ม.มหิดล ส่งเสริมทักษะ Health Literacy ปลุกสังคมไทยขจัดอคติวิกฤติ COVID-19

ม.มหิดล ส่งเสริมทักษะ Health Literacy ปลุกสังคมไทยขจัดอคติวิกฤติ COVID-19

จะดีเพียงใดถ้าคนในสังคมไทยได้ตื่นขึ้นมาเรียนรู้ที่จะ “อยู่กับCOVID-19” พร้อมกับเรียนรู้ที่จะดูแลสุขภาวะของตัวเองอย่างถูกวิธีกันอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุคนธา ศิริ หัวหน้าภาควิชาระบาดวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะหนึ่งในผู้ประพันธ์ e-book “หลักวิทยาการระบาดพื้นฐาน” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงาน Top seller ของ “MU-PRESS” แอปพลิเคชันสร้างสรรค์โดย มหาวิทยาลัยมหิดล – “อุ๊คบี” ว่า เรื่องของ “Health Literacy” หรือ “ความรอบรู้ทางสุขภาวะ” เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ เช่นเดียวกับศาสตร์ทางด้านระบาดวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกในยุคที่ต้องเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 และปัญหาการกลายพันธุ์ของเชื้อดังกล่าว จากสายพันธุ์ DELTA ซึ่งให้ผลที่รุนแรง และล่าสุดOMICRON ที่ถึงแม้จะไม่รุนแรงเท่า แต่ก็สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่า

ด้วยหลักการ “Epidemiologic Triad” ทางระบาดวิทยาที่อธิบายการเกิดปัญหาสุขภาพอยู่บน 3 ปัจจัยพื้นฐาน คือ ตัวโรค (Agent) คน (Host) และสิ่งแวดล้อม (Environment) หากเข้าใจอย่างถ่องแท้ และสามารถสอดประสานให้เกิดความสมดุลก็จะสามารถป้องกันควบคุมการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ด้วยการเรียนรู้ที่จะเข้าใจในธรรมชาติของโรค การกระจายและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเพื่อให้สามารถป้องกันควบคุมการแพร่ระบาด และเรียนรู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค

ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของเชื้อไวรัสCOVID-19 ก่อนว่ามีการกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ ซึ่งการฉีดวัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

ที่สำคัญคือเราจะรับมือ COVID-19 อย่างไรอย่างมีสติ โดยการก้าวขึ้นบันไดตามหลักการป้องกันโรค จากขั้นปฐมภูมิตั้งแต่ก่อนเกิดโรค ทำอย่างไรให้ประชาชนห่างไกล COVID-19 สู่ขั้นทุติยภูมิ ค้นหาผู้ติดเชื้อ เพื่อตัดวงจรการติดและแพร่กระจายเชื้อ ไปจนถึงขั้นตติยภูมิ ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ทันเวลาเพื่อลดอัตราตาย เพิ่มการรักษาให้ได้มากที่สุด

ใน e-book “หลักวิทยาการระบาดพื้นฐาน” ผู้อ่านจะได้เรียนรู้เรื่องระบาดวิทยาอย่างครบวงจร ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาการวัดทางระบาดวิทยา รูปแบบการศึกษาพื้นฐานทางระบาดวิทยา การเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การวินิจฉัยชุมชน ไปจนถึงการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนในแต่ละประเภทการคัดกรอง  และการใช้เครื่องมือที่ดีในการคัดกรอง ฯลฯ

ซึ่ง ATK ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการคัดกรองCOVID-19 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุคนธา ศิริ ได้ให้ข้อสังเกตในการพิจารณาเลือก ATK ว่าให้ดูที่มาตรฐานการผลิตเป็นหลัก โดยจะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ การจะดูว่าเป็น ATK ที่ใช้ตรวจครอบคลุมCOVID-19 สายพันธุ์ OMICRON ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ที่ “ปีผลิต” ว่าอยู่ในช่วงที่ COVID-19 สายพันธุ์ใดกำลังแพร่ระบาด ซึ่งช่วงที่สายพันธุ์ OMICRON กำลังแพร่ระบาดอยู่ในช่วงปลายปี2021 ต่อจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ DELTA อย่างไรก็ดี ไม่ชัดเจนเท่าดูการระบุคุณสมบัติที่ข้างกล่อง

ด้วยปณิธานแห่ง “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อมั่นว่า e-book “หลักวิทยาการระบาดพื้นฐาน” ที่นักศึกษา นักวิชาการ รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถติดตามอ่านได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแอปพลิเคชัน “MU PRESS” ที่ได้รับการต่อยอดจากการบรรยายความรู้ในห้องเรียนสู่ตำราระบาดวิทยา ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานของนักศึกษาแพทย์และสาธารณสุขนี้ จะสามารถทำให้ประชาชนได้ก้าวข้ามผ่าน”อคติ” ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ จนสามารถรอดพ้นวิกฤติ หรือ”กับดักทางความคิด” ให้เดินหน้า “อยู่กับ COVID-19” ได้ต่อไปด้วยความรู้เท่าทัน

ติดตามอ่าน “หลักวิทยาการระบาดพื้นฐาน” และ e-book เล่มอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลภูมิใจมอบให้เพื่อการส่งเสริมและสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ได้ทางแอปพลิเคชัน “MU PRESS” ที่สามารถดาวน์โหลดด้วยสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ได้แล้ววันนี้

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ