียร์ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ. ดร.นฤพร สุตัณฑวิบูลย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ 083-445-9393
ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย