คณะการท่องเที่ยวฯ มธบ. แนะทุกภาคส่วนเร่งวางแผนและออกแบบการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อตอบโจทย์ COP26 และความยั่งยืน ด้วยแนวคิด 4 N
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า การเปิด Test & Go รอบสองตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นับเป็นข่าวดีของวงการท่องเที่ยวไทย อยากจะเชิญชวนให้คนไทยที่ยังมีกำลังซื้อ โดยเฉพาะระดับกลางถึงระดับสูงมีส่วนร่วมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ โดยการท่องเที่ยวในเมืองไทยกันให้มากขึ้นโดยเฉพาะในปีนี้และปีหน้า เพราะผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ธรรมชาติสวยงาม ห้องพักและอาหารราคาไม่แพง การเดินทางสะดวก ไม่แออัด หากเลยช่วงนี้ไปแล้ว เมื่อการท่องเที่ยวจากต่างประเทศกลับมาได้ เชื่อว่าราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการท่องเที่ยวที่อั้นอยู่นาน อย่างไรก็ดี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในประเทศให้ยั่งยืน ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันในการวางแผนและออกแบบการท่องเที่ยวให้สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะแนวทางท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก พร้อมนี้ได้เสนอแนวคิดการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ดังกล่าว ด้วยวิธี 4 N คือ 1. Nature-based tourism, 2. No carbon tourism, 3.Newly designed green activities 4. Networking ดังนี้
- Nature-based tourism
ประเทศไทยมีธรรมชาติสวยงาม ไม่ว่าจะเป็น ทะเล เกาะแก่ง แม่น้ำ ลำธาร น้ำตก ทุ่งนา ป่าเขาฯลฯ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ชอบธรรมชาติ และมีความสุขเมื่ออยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ และงานวิจัยพบว่าการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติสามารถส่งเสริมให้ผู้คนมีทัศนคติและพฤติกรรมในการรักษาสิ่งแวดล้อมและรัพยากรธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การวางแผนที่ดีและการให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จะส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในถิ่นที่อยู่ของตน เนื่องจากเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เชื่อมโยงกับการกระจายรายได้ไปยังชุมชน ลดการกระจุกตัวและความแออัด ซึ่งเป็นแนวทางการลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี การผลักดันการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือการท่องเที่ยวเชิงกีฬาอื่นๆที่ใช้ธรรมชาติเป็นฐาน จึงต้องการการออกแบบเส้นทาง กิจกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม และการจัดการด้านความปลอดภัย เพื่อพร้อมรับการเปิดประเทศหากการระบาดมีสถานการณ์ดีขึ้น - Low or zero carbon tourism
จากการประชุม 2021 United Nations Climate Change Conference หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกล สก๊อตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2030 หรือเพียง 8 ปีจากนี้ หากเราไม่หันมาออกแบบการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ หรือ คาร์บอนเป็นศูนย์ย่างเป็นรูปธรรมในช่วงเวลานี้ คงจะไปถึงเป้าหมายได้ยาก จึงขอเสนอว่าท่องเที่ยวทุกจังหวัดควรมีการวางแผนร่วมกับภาคเอกชนและชุมชน เพื่อสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดแบบคาร์บอนต่ำ (low carbon) หรือคาร์บอนเป็นศูนย์ ( zero carbon) อย่างเป็นรูปธรรม การเดินทางแบบเนิบช้า (slow travel) ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน เช่น การใช้รถม้า (จ.ลำปาง) จักรยานสามล้อ (อ.หัวหิน และเมืองอื่นๆ) การใช้เรือพาย การใช้จักรยาน ควรมีการส่งเสริมให้มากขึ้น จังหวัดที่ยังขาดการเดินทางแบบนี้ควรคิดค้นขึ้นมาใหม่ เช่น การใช้เกวียน รถราง รถไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ เนื่องจากจะเป็นเสน่ห์ และทำให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลารู้จักชุมชนมากขึ้น เกิดการเรียนรู้วิถีชีวิต และจากทฤษฎีการเรียนรู้ การได้ลงมือปฏิบัติหรือมีประสบการณ์ตรง จะทำให้เกิดการจดจำ และความประทับใจ ซึ่งจะส่งเสริมการกลับมาเยือนซ้ำ การออกแบบการท่องเที่ยวแนวนี้แบบจริงจังจะสามารถเพิ่มความน่าสนใจ ลดคาร์บอนและยังช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้น
3.Newly designed green activities
เมื่อนึกถึงการท่องเที่ยว คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับแหล่งท่องเที่ยวด้านกายภาพ ที่พักและร้านอาหาร หลายจังหวัดประสบปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาพักค้างคืนของนักท่องเที่ยวน้อย เช่น 1-2 คืน หรือไม่พักค้างคืนเลย อาจเนื่องมาจากขาดการประชาสัมพันธ์แหล่งท่งเที่ยว หรืออาจไม่มีการออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวที่เพียงพอ เมื่อไม่มีกิจกรรมจึงขาดปัจจัยดึงดูดให้พักค้างคืนหรือพักนานขึ้น ดังนั้นการออกแบบกิจกรรมจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าด้านอื่น นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ หรือนักท่องเที่ยวที่มาซ้ำ ต่างต้องการกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน และใช่เวลาที่มีคุณภาพในเมืองท่องเที่ยว จะเห็นว่าบางจังหวัด เมื่อมีการแนะนำกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น Zipline จะได้รับความนิยม จนเกิดความแออัดในช่วงวันหยุด ดังนั้นการท่องเที่ยวของไทย ควรให้ความสำคัญกับการออกแบบกิจกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะที่กิจกรรมท่องเที่ยวสีเขียวที่คาร์บอนต่ำ หรือคาร์บอนเป็นศูนย์ เช่น การท่องเที่ยวโดยการเดิน การเดินป่า การปีนเขา การพายเรือคายัค การล่องแก่ง การให้เช่าจักรยาน (และมีเส้นทางที่แนะนำ) และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น การเก็บใบชา การเก็บเมล็ดกาแฟ การเก็บผลไม้ การฝึกทอผ้า และกิจกรรมอื่นๆตามวิถีของท้องถิ่น กิจกรรมเหล่านี้สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและสนับสนุนนโยบายลดคาร์บอน หรือ COP26 ของประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น
4.Networking or Collaboration
การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการการประสานงานและทำงานร่วมกันอย่างสูง เนื่องจากประสบการณ์การท่องเที่ยวเป็นภาพขององค์รวม ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์เดินทางในประเทศ การพักแรม การรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนกิจกรรมสันทนาการ และการซื้อของที่ระลึก ในด้านที่พัก ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มระดับสากล ทั้งของธุรกิจที่พัก ออนไลน์ แทรเวล เอเจนซี่ (OTAs) ที่นักเดินจากทั่วโลกทางสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แต่กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในท้องถิ่นและกิจกรรมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหรือในชุมชน อาจจะยังไม่ได้รับการสื่อสารในระดับสากลเท่าที่ควร อาจเนื่องมาจากผู้ประกอบการยังขาดความรู้ในเรื่องการตลาดออนไลน์ ขาดเทคโนโลยี หรือขาดเงินทุน การประสานงานและสนับสนุนระหว่างผู้ประกอบการในจังหวัดหรือท้องถิ่น จึงมีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น การที่โรงแรมอยู่ในแฟลตฟอร์มของ OTAs หรือการทำเว็ปไซต์ของโรงแรม ควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด ระยะทางจากโรงแรมไปยังแหล่งท่องเที่ยว ข้อมูลกิจกรรมการท่องเที่ยว ข้อมูลสินค้าในท้องถิ่น ร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึก โรงแรมอาจมีเงื่อนไข ข้อตกลงด้านการตลาดกับผู้ประกอบการต่างๆ การประสานงานและการทำงานร่วมกัน จะก่อให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดังนั้นการมีสมาคมการท่องเที่ยวที่มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นเวทีในการเจรจาความร่วมมือต่างๆได้
ในระยะเวลาที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 หลายๆประเทศหันมารณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันท่องเที่ยวภายในประเทศ และเร่งวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืนและตอบโจทย์ COP26 จึงขอให้ประเทศไทยผลักดันการพัฒนาการท่องเที่ยวด้วย 4N เพื่อให้สามารถครองตำแหน่งผู้นำด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน
ที่มา: คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์