ม.มหิดล จัดหลักสูตรการจัดการความปวด สู่การเป็นนักกายบำบัดมืออาชีพ
ปัจจุบันหลักสูตรกายภาพบำบัดแนวใหม่ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฝึกทักษะทางคลินิก ด้วยการให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทฤษฎี และฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้น จนมั่นใจได้ว่าบัณฑิตที่จบออกไปทุกคนมีคุณภาพพร้อมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักกายภาพบำบัดมืออาชีพอย่างแท้จริงเนื่องด้วยความรู้เพียงแค่ทฤษฎีไม่อาจทำให้เกิดประโยชน์ได้ หากไม่มีการนำไปใช้จริง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์วดี บรรพระจันทร์ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชากายภาพบำบัดคลินิก คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงหลักสูตรปริญญาโทกายภาพบำบัดแห่งแรกในประเทศไทยว่าอยู่ที่ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเกือบ 4 ทศวรรษในการริเริ่มจัดตั้งหลักสูตรดังกล่าว และได้มีการปรับปรุงจนเป็นหลักสูตรที่เน้นด้านคลินิก หรือการฝึกปฏิบัติเช่นปัจจุบัน
เพื่อสนองรับสังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนประชาชนในทุกกลุ่มหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัดคลินิก คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้มีการออกแบบให้สามารถจัดการปัญหาทางกายภาพบำบัดที่ซับซ้อนซึ่งครอบคลุมใน 7 สาขาวิชา ได้แก่ ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบหายใจ หัวใจ และหลอดเลือดกายภาพบำบัดเด็ก กายภาพบำบัดทางการกีฬากายภาพบำบัดชุมชนและการส่งเสริมสุขภาพ และกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดให้นักกายภาพบำบัดวิชาชีพได้Upskill – Reskill ลงทะเบียนเรียนออนไลน์ในรายวิชา”ทฤษฎีและการจัดการความปวด” เพื่อเสริมทักษะทางวิชาชีพ ในโครงการ MAP-C (Mahidol Apprenticeship Program Curriculum) สำหรับบุคคลทั่วไปของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผู้สำเร็จรายวิชาจากโครงการ MAP-C สามารถเทียบโอนหน่วยกิตเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัดคลินิกของคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทันที หรือจะเลือกช่องทางการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ในรูปแบบการอบรมวิชาการเชิงปฏิบัติการ ซึ่งไม่ต้องมีการสอบเก็บคะแนน ในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยไม่ต้องลางานมาเข้ารับการฝึกปฏิบัติออนไลน์อีกด้วย นอกจากนี้ผู้เรียนจะได้ร่วมสัมมนาออนไลน์เพื่อฝึกแก้ปัญหาจัดการความปวดในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับผู้เรียนในโครงการ MAP-C ซึ่งนักกายภาพบำบัดวิชาวิชาชีพที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดการรับสมัครได้ที่https://liff.line.me/1645278921-kWRPP32q/?accountId=384rtrva
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์วดี บรรพระจันทร์ ยังได้แนะนำวิธีการจัดการความปวดอย่างง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นวิธีที่ทุกคนเคยเรียน แต่เมื่อถึงเวลาใช้จริง ส่วนใหญ่มักนึกไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไร ระหว่างการใช้ความร้อน และความเย็นในการประคบบริเวณที่ปวดมีวิธีจำง่ายๆ คือ “ร้อนห้ามเจอร้อน”
หากมีอาการปวดอย่างเฉียบพลัน จนบริเวณที่ปวดเกิดอาการบวมแดงอักเสบ เช่น ข้อเท้าพลิก ให้บรรเทาอาการด้วยการประคบเย็นในช่วงแรกของการบาดเจ็บ
แต่ถ้าปวดแบบเรื้อรัง โดยไม่มีอาการอักเสบร่วมด้วย เช่นปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ หรือบริเวณเข่า ให้บรรเทาอาการด้วยการประคบร้อน
เทคนิคของการประคบเย็น คือ ให้ใช้เจลเย็น หากไม่มีให้ใช้ถุงน้ำแข็งประคบ โดยใช้น้ำแข็งผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 1 ประคบบริเวณที่ปวดเป็นเวลา 15 – 20 นาที ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง โดยระหว่างประคบจะต้องไม่รู้สึกเย็นจนเกินไปเพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดผิวหนังไหม้ (burn) ได้ ซึ่งการประคบเย็นที่ถูกวิธีจะช่วยลดความปวด รวมทั้งอาการอักเสบและป้องกันเนื้อเยื่อไม่ให้ได้รับการบาดเจ็บมากจนเกินไป
ส่วนเทคนิคการประคบร้อน ให้ใช้แผ่นร้อนไฟฟ้า หรือกระเป๋าน้ำร้อนประคบตรงบริเวณที่มีอาการปวดประมาณ 15 – 20 นาที ระหว่างประคบควรใช้ความร้อนที่พอรู้สึกอุ่นสบาย ไม่ร้อนจนเกินไป แต่ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่ายิ่งร้อนยิ่งดี โดยการประคบร้อนที่ถูกวิธีจะช่วยลดปวด ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ทำให้เลือดไหลเวียนมาในบริเวณที่ประคบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเร่งให้กล้ามเนื้อได้ซ่อมแซมฟื้นตัวดีขึ้น
โดยทั้งหมดนี้สามารถติดตามได้จากบทความและคลิปวีดีโอที่น่าสนใจเกี่ยวกับกายภาพบำบัดน่ารู้สำหรับประชาชน เพื่อการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนจาก Facebook : คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลและเว็บไซต์ของคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลwww.pt.mahidol.ac.th
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล