นักวิจัย ม.ราชภัฎเชียงใหม่ นำวัสดุเหลือทิ้งจากมะม่วง พัฒนาเป็น “แผ่นผักลดระดับน้ำตาลในเลือด” ตอบโจทย์สำหรับกลุ่มคนที่รักสุขภาพ
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ พืชผัก และผลไม้ตำบลบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผักและผลไม้ปลอดสารเคมีที่มีความเข้มแข็งโดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีฟรีซดราย มาใช้ในการแปรรูปผลผลิต เช่น ลำไย มะม่วง สัปปะรด สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานจากคณะกรรมการอาหารและยา และได้รับการรับรองระบบการเกษตรอินทรีย์สากลจาก International federation of Organic Agriculture Movement ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความต้องการสูงและเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ โดยความสำเร็จของผลไม้แปรรูปนี้ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ทำให้กลุ่มวิสาหกิจประสบผลสำเร็จ เป็นวิสาหกิจชุมชนมีศักยภาพในระดับดีจากการประเมินสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
อาจารย์ ดร.สิวลี รัตนปัญญา อาจารย์ประจำภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เล่าที่มารูปแบบงานวิจัยการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งจากมะม่วง เพื่อให้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพในการลดระดับน้ำตาล โดยการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ว่า จากการประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ พืชผัก และผลไม้ ตำบลบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน และเครือข่ายเพื่อการขยายผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อการเรียนรู้ร่วมกับคณะนักวิจัย มีความต้องการใช้วัสดุทางการเกษตรที่เหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ต่อกลุ่มวิสาหกิจและชุมชน รวมถึงลดขยะ
หนึ่งในผลไม้ที่กลุ่มใช้แปรรูปเป็นจำนวนมากคือ มะม่วง ซึ่งในกระบวนการแปรรูปมะม่วงจะมีเปลือก และเมล็ด เป็นส่วนที่เหลือทิ้ง โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างน้อย 100 ตันต่อเดือน จากการทบทวนวรรณกรรมคณะนักวิจัยพบว่า ในเมล็ดและเปลือกมะม่วงอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิชะลอการการเกิดปฎิกิริยาออกซิเดซันในเซลล์ได้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือด ลดระดับไขมันในเลือด ต้านการอักเสบ และรักษาแผลในระบบทางเดินอาหาร
สำหรับการศึกษาครั้งนี้เป็นศึกษาวิจัยเชิงทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาสารสกัดของเมล็ดและเปลือกมะม่วง เพื่อการลดระดับน้ำตาลในเลือด และพิษวิทยาระดับเฉียบพลันของสารสกัดหยาบของเมล็ดและเปลือกมะม่วงในจานทดลองและในสัตว์ทดลอง โดยดำเนินการวัดปริมาณสาระสำคัญเบื้องต้น ได้แก่ Gallic acid และ Mangiferin ด้วยเครื่อง U/HPLC และ การตรวจสอบสารพฤกษเคมีเบื้องต้น 5 ชนิด ได้แก่ เทอร์ปีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ ซาโปนิน แอลคาลอยด์ และแทนนิน วิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH assay และวิธี FRAP assay ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการยับยั้งเอนไซม์ alpha-glucosidase และ เอนไซม์ alpha-amylaseในจานทดลอง การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดของเมล็ดและเปลือกมะม่วง เพื่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูเบาหวาน
อาจารย์ ดร.สิวลี กล่าวด้วยว่า การศึกษาสารสำคัญในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดหยาบเปลือกและเมล็ดในของมะม่วงในจานทดลอง พบว่า สารสกัดเปลือกมะม่วงและเมล็ดในมะม่วงมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ alpha-glucosidase ซึ่งมีความแรงคิดเป็นร้อยละ 43.92 และร้อยละ 19.69 เท่า ของสารมาตรฐาน acarbose นอกจากนี้สารสกัดเปลือกมะม่วงและเมล็ดในมะม่วงยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ alpha-amylase ซึ่งมีความแรงคิดเป็นร้อยละ 0.017 และ ร้อยละ0.003 เท่า ของสารมาตรฐาน acarbose โดยไม่ก่อให้เกิดพิษต่อเซลล์ปกติ
โดยจากผลการศึกษาสารสกัดหยาบจากเมล็ดเนื้อในมะม่วงกับสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยหนูกลุ่มเบาหวานที่ได้รับสารสกัดจากเมล็ดเนื้อในมะม่วงขนาด 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยการปกป้องความเสียหายของเซลล์ไอซ์เลตในหนูเบาหวาน ในส่วนของความทนทานต่อน้ำตาลในหนูเบาหวาน พบว่าหนูกลุ่มเบาหวานที่ได้รับสารสกัดจากเมล็ดเนื้อในมะม่วงขนาด 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 30 วัน สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดภายใน 120 นาที อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และยังอาจส่งผลเพิ่มการทำงานของเบต้าเซลล์ในตับอ่อนให้มีการหลั่งของอินซูลินเพิ่มขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับและไตในหนูเบาหวาน
ส่วนการทดลองในคน ขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผนขอทุนสนับสนุนงานวิจัย เพื่อให้ผลงานวิจัยนี้สามารถนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับชุมชน และในอนาคตจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อมาตอบโจทย์สำหรับกลุ่มคนที่รักสุขภาพ
สำหรับสารสกัดหยาบจากเมล็ดเนื้อในมะม่วง ถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ “แผ่นผัก” มีรูปแบบลักษณะคล้ายกับแผ่นสาหร่าย ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้แล้ว ยังเป็นทางเลือกสำหรับคนที่รักสุขภาพ เนื่องจากสามารถใส่ลงไปปรุงรสในการประกอบอาหารได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการทดลองในคน และยังต้องมีการพัฒนาร่วมกับชุมชมต่อไป ทั้งในเรื่องของรสชาติ และผลิตภัณฑ์ เนื่องจากขณะนี้กำลังพัฒนาสูตร ให้เหมาะกับทุกเพศทุกวัย พร้อมคาดว่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปี จะมีผลิตภัณฑ์นี้ออกมาสู่ตลาดอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ในอนาคตทีมวิจัยจะพัฒนาต่อยอดมะม่วงชนิดอื่น ๆ อีกด้วย เนื่องจากเมล็ดและเปลือกมะม่วงมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อีกทั้งยังเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพจากของเหลือใช้จากการแปรรูปในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงสร้างสรรค์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ พืชผัก และผลไม้ต่อไป
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม