ม.มหิดล ชี้อุปสรรควิจัยสมองเสื่อม ขาดฐานข้อมูลคนไทย
นับตั้งแต่ Alois Alzheimer จิตแพทย์ชาวเยอรมัน ได้ค้นพบโรคอัลไซเมอร์ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2449 และได้มีการนำชื่อของผู้ค้นพบมาเป็นชื่อโรคที่มีอาการเสื่อมของเนื้อเยื่อสมอง ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากค่ารักษาพยาบาล และการดูแลผู้ป่วยจำนวนมหาศาล จากอุบัติการณ์แนวโน้มของผู้ป่วยโรคดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยยังไม่พบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด
แต่นั่นคือความเสื่อมของความจำ ความคิดอ่าน ที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และอาจมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและอารมณ์ร่วมด้วย คือ อาการของสมองเสื่อม ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด เรียกอาการเหล่านี้ของผู้สูงวัยว่าเป็น “โรคอัลไซเมอร์” แท้ที่จริงแล้วอาการหลงลืมของผู้สูงวัยเป็น “ความเสื่อมตามธรรมชาติ” ที่อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นได้ด้วย และสามารถชะลอการเกิดอาการดังกล่าวได้ตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า อาการสมองเสื่อมมีสาเหตุเกิดได้จากหลายโรค แม้จะป้องกันไม่ได้ 100% จากการเสื่อมตามอายุ แต่ก็สามารถป้องกันได้ถึงประมาณ 40% จากการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตตั้งแต่ก่อนเป็นผู้สูงวัย โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเสื่อมของหลอดเลือดทั้งทางกายและทางใจ
ทางกาย ควบคุมได้จากการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่หวาน เค็ม และมันมากเกินไป ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง และหากมีโรคดังกล่าวอยู่เดิม ก็ควรควบคุมให้ดี
นอกจากนี้ควรงดสูบบุหรี่ และไม่อยู่ในอากาศที่เป็นมลพิษหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนระวังการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้สมองได้รับความกระทบกระเทือน
ในส่วนของการเลือกรับประทานอาหารเพื่อชะลอการเกิดอาการสมองเสื่อม ในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาวมีความแตกต่างกันตรงที่ เด็กต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ไปพร้อมๆ กับเสริมการเรียนรู้เพื่อให้มีพัฒนาการเจริญเติบโตทั้งทางกายและทางสมองตามวัย แต่ในวัยหนุ่มสาวเป็นต้นไป ควรเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยให้เน้นผัก ธัญพืช อาหารที่ให้โปรตีนอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแคลอรี่สูงเกินจำเป็น และไขมันอิ่มตัว
ส่วนทางใจ ควบคุมได้จากการปรับอารมณ์ และสังคม โดยพยายามไม่แยกตัวจากสังคม และมีการปรับสมดุลทางอารมณ์ ซึ่งการปล่อยให้เกิดความเครียดที่บ่อยครั้ง และนานเกินไป จนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า พบว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดอาการสมองเสื่อมก่อนวัยได้เช่นกัน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีรศักดิ์ เมืองไพศาล เป็นอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและระบบประสาทซึ่งมีผลงานด้านการศึกษาวิจัยผู้ป่วยสูงวัยที่มีอาการสมองเสื่อมซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติและสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบกับผู้สูงวัยที่มีอาการปกติ โดยได้ให้เหตุผลที่สนใจทำวิจัยในด้านดังกล่าวว่า แม้จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ยังไม่มีฐานข้อมูลที่เป็นของคนไทย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการต่อยอดรักษาที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ยังได้ทำวิจัยเกี่ยวกับภาพรังสีวินิจฉัยอาการสมองเสื่อม เครื่องมือทดสอบสมองเสื่อม และการใช้สมุนไพรเพื่อป้องกันอาการสมองเสื่อม โดยที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มีการจัดประชุมวิชาการระดมสมองแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านดังกล่าว ร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังจะเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้คนไทยห่างไกลจากอาการสมองเสื่อม และเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป.
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจได้จาก www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล