“ฉากทัศน์การศึกษาแห่งอนาคต : Future Scenario of Education” เวทีระดมสมอง-ถกประเด็นทิศทางขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาไทย
ชมรมอัสสัมชนิกดีเด่น สมาคมอัสสัมชัญ ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (CGA) จัดงานสัมมนาวิชาการ “ฉากทัศน์การศึกษาแห่งอนาคต : Future Scenario of Education” เนื่องในวันสถาปนาชมรมอัสสัมชนิกดีเด่น และในโอกาสคล้ายวันเกิดครบรอบ 88 ปี ภราดาหลุยส์ วิริยะ ฉันทวโรดม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงระบบการศึกษาไทย เปิดเวทีระดมสมองศิษย์เก่าอัสสัมชัญและผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา ร่วมแชร์มุมมองการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 และทิศทางในอนาคต พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับการศึกษา
ดร.ธะนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ นายกสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (CGA) เปิดเผยว่า CGA ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “การรวมพลังสร้างสรรค์สังคม” โดยมีเป้าหมายที่จะสร้าง CGA Connection เชื่อมโยงศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน โดยเน้นการมีส่วนร่วม ภายใต้แผนงาน CGA One Team เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ในการช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาไทย ซึ่งหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565 คือ โครงการ “ติวออนไลน์เพื่อสอบตรงเข้าสู่มหาวิทยาลัยในฝัน” สำหรับนักเรียนโรงเรียนในเครือเซนต์คาเบรียล พร้อมทั้งเปิดกว้างให้น้อง ๆ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากทั่วประเทศเข้าร่วมติวฟรี โดยทีมติวเตอร์คุณภาพระดับมืออาชีพ ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักเรียน อาจารย์ ผู้ปกครอง และผู้บริหารโรงเรียนต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ โดย CGA One Team ยังได้กำหนดแผนงานด้านการพัฒนาและยกระดับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ด้าน พล.ร.อ.ประพฤติพร อักษรมัต นายกสมาคมอัสสัมชัญ กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนาชมรมอัสสัมชนิกดีเด่น และในโอกาสครบรอบวันเกิด ภราดาหลุยส์ วิริยะ ฉันทวโรดม ซึ่งเป็นบุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจในการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม ดังนั้น ทางชมรมอัสสัมชนิกดีเด่น สมาคมอัสสัมชัญ และสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (CGA) จึงได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการในประเด็นปัญหาที่ได้รับความสนใจในสังคมอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี โดยเชิญอัสสัมชนิกหรือศิษย์เก่าอัสสัมชัญที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนและสังคมมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นในมุมมองที่หลากหลาย
สำหรับในปี 2564 สมาคมอัสสัมชัญ ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบแผนพัฒนาการศึกษาของ CGA One Team ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา การวิจัยและวางแผนอนาคตการศึกษาของโรงเรียนในเครือคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ซึ่งในโอกาสคล้ายวันเกิดครบรอบ 88 ปี ภราดาหลุยส์ วิริยะ ฉันทวโรดม ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ทางชมรมอัสสัมชนิก สมาคมอัสสัมชัญ ได้ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (CGA) จัดงานสัมมนาทางวิชาการ “ฉากทัศน์การศึกษาแห่งอนาคต : Future Scenario of Education” โดยระดมผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษาระดับประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสริมสร้างความเข้าใจในทุกประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 รวมถึงทิศทางการศึกษาไทยในอนาคต
งานสัมมนาวิชาการ “ฉากทัศน์การศึกษาแห่งอนาคต : Future Scenario of Education” ประกอบด้วย องค์ปาฐกหลัก 5 ท่าน นำโดย ดร.ธะนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ นายกสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (CGA), ดร.ประวิช รัตนเพียร นายกสมาคมศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานชมรมอัสสัมชนิกดีเด่น อสช 20314 และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อัสสัมชนิกดีเด่น อสช 25125, ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและการมีส่วนร่วม การจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และปิดท้ายด้วยการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ก้าวสู่มาตรฐานการศึกษาในระดับสากลด้วยหลักสูตร iPSLE” โดย ภราดา ดร.ทักษบุตร ไกรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม
“โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นสถาบันการศึกษาเก่าแก่ที่มีประวัติมายาวนานถึง 136 ปี ผลิตบุคลากรชั้นนำที่มีความรู้ความสามารถในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็น วงการศึกษา – การปกครอง – สาธารณสุข – วิทยาศาสตร์ นักคิด นักวิชาการ ศิลปิน สื่อสารมวลชน และนักการเมือง ที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติมากมาย ซึ่งงานสัมมนา ‘ฉากทัศน์การศึกษาแห่งอนาคต : Future Scenario of Education’ จะเป็นการเผยแพร่และขยายผลให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ผู้ปกครอง และผู้เรียนหรือนักเรียน ให้เกิดการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาและจะเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางการศึกษาในอนาคต ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน” พล.ร.อ.ประพฤติพร กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: M and M Communications