ลุย “Camp Hackathon ไทยทะยาน” ดันความคิดสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ สร้างผลงานต่อยอดมรดกภูมิปัญญาไทยทะยานไกลระดับโลก
ภูมิปัญญา และมรดกทางวัฒนธรรมไทย ถือเป็นขุมทรัพย์ที่ล้ำค่า และเปรียบเสมือนอาวุธที่ทรงพลัง ซึ่งหากถูกหยิบยกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และนำมาต่อยอดโดยความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ๆ เชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เหมือนกับที่ศิลปินไทยหลายๆ ท่านได้ต่อยอดสิ่งเหล่านี้ให้เกิดผลงาน ที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก
โครงการ “ไทยทะยาน” จากความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), U2T (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล), วิทยสถานสังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts : TASSHA) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และโอกาสในการส่งเสริมการต่อยอดดังกล่าว จึงได้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ร่วมประกวดสร้างสรรค์ผลงานออกแบบด้านศิลปะวัฒนธรรมจากรากเหง้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “ทะยานให้สร้างสรรค์ ปั้นไทยด้วยมือ GEN Z” โดยจากการเปิดรับสมัคร ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาทั่วประเทศเป็นอย่างดี มีผู้สนใจส่งผลงานในแต่ละประเภทเข้าร่วมประกวดมากกว่า 600 ผลงาน ล่าสุด ได้ผู้ผ่านเข้ารอบ และเข้าร่วมกิจกรรม “Camp Hackathon ไทยทะยาน” ซึ่งจัดขึ้นให้เจ้าของผลงานที่ผ่านการคัดเลือกในแต่ละประเภทการแข่งขันทั้ง 4 สาขา ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบเครื่องแต่งกาย , การออกแบบเครื่องประดับ ,การสร้างสรรผลงานจิตรกรรม ประติมากรรมและสื่อผสม และ ภาพยนตร์โฆษณา มาสัมผัสประสบการณ์จากมืออาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานในรอบต่อไป
ตัวแทนน้อง ๆ นักศึกษา ที่ผ่านการคัดเลือกและมีโอกาสได้ร่วม Camp hackathon ไทยทะยาน ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เริ่มต้นที่ ตรีธวัช ษัฎเสน หรือ น้องมัม หนุ่มใต้จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาทัศนศิลป์ หนึ่งในผู้เข้าประกวดประเภทงานสร้างสรรค์ ด้านจิตรกรรม ปฏิมากรรม และสื่อผสม เจ้าของผลงาน “วิถีชีวิตชาวเล” เล่าว่า ผลงานของตนได้แรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตของชาวประมงในภาคใต้ และเลือกสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้เป็นรูปทรงเหมือน “เรือกอและ” ซึ่งเป็นเรือที่มีลวดลายสวยงาม มีความโดดเด่นเฉพาะตัว และเป็นเอกลักษณ์ของทางภาคใต้ นอกจากนี้ยังได้มีการนำวัสดุสำหรับหาปลา เช่น ไซจับปู และไซจับปลา รวมถึงอุปกรณ์การประมงอื่น ๆ มาร่วมสร้างสรรค์ในผลงานเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวประมงได้อย่างแท้จริง
“ที่ผ่านมายังไม่เคยเข้าร่วมโครงการประกวดมาก่อน โครงการไทยทะยาน และกิจกรรม Camp Hackathon ไทยทะยาน ก็ถือเป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้ผมได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้เรียนรู้สิ่งถึงการนำสิ่งที่เรารู้มาดัดแปลงให้กลายเป็นสิ่งใหม่ หรือนำมาคิดต่อยอดให้เกิดเป็นผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทย หรือความเป็นตัวเรามากยิ่งขึ้น”
มาต่อกันที่อีกหนึ่งเยาวชนมากความสามารถอย่าง อัจฉริยวัฒน์ ดวงพายัพ หรือ น้องแวนเจนซ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในเจ้าของผลงานที่ผ่านการคัดเลือก ประเภทการออกแบบเครื่องแต่งกาย โดยผลงานมีชื่อว่า “บั้นเด้า” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากรถแห่ เมื่อมีการจัดงานรื่นเริงหรืองานมงคลในต่างจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งรถแห่จะเต็มไปด้วยเครื่องเสียงและบทเพลงแนวสนุกสนาน ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไทยที่มีลักษณะนิสัย ใจดี และสนุนสนาน
“กิจกรรมนี้ทำให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ และอยู่ใกล้ตัวเรา โดยเราสามารถนำมันมาใช้และทำให้ไปไกลได้ ด้วยการนำความรู้จากการที่ได้มาร่วมกิจกรรมตรงนี้ไปเผยแพร่ ผ่านการสร้างสรรค์และต่อยอดผลงานของตัวเอง ซึ่งมันจะทำให้วัฒนธรรมตรงนี้ไปสู่สายตาคนอื่น ๆ ได้ทั่วโลกเลย โดยมองผ่านจากผลงานของเรา”
ด้าน ทิพกร เหล่าคุ้ม หรือ น้องทิพ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ สาขาการโฆษณาและสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตัวแทนจากทีมผู้ผ่านเข้ารอบประเภทผลงานภาพยนตร์โฆษณา ที่ทางทีมได้มีการหยิบยกเอาความเชื่อ ความศรัทธาทางด้านไสยศาสตร์ของคนไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ มาเป็นแรงบันดาลใจและถ่ายทอดออกมาเป็นหนังโฆษณาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย และนำเสนอความเป็นไทยในแง่มุมอื่น ๆ ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันกระแสความเชื่อ และการบูชาต่าง ๆ ของคนไทยกำลังเป็นที่นิยมมาก ซึ่งหากเรานำตรงนี้มาถ่ายทอดให้คนได้เห็นและรู้จักความเป็นไทยในแง่มุมที่แตกต่างออกไป ก็จะทำให้บ้านเราเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และตลอดระยะเวลาที่ร่วมกิจกรรมในแคมป์นี้ ก็ได้รับความรู้จากวิทยากร ซึ่งนอกเหนือจากสิ่งที่ได้เรียนมา ทำเราเรียนรู้ที่จะนำเสนอไอเดียของตัวเองออกมาได้เป็นอย่างดี และนอกจากจะได้ประสบการณ์ความรู้ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียนแล้ว เรายังได้มิตรภาพจากเพื่อน ๆ จากต่างมหาวิทยาลัยด้วย”
ส่วน ปวเรศ ฉัตร์วีระสกุล หรือ น้องต้อง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อีกหนึ่งตัวแทนเจ้าของผลงานที่ผ่านการคัดเลือกประเภทการออกแบบเครื่องประดับ ซึ่งได้รับโจทย์ “อัญมณีนพเก้า” ซึ่งเกี่ยวกับโชคลาภและความมั่งคั่ง โดยน้องต้องเล่าว่า ตนเองใช้ความเข้าถึงง่ายของความเป็นไทยมาเป็นแรงบันดาลใจ จึงได้ออกแบบเซ็ตเครื่องประดับ ที่ประกอบไปด้วยกำไลข้อมือ และที่ห้อยกระเป๋า ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่าย และทำให้คนที่พบเห็นได้รับรู้ถึงความเป็นไทยผ่านเครื่องประดับเหล่านี้
“สาขาที่ผมเรียนไม่ได้ตรงกับประเภทการประกวดที่ผมส่ง ทำให้กระบวนการคิดในขณะสร้างสรรค์ผลงานไม่เหมือนกัน และการที่ได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่จะสามารถนำไปใช้ต่อในอนาคตได้อีกด้วย และอีกหนึ่งไฮไลท์ของกิจกรรมนี้ที่ผมชอบที่สุด ก็คือช่วงเวลานับถอยหลังของ Hackathon ที่มีการจำกัดระยะเวลา โดยผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องทำผลงานออกมาในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งผมมองว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ช่วยดึงศักยภาพของเราออกมาได้มากที่สุดครับ”
ปิดท้ายที่ วรัญญู ช่างประดิษฐ์ ศิลปินอิสระ ที่ให้เกียรติมาร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับน้อง ๆ เจ้าของผลงานที่ผ่านกันคัดเลือก ในการแข่งขันประเภทการสร้างสรรผลงานจิตรกรรม ประติมากรรมและสื่อผสม และร่วมกิจกรรม Camp Hackathon ไทยทะยาน เล่าว่า น้อง ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ และมีไอเดียในการทำผลงานเป็นอย่างมาก และน้อง ๆ ก็ทำชิ้นงานออกมาได้ดีมากเช่นกัน ดังนั้นหากมีการส่งเสริมก็จะมีส่วนช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้
“กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดีมากเลยครับ ซึ่งผมได้มีโอกาสมาแชร์เทคนิคการหาแรงบันดาลใจ และแนะนำความรู้สำหรับใช้ทำงานให้กับน้อง เชื่อว่าน้อง ๆ จะได้รับความรู้และประสบการณ์ในครั้งนี้ ในหลากหลายด้าน และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ต่อไปได้ และเชื่อว่ามรดกและวัฒนธรรมความเป็นไทยของเราก็จะไปได้ไกลจากผลงานของน้อง ๆ เหล่านี้ครับ”
นับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้นำความรู้มาใช้และสร้างสรรค์ผลงานจากรากเหง้าทางวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำให้ผลงานเหล่านี้ทะยานไปไกลยังระดับสากล โดยหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม Camp Hackathon ไทยทะยาน น้อง ๆ จะต้องสร้างสรรค์ผลงานสำหรับการประกวดและเฟ้นหาผู้ชนะในแต่ละประเภทต่อไป โดยผลงานของน้อง ๆ ทั้งหมดที่ผ่านการคัดเลือก จะได้จัดแสดงผลงานในนิทรรศการ “ไทยทะยาน” ณ ช่างชุ่ย กรุงเทพฯ ในวันที่ 4-6 เมษายน 2565 นี้
สำหรับผลงานใดจะได้เป็นผู้ชนะเลิศ ในแต่ละประเภทการแข่งขัน พร้อมรับเงินรางวัลและโล่เกียรติยศ สามารถร่วมเป็นกำลังให้กับน้อง ๆ และติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://facebook.com/thaithayarn หรือ Line official : @thaithayarn หรือ Instagram : thaithayarn
ที่มา: เอ็กซ์ตราวาแกนซ่า พีอาร์