แสนสิริ ประกาศพันธกิจใหญ่ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ออกหุ้นกู้ 100 ล้านบาท สนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากแนวคิดการดำเนินธุรกิจของแสนสิริที่มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคม คนตัวใหญ่ต้องช่วยคนตัวเล็ก และให้ความสำคัญในเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม รวมถึงเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือเด็กอย่างยั่งยืน จนได้รับเกียรติเป็นพันธมิตรที่ลงนามกับองค์การยูนิเซฟ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กต่อเนื่องในตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยร่วมกันผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครอง ปกป้องสิทธิ และพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กมากกว่า 17 โครงการ อาทิ แคมเปญ “IODINE PLEASE” ผลักดันการแก้ปัญหาภาวะขาดสารไอโอดีนในเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศมานานกว่า 50 ปีได้สำเร็จ, โครงการ Best Start หกปีแรกของชีวิต คือ หกปีทองของเด็ก ที่ต่อยอดสู่โครงการ “The Good Space” หรือ “พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” ที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างของแสนสิริ รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่มุ่งเน้นในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ สร้างความตระหนักในด้านสิทธิเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา และกีฬา รวมทั้งการให้ความช่วยเหลืออย่างไร้พรมแดนต่อเด็กในประเทศไทยและเด็กทั่วโลก
ในปี 2565 นี้ แสนสิริมีพันธกิจใหญ่ โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา ภายใต้วิสัยทัศน์และเป้าหมายเดียวกัน ในความตั้งใจที่จะ “สร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” ด้วยการประกาศพันธกิจในโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ระยะยาว 3 ปี โดยแสนสิริเตรียมออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน 100 ล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการ Zero Dropout ครั้งแรกในเอเชีย! นำร่องที่จังหวัดราชบุรี ที่มีเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาอยู่ประมาณ 10,000 คน ซึ่งเหมาะสมกับจำนวนเงินระดมทุน 100 ล้านบาท รวมทั้งยังมีปัญหาที่หลากหลายด้านความเหลื่อมล้ำในการศึกษาจากภูมิศาสตร์จังหวัดติดชายแดน ที่มีสภาพทั้งแบบชุมชนและเมือง ขณะที่ยังเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ ที่ทำให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมช่วยเหลือเด็กได้โดยง่าย รวมถึงที่สำคัญคือ แสนสิริไม่มีการพัฒนาโครงการและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้มีความโปร่งใส นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบได้ ผ่านบัญชี Escrow Account ของธนาคารไทยพาณิชย์ ในชื่อ “บมจ.แสนสิริ เพื่อสนับสนุนโครงการร่วมกับ กสศ.” ซึ่ง กสศ. จะมีการจัดทำแผนรายปี และเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการ Zero Dropout ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง
เป้าหมายของโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” คือการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ระยะยาว 3 ปี ครอบคลุมการพัฒนาในทุกด้านทั้งการเข้าถึง คุณภาพการศึกษา และความยั่งยืน พร้อมตั้งเป้าให้เด็กต้องอยู่ในระบบการศึกษาในช่วงวัยภาคบังคับ (ป.1-ม.3) และเด็กที่ถึงเกณฑ์ ต้องพร้อมเข้าเรียน ป.1 ได้ 100% โดยมีแผนดำเนินการเริ่มตั้งแต่ปี 2565 นำร่องใน 3 อำเภอ ได้แก่ สวนผึ้ง จอมบึง และบ้านคา จากนั้นในปี 2566 จะขยายไปอีก 4 อำเภอ และในปี 2567 อีก 3 อำเภอ เพื่อช่วยเหลือทั้งเด็กปฐมวัย และเด็กนอกระบบกว่า 11,200 คนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาในจังหวัดราชบุรีให้เป็น “ศูนย์” รวมทั้งสนับสนุนทุนทรัพย์ให้เด็กได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าระบบการศึกษา (อัตรา 4,000 บาทต่อคน) จากนั้นจึงส่งต่อสู่กลไกของจังหวัดสานต่อการทำงานในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป
“แสนสิริต้องการจุดประกายให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ด้วยการเปิดตัวโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” และออกหุ้นกู้ระดมทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการ สร้างประวัติศาสตร์ครั้งแรกในเอเชีย! ที่มีการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนในการช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ โดยนับว่า ครั้งนี้เป็นการลงทุนที่จะได้รับประโยชน์ถึง 2 ต่อ คือ นอกจากนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ที่สำคัญกว่านั้น คือ นักลงทุนจะได้ลงทุนในอนาคตเด็กเพื่อให้ได้อยู่ในระบบการศึกษา สร้างรากฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง” นายเศรษฐา กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. เป็น “กลไกเหนี่ยวนำความร่วมมือ” ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยมีโอกาสที่เสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและได้รับการพัฒนาตามศักยภาพเพื่อตัดวงจรความยากจนข้ามชั่วคน การทำงานของ กสศ.เจาะกลุ่มเด็ก เยาวชนจากครัวเรือนยากลำบากร้อยละ 15 ล่างสุดของประเทศ ผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถเป็น “คานงัด” และ “ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง” เชิงระบบ โดยใช้ข้อมูล งานวิจัย และกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นเครื่องมือสำคัญในการ สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ และระดับประเทศที่ยั่งยืน
“ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ประเทศไทยมีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจครัวเรือนและความห่างไกลทุรกันดารของหลายพื้นที่ รวมทั้งปัจจัยด้านสุขภาพและความด้อยโอกาสอื่นๆ ของเด็กเยาวชนและครอบครัว แต่สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงโควิด – 19 จากสาเหตุของการว่างงานและรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาการปิดกิจการและการเลิกจ้างชั่วคราวหรือถาวร รวมทั้งการขาดการเข้าถึงไฟฟ้า สัญญาณอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเรียนออนไลน์ที่ต่อเนื่องและมีคุณภาพ ซึ่งล้วนส่งผลต่อแนวโน้มและความเสี่ยงของการหลุดออกจากระบบการศึกษา และภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาของไทย” ดร.ไกรยส กล่าว
จากการสำรวจข้อมูลโดยการสำรวจของกสศ. พบว่า สถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษาในปัจจุบัน มีตัวเลขนักเรียนยากจนทั่วประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาถึง 1.9 ล้านคน มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก สังเกตได้จากรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษลดต่ำลงมากจาก 1,289 บาทช่วงก่อนโควิด มาเป็น 1,094 บาทต่อครัวเรือนเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทำให้นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกเทอมจาก 994,428 คนเมื่อปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,244,591 คนในภาคเรียนที่ 1 ปี 2564 และเมื่อลงลึกเรื่องตัวเลข ยังพบว่า นักเรียนที่ไม่เรียนต่อ หรือ นักเรียนยากจนพิเศษ หลุดจากการศึกษาสูงถึง 43,060 คน จาก 54,842 คน หรือ 4.67% โดยหลุดจากระบบการศึกษาสูงสุดในชั้น ม.3/ ป.6/ และชั้นอนุบาล ตามลำดับ
ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษาไทย เกิดจากอุปสรรคที่ทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน อาทิ ต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัว, ขาดแคลนของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันและอุปกรณ์การเรียน, ไม่มีค่าเดินทาง, ไม่มีค่าอาหาร และบ้านห่างไกล ทุรกันดาร ขณะที่เมื่อลงลึกถึงตัวเลขสถิติ เหตุผลของการหลุดจากการศึกษาของเด็กยากจนพิเศษในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 อันดับหนึ่ง คือ รายได้ของครอบครัวลดลง คิดเป็นจำนวน 87.81% ของเด็กที่หลุดการศึกษา อันดับสอง คือ ต้องแบกรับภาระอื่นและแบ่งเบาภาระทงเศรษฐกิจแก่ญาติพี่น้อง 38.33% และต่อมา คือ พ่อแม่ ผู้ปกครองตกงาน และถูกพักงานชั่วคราว จึงเป็นที่มาที่คำว่า “ช่วยแม่ทำงาน” “รายได้ลดลง” “ขายของไม่ได้” ถูกขึ้นมาเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญจากการสำรวจแบบ focus group ของ กสศ. จากกลุ่มตัวอย่าง นอกจากนี้ กสศ. ยังได้วิเคราะห์ข้อมูลของนักเรียนทุนเสมอภาคในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ประสบปัญหาในการเรียนช่วงโควิด พบว่ามีนักเรียนที่เจอปัญหาในการเรียนออนไลน์ถึง 271,888 คน ทั้งจากการที่ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งไม่มีไฟฟ้า โดยความช่วยเหลือที่นักเรียนและผู้ปกครองต้องการได้รับ 3 อันดับแรก ได้แก่ ค่าครองชีพและของจำเป็น 71.45% รองลงมาเป็นอาหารเช้า/อาหารกลางวัน 35.28% และค่าเดินทาง 28.79% ที่สำคัญที่สุดยังพบว่า เด็กเยาวชนจากครัวเรือนยากจน และยากจนพิเศษ ส่วนใหญ่หลุดออกจากระบบการศึกษา ก่อนที่จะมีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนปลาย/เทียบเท่า โดยไม่ได้เข้าเรียนปริญญาตรีสูงถึง 94.7% ซึ่งกสศ. และแสนสิริ คาดหวังถึงอนาคตของเด็ก และอนาคตของประเทศที่ต้องเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น
“กสศ. มีความยินดีที่แสนสิริเล็งเห็นถึงความสำคัญและเข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งแผนการสนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยผลักดันโครงการที่ กสศ. และ หน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ร่วมกันสนับสนุนมาตรการทั้งต่อตัวเด็กเยาวชนและสถานศึกษาโดยตรง และมาตรการการส่งเสริมการรับรู้เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยกลไกการจัดการเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) นับเป็นนวัตกรรมความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงระบบและการแก้ปัญหายั่งยืน จะเป็นตัวแบบของประเทศสามารถต่อยอดขยายผลได้ในอนาคต ที่สำคัญคือการสร้างช่องทางให้ทุกคนสามารถเป็นหนึ่งในการช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้เยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค สำหรับราชบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีต้นทุนการทำงานปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาร่วมกับกสศ. มีฝ่ายนโยบายที่ให้ความสำคัญ มีตัวแบบสถานศึกษา หน่วยจัดการศึกษาทางเลือก บุคลากร อาสาสมัคร ที่สามารถขยายผลการทำงานได้ทันที” ดร.ไกรยส กล่าว
สำหรับหุ้นกู้แสนสิริที่จะเสนอขายในครั้งนี้มีมูลค่าเสนอขายไม่เกิน 100 ล้านบาท อายุ 3 ปี อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ BBB+ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปบริจาคให้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาภายใต้โครงการ Zero Dropout ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท ให้คนไทยสามารถร่วมสร้างประวัติศาสตร์เพื่อเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยให้เด็กหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ไปด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุน 3.20% ต่อปี รับดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ แต่ยังเป็นการลงทุนในอนาคตเด็ก ให้เด็กได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่มีใครหลุดจากระบบการศึกษาและโดนทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเงิน 100 ล้านบาทจากการระดมทุนจะบริจาคให้ กสศ. ทั้งหมด เพื่อปั้น “ราชบุรีโมเดล” เป็นเมืองต้นแบบให้เด็กใน จ.ราชบุรี หลุดจากระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ภายใน 3 ปีให้ได้ กำหนดเปิดจองซื้อ วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 8.30 น. ผ่าน SCB Easy App เท่านั้น ข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ Zero Dropout https://blog.sansiri.com/zero-dropout-main/ หรือโทร 1685.
“เงิน 100 ล้านบาท ที่ได้จากการระดมทุนอาจไม่สามารถช่วยเหลือเด็กทั้งประเทศได้ แต่จะนับเป็นการจุดประกายในการสร้างความหวังให้เกิดการลงมือทำ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของเราในครั้งนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมให้ภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ หันมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ และเมื่อถึงวันนั้นความหวังที่เด็กทั้งประเทศจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ คงเป็นอนาคตที่ไม่ไกลเกินไปนัก” นายเศรษฐา กล่าวสรุป
ที่มา: แสนสิริ