ม.พะเยา จัดกิจกรรม CSR ปล่อยสัตว์ทะเล ‘From the mountains to the sea’ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง
มหาวิทยาลัยพะเยา จัดกิจกรรม CSR ปล่อยสัตว์ทะเล ‘From the mountains to the sea’ ภายใต้การประชุมทบทวนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยและการเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ ฯ กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนสัตว์ทะเลจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปล่อยพันธุ์ปลากะพง จำนวน ๑,๕๐๐ ตัว และ หอยหวานจำนวน ๒,๐๐๐ ตัว เพื่อส่งเสริมการเพิ่มจำนวนสัตว์ทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ ทั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการปล่อยแม่พันธุ์เต่ากระ อายุ ๒๕-๓๐ ปี จำนวน ๑ ตัว คืนสู่ธรรมชาติ เพื่อการอนุรักษ์และเพิ่มโอกาสในการแพร่พันธุ์และวางไข่ในช่วงเดือน พฤษภาคม-กรกฏาคม ของทุกปี
โดยกิจกรรมในครั้งนี้นำโดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และบุคลากร มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกันทำกิจกรรมกิจกรรม CSR ปล่อยสัตว์ทะเล ‘From the mountains to the sea’ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ ๒๕๖๕ ณ บริเวณอ่าวไข่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยได้นำแม่พันธุ์เต่ากระ ที่ได้รับอนุญาตจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ตั้งชื่อว่า UP-Supakorn พร้อมทั้งฝังไมโครชิบ รหัส ๙๓๓.๐๗๖๔๐๐๕๖๕๒๒๙๗ เพื่อติดตามเส้นทางการเดินทางในทะเล และเส้นทางการผสมพันธุ์และวางไข่ เพื่อเป็นที่ระลึกให้กับมหาวิทยาลัยพะเยา อีกทั้งเป็นเกียรติแด่อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยาที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงและทำงานการเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สนับสนุนกิจกรรมงานพัฒนา BCG และ SDG ของประเทศไทย สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ภายใต้ฐานทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งนี้ รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์มหาวิทยาลัยพะเยา ดร.ชัชวาล วงค์ชัย ได้รับมอบหมายจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ในการทำหน้าที่ติดตามแม่เต่าร่วมกับศูนย์วิจัยฯ เพื่อส่งเสริมและพัฒนางานด้าน SDG ๑๓, ๑๔ และ ๑๕ รวมถึงสนับสนุนโครงการด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางบกและทางทะเล ของเกาะมันในซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงอ่าวไข่ ที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นสถานที่ดำเนินการโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล มีพันธุ์เต่าตนุและเต่ากระ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และหลังกิจกรรมปล่อยสัตว์น้ำ และเต่าทะเล ทางทีมบริหารยังได้ร่วมใจจิตอาสาทำกิจกรรมเก็บขยะริมชายหาด อ่าวไข่ เพื่อคืนพื้นที่สะอาด สวยงาม อีกด้วย
ที่มา: มหาวิทยาลัยพะเยา