“MU PRESS” ม.มหิดล ผลิต e-book จรรโลงสังคม จากงานวิจัยทดสอบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ครั้งแรก
“ฉันไม่ต้องการให้เธอเป็นแพทย์เท่านั้น แต่ต้องการให้เธอเป็นมนุษย์ด้วย” พระราชดำรัสแห่ง พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งได้บ่งบอกถึง “หัวใจของความเป็นมนุษย์” นั้น ไม่ได้เป็นเพียงหัวใจของวิชาชีพแพทย์เท่านั้น แต่คือ”หัวใจของคนมหิดล” ทุกคนในทุกสาขาวิชา ซึ่งรวมถึงสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีกลไกทางการตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน
จากแนวคิดดั้งเดิมของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งสู่การหา “จุดสมดุล” (Balance) แห่งอุปสงค์(Demand) และอุปทาน (Supply) ซึ่งมีผลกำไรเป็นตัวขับเคลื่อน ที่ผ่านมาไม่มีงานวิจัยใดๆ ทางเศรษฐศาสตร์ที่จะใส่ “หัวใจของความเป็นมนุษย์” หรือการให้คุณค่าแห่งจิตใจลงไปเป็นตัวตั้ง
นับเป็นครั้งแรกที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิรองคณบดีฝ่ายการคลังและทรัพยากรบุคคล และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประพันธ์หนังสือ เรื่อง “Behavioral Game” จากผลการวิจัยที่ได้ริเริ่มขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งปัจจุบันได้รับการพัฒนาขึ้นเป็น e-book ฉบับแรกและฉบับเดียวที่เป็นภาษาอังกฤษ และติด Top Seller ของ “MU PRESS” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มหาวิทยาลัยมหิดล และ “อุ๊คบี” ผู้นำแห่งวงการ e-book เมืองไทย ร่วมกันพัฒนาขึ้น โดยหวังเป็นแนวทางเพื่อการบ่มเพาะนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์จรรโลงสังคม และขยายผลต่อไปสู่ระดับนานาชาติ ด้วยการใช้ภาษาอังกฤษที่สามารถเข้าถึงทุกคนบนโลก
ใน e-book เรื่อง “Behavioral Game” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทางแอปพลิเคชัน “MU PRESS” นี้ ได้มีการกล่าวถึงการทดลองวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งยศเจียรวุฑฒิ ที่ได้ใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) ซึ่งเป็นการผสมผสานจิตวิทยาเข้ากับเศรษฐศาสตร์ ผ่านกระบวนการทดลองในบริบทของคนไทย
โดยผู้เข้าร่วมการทดลองได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในเกมเศรษฐศาสตร์รวม 7 เกม อาทิ “Dictator Game” ที่ได้มีการทดลองให้เงินแก่ผู้เข้ารับการทดสอบที่เป็นคนไทยจำนวนหนึ่ง แล้วตั้งคำถามว่าจะมอบให้ผู้เข้ารับการทดสอบที่เป็นคนไทยอีกคนหรือไม่ จำนวนเท่าใด แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์และเปรียบเทียบ ซึ่งผลวิจัยที่ได้พบว่าในขณะที่ค่าเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 28 แต่ของคนไทยมีสูงกว่าในอัตราร้อยละ 38 เป็นต้น
ผลของเกมนี้ และเกมอื่นๆ ที่ใช้ในการทดสอบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าคนไทยไม่ได้มุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญต่อผู้อื่นด้วย
และเมื่อค้นหาต่อไปถึงตัวแปรที่แตกต่าง พบว่าเกิดจากคนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมที่เน้นในเรื่องของ “การให้” และ”ความมีน้ำใจ” ซึ่งการนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมที่เน้นแต่เพียงผลกำไรเป็นตัวตั้ง ไม่อาจทำให้การดำเนินเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความยั่งยืน
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ ได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างจากวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงแรกพบว่าสินค้าที่เคยมีราคาสูง ได้แก่ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค และชุดตรวจATK ไม่ควรนำกลไกตลาดมาใช้ในทุกกรณี
นอกจากนี้ ผลจากการทดลองยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการได้พิจารณาในการทำการตลาดของสินค้าประเภทอื่นๆ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งไม่อาจใช้กลไกทางการตลาดฉวยโอกาสขึ้นราคาในช่วงวิกฤติได้
“แม้โลกจะเปลี่ยนไป แต่คำว่า “ถ้อยทีถ้อยอาศัย” และ”เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ยังใช้ได้เสมอสำหรับการประกอบการในช่วงวิกฤติ ที่ทุกคนอยู่บนเรือลำเดียวกัน ต้องเผชิญกับความยากลำบากด้วยกัน เพียงใช้ “หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์” เชื่อว่าคนไทยและทุกคนบนโลกใบนี้จะสามารถฝ่าฟันวิกฤติไปได้ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข” รองศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งยศ เจียรวุฑฒิ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามอ่าน “Behavioral Game” และ e-book เรื่องต่างๆที่มากคุณภาพ ด้วยองค์ความรู้ที่เป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมอบให้เพื่อสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญาได้ทางแอปพลิเคชัน “MU PRESS” ทั้งในระบบ iOS และ Android ได้แล้ววันนี้
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล