ได้แรงอก! ล่องใต้ ชมอุทยานการเรียนรู้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แหล่งเสริมโอกาส สร้างศักยภาพ เพื่อการเรียนรู้ไม่รู้จบของคนไทยทุกพื้นที่
การเรียนรู้เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเด็กและเยาวชน จุดเริ่มต้นของการความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม ตลอดจนพัฒนาประเทศให้ก้าวทันยุคทันสมัย โดยเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลอาจมีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้ในด้านต่างๆ ซึ่งสถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ ทีเคพาร์ค มีแนวทางที่ต้องการกระจายแหล่งเรียนรู้สร้างเครือข่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำเทคโนโลยีและความรู้ไปสู่เด็กและเยาวชนให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยปัจจุบันมีอุทยานการเรียนรู้กระจายตามจังหวัด จำนวน 30 แห่ง ในพื้นที่ 23 จังหวัดทั่วประเทศ และเมื่อเร็วๆ นี้ อุทยานการเรียนรู้ยะลา ที่นับว่าเป็นสถานที่แรกของการสร้างเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ ได้ฉลองครบ 15 ปี ภายใต้แนวคิด ‘Ready Set Grow’ กับการเดินหน้าพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้มีห้องสมุดที่มีชีวิตส่งเสริมการอ่านและเผยแพร่นวัตกรรม
ทีเคพาร์คยะลา ต้นแบบการเรียนรู้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ ทีเคพาร์ค กล่าวว่า ทีเคพาร์คยะลา เป็นอุทยานการเรียนรู้ภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทยของการสร้างเครือข่าย ที่มุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน แสวงหาความรู้ในบรรยากาศที่ทันสมัย ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนของเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ที่มีความหลากหลายในเรื่องของประเพณี ศาสนา และวัฒนธรรม จนเกิดความรู้ความเข้าใจและอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข อีกทั้งเป็นองค์กรที่มีความพร้อมในด้านของสื่อและกิจกรรม สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่มีกระจายออกไปสู่พื้นที่ต่างๆ ได้ ที่สำคัญถือว่าเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดใกล้เคียง เช่น ทีเคพาร์ค นราธิวาส และทีเคพาร์ค ปัตตานี
กว่า 15 ปีกับการดำเนินงานของทีเคพาร์คยะลาในการเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ได้มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนการอยู่ร่วมกันและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้หลายสิ่งต้องหยุดชะงัก แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่หยุดและเติบโตอย่างเสมอมา คือ การเรียนรู้ ทางทีเคพาร์คยะลาในฐานะที่เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับคนในท้องถิ่น ยังคงสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมผ่านระบบออนไลน์ ทำให้คนจากหลายพื้นที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรม เกิดเป็นความสวยงามของการแลกเปลี่ยนชุดข้อมูลความรู้ที่หลากหลาย นอกจากนี้ด้านพื้นที่การให้บริการ ยังได้เริ่มพัฒนาขยายพื้นที่ให้มีขนาดที่กว้างมากขึ้น เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับเด็กและเยาวชนที่มาจะใช้บริการและทำกิจกรรมหลังสถานการณ์ดีขึ้น โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จบางส่วนปี 2566
โอกาสของ “ทุกคน” กับการเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย
นางสาว ณราพีดา ลติฟีปุตรา ผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส เล่าว่า แนวทางการทำงานของอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส มุ่งเน้นให้เป็นพื้นที่ของกิจกรรมที่สร้างความรู้ความเข้าใจในด้านสังคม วัฒนธรรม ด้วยจังหวัดนราธิวาสมีความหลากหลายในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา จึงต้องสร้างสรรค์ให้เข้ากับคนทุกกลุ่มโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมมากมายให้กับเด็กและเยาวชน ไปจนถึงผู้สูงอายุ อย่างเช่น กิจกรรมจัดหนังสือใส่ในรถที่เรียกว่ารถโมบาย จากนั้นจะขับไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองนราธิวาสหรือโรงเรียน เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการอ่านได้สะดวกมากขึ้น กิจกรรมติวหนังสือ ด้วยการเชิญวิทยากรระดับประเทศมาสอนให้กับเด็กๆ ในรายวิชาที่สนใจ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และกิจกรรมตลาดนัดเด็กแนว โดยการเชิญมหาวิทยาลัยชื่อดังทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มาให้ความรู้ ว่ามีคณะไหนบ้างที่เปิดสอน หรือควรเตรียมตัวอย่างไร หากต้องการเข้ามหาวิทยาลัยเหล่านั้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งจากเยาวชนในและนอกพื้นที่ในการเข้าร่วมกิจกรรม
ด้านเด็กด้อยโอกาส ทางทีเคพาร์คนราธิวาสก็ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ด้วยการจัดกิจกรรมวันเด็ก พร้อมกับพาไปทัศนศึกษานอกสถานที่ สำหรับผู้สูงอายุมีกิจกรรมให้ความรู้ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ต่อไปในอนาคต สำหรับภายใน TK Park นราธิวาสนอกจากกิจกรรมยังมีในโซนของพื้นที่ที่เปิดให้บริการแบ่งออกเป็น พื้นที่นั่งทำงานและอ่านหนังสือ โซนเด็กเล็กที่นั่งวาดภาพระบายสี โซนสารสนเทศ ที่ขยายพื้นที่และให้บริการคอมพิวเตอร์มากขึ้น เพื่อให้เด็กได้ใช้ประกอบการเรียนออนไลน์อีกด้วย
เป็นมากกว่าแหล่งหาความรู้ แต่ให้แนวทางทางการสร้างอาชีพ
สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในบริบทต่างๆ มากขึ้น
นายนิอันนุวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี กล่าวว่า ทีเคพาร์คปัตตานี ยังคงเป็นพื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชน ให้เข้ามาอ่านหนังสือแสวงหาความรู้พร้อมกับจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการตู้หนังสือ โครงการพัฒนาบุคลากร หรือ โครงการ Book Fair แต่จะให้ทีเคพาร์คปัตตานี เป็นแหล่งอ่านหนังสือ ติวข้อสอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้นอาจไม่พอ โดยมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนที่เข้ามาใช้บริการ ได้เรียนรู้พัฒนาทักษะการใช้ชีวิต เรียนรู้สร้างอาชีพ สามารถนำไปเป็นรายได้ให้กับตนเอง ผ่านการเรียนรู้จากสื่อเทคโนโลยีของทางทีเคพาร์ค เพราะเด็กและเยาวชนคือบุคคลสำคัญในการพัฒนาเมือง ทั้งนี้ ทีเคพาร์คปัตตานีจะครบรอบ 5 ปี ในเดือนมีนาคมนี้ จึงได้ฉลองครบรอบเพื่อเป็นของขวัญให้กับคนในพื้นที่ โดยการปรับลดค่าบริการลง พร้อมทั้งปรับพื้นที่ใช้สอย ในด้านเทคโนโลยีให้เพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างห้องเมคเกอร์สเปซ เพื่อสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ การทำพื้นที่ Brain Skill สำหรับกิจกรรมพัฒนาสมอง และการสร้างห้อง Robot เพื่อการสร้างสรรค์การเรียนรู้ผ่านหุ่นยนต์
“ทีเคพาร์คส่วนกลาง มีความพร้อมเป็นอย่างมากที่จะส่งเสริมแนวทางในการสร้างสรรค์กิจกรรมที่มีความเหมาะสมกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการทำงาน รวมไปถึงบุคลากรให้สามารถเดินหน้าพัฒนาและกระจายองค์ความรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นพื้นที่เปิดกว้างในการเรียนรู้ เพิ่มทักษะสร้างสรรค์ เสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนไม่มีการจำกัดในเรื่องของอายุและการศึกษา นำไปสู่การเสริมสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต่อไป” นายกิตติรัตน์ กล่าวสรุป
ติดตามความเคลื่อนไหวและข่าวสาร ได้ที่ www.tkpark.or.th หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ TK Park อุทยานการเรียนรู้
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์