สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมมือ ABAC พัฒนา Higher Education Sandbox ยกระดับสมรรถนะความเป็นเลิศในการบริหารจัดการ ตามแนวทาง TQA
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และคณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ภายใต้ความคาดหวังและวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการบริหารจัดการ การสร้างเครือข่าย และการบริหารโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) อันเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญสู่การพัฒนากำลังคนของประเทศ ณ ห้องประชุม A72 ตึกอัสสัมชัญ ร.ศ.200 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
โดย ผศ.ดร.อุรีย์ เจี่ยสกุล คณบดี คณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ ได้กล่าวถึง ที่มาและความคาดหวังของการร่วมมือกันในครั้งนี้ ว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง คณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ทำให้ทั้งสองหน่วยงานซึ่งมีปณิธานใกล้เคียงกันในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพทั้งในภาคการศึกษาและภาคธุรกิจของประเทศไทยได้มาร่วมมือกันขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นเลิศ โดยอาศัยเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับและถูกนำไปประยุกต์ใช้กับเพื่อยกระดับสมรรถนะขององค์กรชั้นนำมากมายมาเป็นกรอบแนวทาง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีความคาดหวังว่า ภายใต้การร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเสริมสร้างสมรรถนะขององค์กรให้เข้มแข็ง พร้อมพัฒนาบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความอย่างยั่งยืนในอนาคต”
พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้บอกเล่าถึงบทบาทและการดำเนินกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวว่า “ขอบเขตของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมในด้านการบริหารจัดการสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง (High Performing Organization) ผ่านกรอบเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นวิทยากรที่มีประสบการณ์สูงในการบริหารจัดการจากภาคการศึกษาและภาคเอกชน ที่เรียกว่า Master Class ตลอดจนร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศในด้านดิจิทัล ซัพพลายเชน ในรูปแบบการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox”
ที่มา: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ