ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ ได้รับรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดาวรุ่ง ประจำปี 2564 จากสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย
สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (สนธ.) ประกาศรายชื่อนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นและนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดาวรุ่ง ประจำปี 2564 เพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่นักเรียนทุนรัฐบาลไทย โดยการคัดเลือกครั้งนี้ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดาวรุ่งประจำปี พ.ศ. 2564 โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564
ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ เกิดที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่ออายุ 16 ปีได้รับทุนรัฐบาลไทยประจำปี 2537 เพื่อศึกษาในระดับปริญญาตรี-โท-เอก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเคมี (เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นครนิวยอร์ก (Columbia University, New York) ในปีพ.ศ. 2542 ด้วยคะแนนสูงสุดจึงได้รับรางวัล Bonilla Medal และได้รับการจารึกชื่อไว้ที่มหาวิทยาลัยด้วย นอกจากนี้ยังได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิก Tau Beta Pi National Engineering Honor Society ของมหาวิทยาลัยทั้งประเทศของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมเคมีที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย(Stanford University,California) ระหว่างที่ศึกษาต่อยังได้รับรางวัลผู้ช่วยสอนดีเยี่ยม (Outstanding Teaching Award) ประจำปีพ.ศ. 2546 ของภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ด้วย ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 2547 ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ระดับดีเยี่ยม ประจำปีพ.ศ. 2549 จากสภาวิจัยแห่งชาติ
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.นิศรา กลับมาทำงานในตำแหน่งนักวิจัยที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติในปี 2547 โดยนำเทคโนโลยีไมโครอะเรย์มาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยและพัฒนาต่างๆ และในปี 2550 ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร (Microarray) และดำรงตำแหน่งหัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจรด้วย จากนั้นในระหว่างปี พ.ศ. 2555-2561 ดร.นิศรา ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยทางชีวภาพ ดร.นิศรา และทีมถือเป็นผู้บุกเบิกในการใช้การพัฒนาเทคโนโลยีฐานแบบอะเรย์ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาชุดตรวจเชื้อก่อโรคพืช เชื้อก่อโรคในอาหารและสารพิษจากเชื้อราที่สามารถตรวจหาเชื้อได้หลายชนิดพร้อมๆกัน นอกจากนี้ ดร.นิศรา ยังประสบความสำเร็จในการนำฐานข้อมูลการแสดงออกของยีนมาช่วยในการถอดรหัสจีโนมกุ้งกุลาดำสำเร็จเป็นทีมแรกของโลก ปัจจุบัน ดร.นิศรา ดำรงตำแหน่งนักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
ดร.นิศรา มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติมากกว่า 70 เรื่อง เป็นผู้ประเมินผลงานตีพิมพ์ให้วารสารนานาชาติมากกว่า 21 วารสาร และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินข้อเสนอโครงการให้กับสหภาพยุโรป (European Union-EU) ได้ดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการพัฒนาชุดตรวจ 22 ฉบับ อนุสิทธิบัตร 8 ฉบับ งานวิจัยต้นแบบ 13 ผลงาน หนึ่งในผู้เขียนหนังสือซึ่งได้รับการรวมรวมและตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม (a book chapter) ข้อตกลงความลับทางการค้า (Trade Secret) ได้รับเชิญเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยมากกว่า 80 เรื่องทั้งในทั้งประเทศและต่างประเทศ ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น รางวัล The Outstanding ONE HEALTH Researcher in Aquaculture Award from the American National Shellfisheries Association 2021 รางวัล ‘Women Scientists in Asia’ by the Association of Academies and Societies of Sciences in Asia (AASSA) and InterAcademy Partnership (IAP) 2018, ได้รับพระราชทานรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2554 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับทุนวิจัย Marie Curie Incoming International Fellowship จากสหภาพยุโรป (European Union-EU) ได้รับรางวัล ‘For Women in Science’ จาก L’Oreal (Thailand) -UNESCO รางวัลผลงานประดิษฐคิดค้นประจำปี 2553 จากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2557 จากสภาวิจัยแห่งชาติ ได้รับการสัมภาษณ์และตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature ได้รับเลือกให้เป็น Young Global Leader 2013 จาก World Economic Forum เป็นต้น และเป็นยังผู้เขียนและเจ้าของหนังสือ Best Seller ชื่อ ‘Push the Limit เก่งได้…ไร้ขีดจำกัด’ นอกจากนี้ ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติอีกด้วย
ที่มา: ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ