วว. ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี UiTM ประเทศมาเลเซีย มุ่งพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี ด้านระบบราง ทั้งภาคการศึกษา/ภาคอุตสาหกรรม
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ และ ผศ. ดร. อะห์หมัด รอชีดีย์ บิน รอซอลี รองอธิการบดีด้านวิชาการและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี UiTM วิทยาเขตปีนัง ประเทศมาเลเซีย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาความรู้ความร่วมมือทางวิชาการ การฝึกอบรม การวิจัยด้านระบบราง แลกเปลี่ยนข้อมูลและบุคลากรเพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและการวิจัย รวมทั้งร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการทดสอบ/ตรวจสอบทางรถไฟสมัยใหม่ ทั้งในภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ
ภายใต้กรอบความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปี วว. จะร่วมงานกับพันธมิตรโดยมุ่งหวังใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การริเริ่มสร้างกลุ่มพันธมิตรกับประเทศมาเลเซียในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อสนับสนุนการเชื่อมต่อการขนส่งทางระบบรางร่วมกันในอาเซียน หรือ ASEAN Connectivity 2.วว. ต้องการแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย ในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการทดสอบ ตรวจสอบทางระบบราง ที่ได้มาตรฐานสากล และ 3. วว. ต้องการขยายฐานของผู้รับบริการโปรแกรมการฝึกอบรม Non degree ด้านระบบรางที่จะจัดให้แก่ ผู้สนใจ นักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน โอกาสนี้ ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. พร้อมผู้บริหาร บุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติ (วันที่ 15 ก.พ. 2565)
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า กิจกรรมในความร่วมมือระหว่าง วว. โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี UiTM จะเน้นความร่วมมือทั้งด้านงานวิชาการ งานวิจัย รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรระหว่าง 2 สถาบัน โดยจะมีกิจกรรมใน 4 ด้าน คือ 1) การพัฒนางานวิจัยด้านระบบราง โดยตั้งเป้าหมายร่วมกันขอทุนวิจัยในระดับภูมิภาค 2) การแลกเปลี่ยนทางวิชาการและพัฒนาบุคลากรของทั้ง 2 สถาบัน โดยการจัดสัมมนา/ถ่ายถอดเทคโนโลยีในด้านวิศวกรรมระบบรางร่วมกัน โดย วว. จะร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และการส่งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี UiTM ฝึกงานภาคฤดูร้อนที่ วว. 3) การร่วมจัดประชุมวิชาการ/โปรแกรมอบรมระยะสั้น Non-degree ด้านระบบรางร่วมกันทั้งแบบเก็บค่าลงทะเบียนและแบบไม่มีค่าลงทะเบียน โดยทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันเป็นวิทยากร และ 4) ร่วมกันประชาสัมพันธ์หน่วยงาน โดยการแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีงานทดสอบด้านระบบราง ระบบรางสมัยใหม่ รวมทั้งด้านวิชาการระบบรางระดับชาติและนานาชาติในเวทีต่างๆ
อนึ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี UiTM (Universiti Teknologi Mara) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เริ่มแรกก่อตั้งขึ้นเพื่อชาวมลายูในปี พ.ศ. 2499 ในการเป็นศูนย์ฝึกอบรม RIDA (Rural & Industrial Development Authority) โดยสถาบันได้เติบโตขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย มีจำนวนประชากรทั้งคณาจารย์ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่มากที่สุดในมาเลเซีย (ปีปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษารวม 185,000 คน และจำนวนคณาจารย์รวมทั้งเจ้าหน้าที่ 18,469 คน) มีวิทยาเขตหลักอยู่ที่เมือง Shah Alam (ชาห์อาลัม) ซึ่งเป็นเมืองหลักของรัฐ Selangor อยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ 16 กิโลเมตร ปัจจุบันมีวิทยาเขตทั่วทั้ง 13 รัฐของประเทศมาเลเซีย (รวมวิทยาเขตหลัก) และมีวิทยาเขตย่อยทั้งหมดทั่วประเทศ 35 วิทยาเขต ปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรทางวิชาการมากกว่า 500 หลักสูตร ในระดับตั้งแต่อนุปริญญา และปริญญาตรี – ปริญญาเอก โดยมีบางสาขาที่มีเพียงการทดสอบด้านวัสดุและชิ้นส่วนงานทางพื้นฐาน เช่น หมอนคอนกรีต แต่ยังไม่ครบถ้วนทุกรายการและยังไม่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 ในส่วนการทดสอบ รวมทั้งยังไม่มีห้องแล็ปทดสอบด้านชิ้นส่วนตัวรถไฟ ซึ่ง วว. โดยศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยีความเชี่ยวชาญที่จะสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานร่วมกันให้สำเร็จเป็นรูปธรรม
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย