ม.มหิดล พร้อมร่วมขับเคลื่อนพลัง “Soft power” สนับสนุนยุทธศาสตร์ BCG – เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

ม.มหิดล พร้อมร่วมขับเคลื่อนพลัง “Soft power” สนับสนุนยุทธศาสตร์ BCG – เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

ผลจากสงครามและความสูญเสีย ทำให้ทั่วโลกต้องยอมรับว่า หมดสมัยแล้วที่จะใช้ “Hard power” หรืออำนาจที่เกิดจากการใช้อิทธิพล

การใช้ “Soft power” จึงกลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่ใช้ในการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” จากแรงผลักดันที่เกิดจากความพึงพอใจนำไปสู่การลงทุน

ตามแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio – Economy เศรษฐกิจชีวภาพ – Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน – Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว) พ.ศ.2564 – 2569 ของประเทศไทย นอกจากนโยบายต่างประเทศในเชิงการทูตแล้วการศึกษา และวัฒนธรรม ก็ถือเป็น “Soft power” ที่สำคัญต่อการสร้างคน สร้างประเทศ และเป็นแรงผลักดันสำคัญของประเทศไทยสู่เวทีโลก

หนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ การมีวงThailandPhil ในฐานะวงออร์เคสตร้าอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งดำเนินการโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพลังดึงดูดที่สำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ในฐานะประธานวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra – ThailandPhil) กล่าวว่า เป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษแล้วที่ ThailandPhil ได้แสดงพลังทางดนตรีออกมาจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวโลกถึงความเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องคุณภาพที่ได้มาตรฐานสากล จากการจัดแสดงดนตรีคลาสสิก และแบบผสมผสาน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักดนตรี นักประพันธ์เพลง และวาทยกรจากทั่วโลก หลั่งไหลแวะเวียนกันมาร่วมสร้างสรรค์งานแสดงดนตรีคุณภาพอย่างไม่ขาดสาย

เพื่อให้การดำเนินงานจัดแสดงดนตรีที่ต่อเนื่องและยั่งยืนในปี 2565 นี้จะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการดำเนินงานของวง ThailandPhil และได้มีการเตรียมการแสดงในรูปแบบที่หลากหลายที่จะทำให้ชาวไทยได้ภาคภูมิใจ จากการเป็นวงออร์เคสตร้าอันดับหนึ่งของไทย ที่สามารถแสดงดนตรีได้อย่างมีคุณภาพในระดับสากลสู่สายตาชาวโลกต่อไป

“อัลฟองโซ สคาราโน” (Alfonso Scarano) วาทยกรผู้ควบคุมวง ThailandPhil ชาวอิตาลี ผู้มีประสบการณ์ควบคุมวงออร์เคสตร้าระดับโลกกว่า 100 คอนเสิร์ตในกว่า 2 ทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีคลาสสิกของยุโรป ซึ่งมีเทคนิคการควบคุมวงที่โดดเด่นไม่เหมือนผู้ใด จากการแนะให้นักดนตรีไม่ติดโน้ตแต่เล่นตามอารมณ์ของดนตรี ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังได้รับอรรถรสจากการฟังดนตรีมากกว่าการเล่นที่ติดแบบแผน โดยได้กล่าวว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานกับวง ThailandPhil ของไทย และมั่นใจว่าจะสามารถมัดใจทั้งชาวไทยและชาวโลกให้ได้ดื่มด่ำไม่เสื่อมคลายกับดนตรีคุณภาพระดับโลกที่ร่วมสร้างสรรค์โดยนักดนตรีและทีมงานที่มากด้วยฝีมือ

โปรแกรมที่พลาดไม่ได้สำหรับฤดูกาลนี้ ได้แก่ การแสดงดนตรีคลาสสิก “Anton Bruckner Symphony No.9” ซึ่งเป็นผลงานของ “อันโทน บรุคเนอร์” (Anton Bruckner) คีตกวีโลกชาวออสเตรีย ผู้ได้รับแรงบันดาลใจในการประพันธ์ดนตรีจากการได้สัมผัสกับพระผู้เป็นเจ้าทางคริสต์ศาสนาโดยจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2565 นี้ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายาจังหวัดนครปฐม

อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการจัดแสดงดนตรีแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยThailandPhil จะต้องทำการบ้านเป็นอย่างหนักว่า จะทำอย่างไรให้เกิดทั้ง “คุณค่า” และ “คุณภาพ” ให้ได้มากที่สุด

เพื่อเปิดโลกประสบการณ์ทางดนตรี ในเดือนมีนาคม 2565 หากไม่ติดสถานการณ์ COVID-19 ที่ยืดเยื้อ วงThailandPhil มีกำหนดจะพานักดนตรีและทีมงานกว่า 100 ชีวิตออกเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตที่ยุโรป อันเป็นดินแดนต้นกำเนิดของดนตรีคลาสสิก ซึ่งจะเป็นการแสดง “Soft power” ที่เหมือนเป็น “ใบเบิกทาง” ให้โลกได้รู้จักกับวงThailandPhil มากขึ้น

“หากเราจะส่งเสริม “Soft power” ให้กับประเทศไทย จะต้องร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่าย ThailandPhil ไม่ได้ทะนงตัวว่าเป็นที่หนึ่ง แต่พร้อมเป็น “ทูตทางวัฒนธรรม” ที่ดีที่พร้อมต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป” อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมเป็นพลัง “Soft power” ให้ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ BCG – เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมเป็นกำลังใจ และติดตามผลงานของ ThailandPhil วงออร์เคสตร้าของไทยได้ที่ Facebook: Thailand Philharmonic Orchestra

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ