นักวิชาการวิศวะมหิดล ชี้ความต่างของสึนามิจากภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุ กับสึนามิจากแผ่นดินไหว
ท่ามกลางภัยจากโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ชาวโลกต้องตื่นตระหนกกับภัยพิบัติธรรมชาติที่น่าสะพรึงกลัวเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา การปะทุภูเขาไฟใต้ทะเลบนเกาะที่ชื่อ ‘ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย’ ทำให้ประเทศตองกากลางมหาสมุทรแปซิฟิกถูกปกคลุมไปด้วยเถ้าถ่านภูเขาไฟ และได้รับความเสียหายอย่างหนัก การระเบิดนี้ยังก่อให้เกิด ‘สึนามิ’ ความสูง 1.5 – 2 เมตร ซัดเข้าชายฝั่งตองกาและอีกหลายประเทศต่อมา
เสียงกึกก้องดังไกลไปถึงนิวซีแลนด์ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 2,383 กิโลเมตร ในเวลาต่อมาไม่นาน คลื่นมวลอากาศนี้จึงเดินทางมาถึงน่านฟ้าประเทศไทยที่อยู่ห่างกว่า 1 หมื่นกิโลเมตร ซึ่งสามารถตรวจวัดได้โดยสถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าของ NARIT หรือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ เปรียบว่าการประทุดังกล่าวมีความรุนแรงเท่ากับระเบิดฮิโรชิม่า 1,000 ลูก ทั้งนี้ดาวเทียมสำรวจ GOES West ได้จับภาพวินาทีระเบิดของภูเขาไฟไว้ได้
รศ.ดร. ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภูเขาไฟใต้น้ำเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติโลก พื้นที่บริเวณเกิดเหตุภูเขาไฟปะทุใต้ทะเล ประเทศตองกาในมหาสมุทรแปซิฟิก แถบนี้เป็นแนวบริเวณที่เรียกว่า ‘วงแหวนแห่งไฟ’ (Ring of Fire) ยาวกว่า 40,000 กิโลเมตรซึ่งเป็นแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกกันอยู่ ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวและมีภูเขาไฟใต้น้ำภายในวงแหวนไฟ ที่ยังคุกกรุ่นอยู่ลอดเวลา จนทำให้เกิดเป็นเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกขึ้นมา โดยเหตุการณ์ภูเขาไฟตองกาปะทุใต้ทะเลนี้ นับว่ารุนแรงสุดในรอบ 30 ปี นับจากการระเบิดของภูเขาไฟพินาตูโบเมื่อปี 2534 ทางด้านตะวันตกของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ โดยเป็นการปะทุขึ้นอย่างรุนแรงหลังจากที่หลับใหลมานานกว่า 600 ปี คงจำกันได้ว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 800 คนและอีก100,000 คนกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย
สำหรับภูเขาไฟตองกาปะทุ ส่งผลให้ภูเขาไฟพ่นควัน เถ้าถ่าน แก๊สและไอน้ำสูงจนสามารถเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียม และเกิดคลื่นยักษ์ที่พัดผ่านแนวชายฝั่งในเมืองนูกูอาโลฟาเมืองหลวง ทำให้น้ำท่วมถนนเลียบชายฝั่ง บ้านเรือนเสียหาย และเกิดสึนามิเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งของเกาะ Tongatapu ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศตองกา ศูนย์เตือนภัยสึนามิ ออกคำเตือนให้ระวังเกิดสึนามิซัดชายฝั่งหลายประเทศริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเมื่อเวลา 11.27 น. (15 ม.ค) ตามเวลาประเทศไทย ได้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนตัวเข้าหาชายฝั่งหลายๆ ประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีความสูงคลื่นประมาณ 0.1- 1.2 เมตร เช่น ที่ฟิลิปปินส์ 0.20 เมตร ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และชิลี 1.0 -1.2 เมตร แต่ไม่เกิดสึนามิที่ทุ่นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลอันดามัน ประเทศไทย จึงขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ไม่ต้องกังวล ส่วนจังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยก็ไม่มีผลกระทบเช่นกัน
สึนามิจากภูเขาไฟที่ปะทุใต้น้ำ หากเทียบกับสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหว มีความแตกต่างกัน เนื่องจากหากเป็นแผ่นดินไหวเครื่องมือตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจะสามารถประเมินขนาดแผ่นดินไหวและออกคำเตือนสึนามิได้ดีกว่า ซึ่งจะทราบได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดเท่าไหร่ และมีโอกาสในการเกิดสึนามิได้หรือไม่ และหากเกิดภัยพิบัติสึนามิขึ้น จะสามารถระบุแนวชายฝั่งที่น่าจะถูกคลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งได้ดีกว่า และประกาศเตือนภัยได้ทัน แต่สำหรับภูเขาไฟที่ปะทุใต้น้ำแล้วก่อให้เกิด สึนามิ นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ไม่ได้เกิดบ่อย ทำให้การประเมินเตือนภัยสึนามิทำได้ยากและล่าช้ากว่าเพราะยังขาดข้อมูลแบบจำลองในการคาดการณ์ผลกระทบ ส่วนลักษณะของลาวาใต้ทะเล จะเหมือนกันกับภูเขาไฟระเบิดบนบก และจะมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กร่วมด้วย และการไหลออกมาใหม่ของลาวาและการประทุที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงน่าจะส่งผลให้ภูมิทัศน์โดยรอบเปลี่ยนไป ล่าสุดมีรายงานจากภาพถ่ายดาวเทียมคาดว่าบางส่วนของเกาะ ‘ฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย’ ที่ตั้งภูเขาไฟนี้หายไป รวมถึงส่งรวมถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงด้วย เช่น ภูเขาไฟมีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำและออกซิเจน จะเกิดเป็นฝนกรด การกัดเซาะชายฝั่ง แนวปะการังที่ถูกทำลาย เป็นต้น
จากจุดเกิดเหตุ บริเวณที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ประเทศตองกา ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 60 กิโลเมตร อาจจะถูกปกคลุมด้วยเถ้าลาวา ทำให้การสื่อสารกับโลกภายนอกเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่งผลให้การช่วยเหลือจากต่างชาติเป็นไปอย่างล่าช้า แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว หลายประเทศเริ่มมีการยกเลิกการยกระดับการเตือนที่จะเกิดสึนามิออกแล้ว และอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง แต่ยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า จะเกิดเหตุการณ์อย่างไรต่อไป คาดว่าการประทุของภูเขาไฟคงมีต่อเนื่องไปอีกสักช่วงเวลาหนึ่ง แต่คงไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าจะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่
รศ.ดร. ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ กล่าวสรุปท้ายว่า หากเปรียบเทียบกับสึนามิที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอันดามันในปี 2547 ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศไทยโดยครั้งนั้นมีสาเหตุจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ใต้ทะเล หากเกิดขึ้นในปัจจุบันการส่งสัญญาณเตือนภัยเราสามารถทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน แต่สำหรับสึนามิที่เกิดจากภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดครั้งนี้ ทำให้การออกคำเตือนได้ยากกว่า ส่วนความสูงของคลื่นสึนามิจากภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดตองกามีระดับต่ำว่าคลื่นสึนามิจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ใต้ทะเล ในอนาคตนานาประเทศควรจะศึกษาและทำฐานข้อมูลภูเขาไฟใต้ทะเลมากยิ่งขึ้นเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ลดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น