ม.มหิดล “ปักหมุด” พื้นที่ทางศาสนา”ลดต่าง” ด้วย “เป้าหมายร่วมแห่งสุขภาวะ”
จะเป็นอย่างไร ถ้าโลกนี้หมุนไปด้วยวงล้อแห่งสันติภาพ และอยู่ภายใต้ผ้าห่มอันอบอุ่นที่ถักทอด้วยสายใยแห่งมิตรภาพ โดยมีปลายทาง คือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความยั่งยืน
ความหวังเดียวที่ทำให้ไปถึงการบรรลุเป้าหมายแห่งสันติภาพที่ยั่งยืนได้นั้น คือ การส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในมวลมนุษยชาติ โดยให้ถือเป็น “วาระของโลก” ที่ทุกคนต้องใส่ใจดูแล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา(IHRP) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่ม “โครงการเพื่อนรักต่างศาสนา” โดยการนำทีมลงพื้นที่ชายแดนใต้ถักทอสายใยแห่งสันติภาพ ร่วมกับการนำองค์ความรู้ทางสุขภาวะซึ่งเป็นเรื่องถนัดของมหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็น “ทูตสันถวไมตรี” โดยได้ระดมเอาเครือข่าย ทั้งที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พร้อมด้วยนักกระบวนกรด้านการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งเชิงลึกด้วยสันติวิธี ร่วมสร้างสรรค์สังคมแห่งสุขภาวะ และสังคมอุดมปัญญา เพื่อเยียวยาความบอบช้ำด้วยปัญหาความรุนแรงจากความขัดแย้งต่างๆ ที่ผ่านมาในพื้นที่ชายแดนใต้
ด้วย “ทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำทางสังคม” ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยมหิดล และทุนอื่นๆ ในระดับชาติ และนานาชาติที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกวันนี้ โครงการเพื่อนรักต่างศาสนา นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สามารถ “ปักหมุด” ลงในพื้นที่ทางศาสนา ซึ่งได้แก่ วัดไทย และมัสยิดของชาวไทยมุสลิม ให้เป็นพื้นที่ทางสังคมร่วมกันของชุมชนในชายแดนใต้ โดยได้สร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ฯ ให้เป็น”เมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพ” ที่ได้รับการบ่มเพาะและรอวันเติบโตสู่การเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (Change Agents) สู่โลกใหม่ที่ไร้พรมแดนแห่งอคติทางเชื้อชาติศาสนา และวัฒนธรรม
เป็น “โมเดลเพื่อนรักต่างศาสนา (Interfaith Buddy)” ที่สร้างขึ้นได้อย่างชาญฉลาด โดยสามารถแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งสู่ “สนามแห่งมิตรภาพ” ที่ทำให้พี่น้องชาวไทยและมุสลิมสวมกอดกันได้ด้วยการมี “เป้าหมายแห่งสุขภาวะ” ร่วมกัน
ซึ่งจากการลงพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อดำเนินโครงการเพื่อนรักต่างศาสนา เมื่อเร็วๆ นี้ โดยใช้พื้นที่ทางศาสนา ซึ่งเป็นศูนย์รวมทางสังคมของชุมชนฯ มาเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้าน พบว่าได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งได้มาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างไม่ขัดเขิน เพราะต่างมุ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องพิธีกรรมแต่อย่างใด
นอกจากนี้ โครงการเพื่อนรักต่างศาสนา ยังได้มีการสร้างสรรค์ ถอดบทเรียนประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการฯ มาจัดทำเป็นข้อเขียนประเภทบทความ และหนังสือต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมาอีกมากมาย โดยล่าสุดได้ผลิตหนังสือ ชื่อ “เพื่อนรักต่างศาสนามิตรภาพการปรองดอง และการก้าวข้ามความขัดแย้ง” เตรียมส่งเผยแพร่แหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชนชายแดนใต้และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
“ตัวอย่างเรื่องเล่าเรียกรอยยิ้มในฉบับ ได้แก่ เรื่อง “ครูไข่แลน” ที่เป็นชื่อเรียกครูชาวไทยพุทธท่านหนึ่งซึ่งสอนอยู่ใน”ปอเนาะ” หรือโรงเรียนชาวไทยมุสลิมทางชายแดนใต้ ที่ได้ฉายาดังกล่าว เพราะเจอ “แลน” หรือ “ตะกวด” ที่ไหนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาชาวไทยมุสลิมมักเรียกครูชาวไทยพุทธท่านนี้ไปช่วยดูแล และตามเก็บไข่ตะกวดมาแจกจ่ายให้ชาวไทยพุทธ เนื่องด้วยความรู้ ความเข้าใจ และหลักปฏิบัติทางศาสนาอิสลามในสมัยนั้นของชาวมุสลิมจะไม่รับประทานตะกวด รวมถึงไข่ของตะกวดด้วย เช่นเดียวกับหมูป่า ในขณะที่เพื่อนชาวไทยพุทธรับประทานได้ เป็นต้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ กล่าว
เพื่อร่วมถักทอสายใยแห่งสันติภาพให้สามารถขยายผลได้ในวงกว้างอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ก้าวต่อไปทางคณะทำงานโครงการเพื่อนรักต่างศาสนา เตรียมผลักดันหนังสือ “เพื่อนรักต่างศาสนา มิตรภาพการปรองดอง และการก้าวข้ามความขัดแย้ง” สู่โลกออนไลน์ โดยประชาชนผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าของโครงการฯ ได้ทาง Facebook: IHRP.Mahidol หรือ Interfaith Buddy for Peace
แม้ในอนาคตโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดมหาวิทยาลัยมหิดล โดย
โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (IHRP) พร้อมยืนหยัดเพื่อสร้างสังคมแห่งสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนเพื่อมวลมนุษยชาติต่อไป โดยเชื่อมั่นในปรัชญาพื้นฐานที่ว่า “No Peace Without Justice” เมื่อไม่มีความเป็นธรรม ก็จะไม่เกิดสันติภาพ และสันติภาพจะดำรงอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อทุกคนเคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล