มรภ. บ้านสมเด็จเจ้าพระยา คว้า 3 รางวัล ในการแข่งขันสร้างเกมระดับนานาชาติ “The sixth international college students GameJam” ประเทศจีน
นักศึกษาสาขาแอนิเมชันและดิจิทัลมีเดีย มรภ. บ้านสมเด็จเจ้าพระยา คว้า 3 รางวัล ในการแข่งขันสร้างเกมระดับนานาชาติ “The sixth international college students GameJam” ประเทศจีน
นักศึกษาสาขาวิชาแอนิเมชัน เกม และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คว้ารางวัลจากการแข่งขันสร้างเกมระดับอุดมศึกษา “The sixth international college students GameJam” จัดโดย Jilin Animation Institute ประเทศจีน ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ (Gold award) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (Bronze award) และรางวัลผลงานดีเด่น รวม 3 รางวัล โดยปีนี้ มีนักศึกษามหาวิทยาลัย 16 ทีมจาก 7 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร รัสเซีย ญี่ปุ่น ไทย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และจีน เข้าร่วมการแข่งขันสร้างเกมออนไลน์ โดยต้องสร้างผลงานแอนิเมชั่นภายใต้หัวข้อ “Hand in Hand for Olympic Winter Games” และส่งผลงานเข้าระบบพร้อมแสดงผลประกอบคำบรรยายภายในระยะเวลาที่กำหนด
นายหวู ยื่อ เลขาธิการ คณะกรรมการ Jilin Animation Institute ประเทศจีน ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เปิดเผยถึงที่มาของการจัดงานว่า “การแข่งขันสร้างเกมระดับอุดมศึกษานานาชาติครั้งนี้เป็นปีที่ 6 แล้ว ซึ่งน่ายินดีที่ปีนี้ มีนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันจาก 7 ประเทศ แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราต้องปรับรูปแบบการแข่งขันโดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการจัดกิจกรรม ทุกทีมจึงมีอุปสรรคในเรื่องการสื่อสาร สถานที่ และระยะเวลาที่กดดันมากกว่าปกติ ถือเป็นความท้าทายในการพัฒนาเกมสำหรับนักศึกษาที่ต้องมีความพยายามมากเป็นพิเศษในการใช้ทักษะ ความคิดสร้างสรรค์และการระดมความคิด ทั้งวิชาการและเทคโนโลยี ควบคู่กับฝึกการทำงานเป็นทีมร่วมกันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นับเป็นปีแห่งการแข่งขันที่น่าจดจำ”
การแข่งขันสร้างเกมภายใต้หัวข้อ “Hand in Hand for Olympic Winter Games” ครั้งนี้ มีตัวแทนนักศึกษา 16 ทีม จาก 7 ประเทศได้แก่ Tokyo University of Technology, Nihon University, มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, Chungkang College of Cultural Industries, iAcademy, University of Portsmouth, St. Petersburg State University of Film and Television, Shenzhen University, the Guangzhou Academy of Fine Arts, Guilin University Of Electronic Technology, Guangxi Arts University, Hebei Academy of Fine Arts และ Jilin Animation Institute
ผลการแข่งขัน นักศึกษาสาขาวิชาแอนิเมชัน เกม และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สามารถคว้ารางวัลได้ถึง 3 รางวัล ได้แก่
- รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง โดย นายทักษิณ บรรจงศักดิ์ศิริ และ นายวงศพัท เลือดทหาร
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 โดย นางสาวภัทรานิษฐ์ โจว
และ 3. รางวัลทีมดีเด่น Outstanding team award โดย นายกรเกียรติยศ พุ่มผล และ นายเทพกร ระวิงทอง
รางวัล : ชนะเลิศเหรียญทอง
เจ้าของผลงาน : นายทักษิณ บรรจงศักดิ์ศิริ และ นายวงศพัท เลือดทหาร
ผลงาน : Litt Winter’s alpine ski trip
แนวคิดการออกแบบ : ตัวเกมต้องสื่อถึงความเป็นโอลิมปิกฤดูหนาว และมีความน่ารัก เข้าถึงง่าย เกมมีความซับซ้อนไม่มาก การแก้โจทย์ปัญหาเพื่อผ่านด่านได้แนวคิดการออกแบบมาจากเกมmonument valley
ความประทับใจในการแข่งขัน: รู้สึกสนุกในการทำงาน ได้รู้จักการทำงานเป็นทีมและความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมาย ทำให้งานสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
สิ่งที่ยากในการทำงาน: เรื่องการสื่อสาร ต่างคนใช้ภาษาไม่เหมือนกัน เวลาคุยกันค่อนข้างลำบาก รวมถึงระยะเวลาในการแข่งที่สั้น ทำให้รู้สึกกดดันในการทำงาน
รางวัล : รองชนะเลิศอันดับที่ 2
เจ้าของผลงาน : นางสาวภัทรานิษฐ์ โจว
ผลงาน : Snowcapped Mountain
แนวคิดการออกแบบ : คำนึงถึงหัวข้อคือโอลิมปิกฤดูหนาว โดยทำเกมจิ๊กซอว์ เมื่อหมุนภาพจนสมบูรณ์แล้วจะได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับกีฬาในหน้าหนาวที่ใช้แข่งด้วย
สิ่งที่ยากในการทำงาน : ระยะเวลาที่กระชั้นชิด และการสื่อสารที่อาจเข้าใจผิดหรือเข้าใจไม่ตรงกันบ้าง
ความประทับใจในการแข่งขัน : ได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการทำงานและแนวคิดใหม่ ๆ
รางวัลทีมดีเด่น : Outstanding team award
เจ้าของผลงาน : นายกรเกียรติยศ พุ่มผล และ นายเทพกร ระวิงทอง
ผลงาน : Pass the torch
แนวคิดการออกแบบ : เกมเป็นการส่งไฟจากคบเพลิงต่อกันไปจนถึงสนามเปิดพิธีโอลิมปิก โดยเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันวิ่งผลัด โดยจะวิ่งผ่านอุปสรรค์แล้วเอาคบเพลิงส่งต่อกันไป กันจนถึงที่หมาย
สิ่งที่ยากในการทำงาน : การสื่อสารที่ต่างภาษากันทำให้มีปัญหาในช่วงแรกและเวลาในการแข่งที่สั้น
ความประทับใจในการแข่งขัน : สนุกกับการทำงานกับคนต่างชาติและได้เพื่อนใหม่ ได้เห็นการทำงานของคนที่อยู่ต่างที่กันที่ไม่รู้จักกันแต่ก็สามารถช่วยเหลือกันได้ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวแสดงความยินดีกับนักศึกษาว่า “กติกาและรูปแบบการแข่งขันเป็นบทเรียนของจริงที่ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์เกมแบบครบวงจร ตั้งแต่การวางแผนเกม ออกแบบงานศิลปะและการใช้งานด้านเทคนิค การผลิตต้นแบบเกมและจัดทำโรดโชว์ออนไลน์ การได้ฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านเกมจากประเทศที่เข้าร่วม และการสร้างเพื่อนใหม่แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขัน รางวัลที่นักศึกษาทั้ง 3 ทีมไปพิชิตมาได้ ถือเป็นสิ่งสะท้อนถึงนโยบายการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่พร้อมสนับสนุนการยกระดับศักยภาพนักศึกษายุคใหม่ ให้สมกับการเป็น Smart University ที่พร้อมผลิตบัณฑิตคุณภาพที่เท่าทันเทคโนโลยีและมีทักษะสังคมในการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย”
เราสอนอะไรบ้าง ในสาขาวิชาแอนิเมชัน เกม และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
2D Animation, 3D Animation, CG Painting, Illustration, Digital Composing, Matte Painting, VFX, Script Writing, Story Developing, Web Development, Game Designing and Programming ฯลฯ
พร้อมห้องปฎิบัติการด้านงานแอนเมชัน เกม และดิจิทัลมีเดีย ที่ทันสมัยที่สุด ประกอบด้วย
– ห้องปฏิบัติการ Cintiq (หน้าจอวาดภาพสำหรับสร้างสรรค์ผลงาน)
– ห้องปฏิบัติการ Motion Capture
– ห้องปฏิบัติการเสียง ที่สามารถบันทึกเสียงได้ในระดับสากล ถึง 3 ห้อง
– ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์จำนวน 3 ห้อง พร้อมจอภาพ 2 จอ
– ห้องปฏิบัติการกลุ่มย่อย ที่รองรับการทำงานเป็นทีมสำหรับนิสิต
– ห้องอ่านหนังสือและสันทนาการสำหรับนักศึกษาทำกิจกรรม
เรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพได้ทันที ได้แก่ นักออกแบบกราฟิก นักออกแบบสื่อเคลื่อนไหว ผู้สร้างและพัฒนาสื่อดิจิทัล ผู้สร้างและพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ ผู้สร้างงานคอมพิวเตอร์กราฟิก สเปเชียลเอฟเฟก ผู้สร้างแอนิเมชันสคริป ผู้สร้างงานคอมพิวเตอร์แอนิเมชันในงานโทรทัศน์ภาพยนตร์และโฆษณา ผู้ดูแลและพัฒนาระบบดิจิทัลมีเดีย ผู้ออกแบบเว็บไซต์ ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์เสมือนจริงด้วยคอมพิวเตอร์ ผู้ตัดต่อภาพยนต์ โทรทัศน์ และสื่อโฆษณา เป็นต้น
นักเรียนที่สนใจสมัครเรียน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://admission.bsru.ac.th
ที่มา: เอ.ยู.คอมมิวนิเคชั่น