มจธ. ขานรับนโยบายภาครัฐ ประกาศ มุ่งสู่ “KMUTT Carbon Neutrality 2040”
ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ในที่ประชุมระดับผู้นำสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ว่า ประเทศไทย มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีนโยบายชัดเจนด้านความยั่งยืนเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสร้างการมีส่วนร่วม อีกทั้งได้กำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน จึงได้ประกาศเจตนารมณ์การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของ มจธ. ภายในปี ค.ศ. 2040 (KMUTT Carbon Neutrality 2040) เพื่อขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนในการเตรียมความพร้อมของประเทศสู่ Carbon Neutrality 2050
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เริ่มแสดงผลกระทบในด้านต่างๆ กับมนุษยชาติและโลกจะเห็นได้จากการเกิดน้ำท่วม ไฟป่า คลื่นความร้อน และธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเกิดปะการังฟอกขาว เป็นหลักฐานที่ปรากฏชัดขึ้นและใกล้ถึงจุดอันตราย สอดคล้องกับรายงานผลการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ของสหประชาชาติ ที่ส่งสัญญาณเตือนว่าโลกร้อนใกล้ถึงจุดวิกฤตและเตือนให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งลงมือทำทันทีเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศก่อนที่จะสายเกินไป จนไม่อาจย้อนคืนดังเดิมได้ ซึ่งการที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากการกระทำและความต้องการของมนุษย์ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ยิ่งทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน
“สาเหตุที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นเกิดจากการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อสถานการณ์ใกล้ถึงจุดอันตราย อุณหภูมิจะสูงขึ้นอีกและจะกลับคืนมาไม่ได้ ทำให้แต่ละประเทศ รวมทั้งองค์กรและบริษัทขนาดใหญ่ เริ่มออกมาประกาศเจตนารมณ์ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 มจธ. ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมายาวนานกว่า 20 ปี จึงมีความพร้อมทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากร และเทคโนโลยี นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับในระดับแนวหน้าเรื่องการอนุรักษ์พลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการทำงานที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยที่มีความเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
มหาวิทยาลัยจึงตัดสินใจประกาศเจตนารมณ์ ในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2040 (KMUTT Carbon Neutrality 2040) โดยการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในอาคารและการเดินทาง การใช้ทรัพยการอย่างคุ้มค่า และการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับคาร์บอนฯ เพื่อช่วยลดผลกระทบของสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ให้เป็นแบบอย่าง และสาเหตุที่ มจธ. ดำเนินการให้เร็วกว่าที่รัฐบาลประกาศไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนของประเทศไม่ได้นิ่งเฉย เมื่อมีความพร้อมก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ก่อน และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีสถาบันการศึกษาอื่นๆ มีนโยบายที่สอดรับกับนโยบายของประเทศในข้างต้นออกมาด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของประเทศและโลก”
อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า สาเหตุที่ มจธ. ให้ความสำคัญกับการลดการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพราะหากมหาวิทยาลัยสามารถทำให้เป็นตัวอย่างได้ หน่วยงานอื่นๆ ซึ่งอาจจะยังไม่พร้อมก็สามารถมาเรียนรู้หรือมาดูตัวอย่างที่ มจธ. โดยเฉพาะภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง มจธ. เรามีผู้เชี่ยวชาญ และมีเทคโนโลยีที่นำไปใช้หรือไปช่วยได้ จะเป็นการสร้างแรงบังดาลใจไปกระตุ้นให้ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตได้มากขึ้น
“เมื่อ มจธ. มีประกาศเจตนารมณ์ออกไปแล้วก็จะมีการจัดทำแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ว่าจากนี้ไป ในแต่ละช่วงมหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการเรื่องอะไรบ้าง และจะต้องมีการประเมินผลทุกปี เพื่อให้สามารถบรรลุไปสู่เป้าหมายในแต่ละระยะ รวมถึงสามารถบรรลุเจตนารมณ์ที่จะทำให้การปลดปล่อยคาร์บอน ของ มจธ.เป็นศูนย์ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้”
ทั้งนี้ KMUTT Carbon Neutrality 2040 ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของ มจธ. ซึ่งจะบูรณาการกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์อีก 5 ด้าน (KMUTT Sustainable University for Sustainable Development Goals) ได้แก่ 1. การสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษา (Increasing the Student Engagement) 2. การสร้างผลกระทบเชิงบวกจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม (Demonstrating the Impact of Research and Innovation) 3. การสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน (Encouraging the Community Engagement) 4. การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Building Green Infrastructure & Environment) และ 5. การสร้างสรรค์ระบบการบริหารที่ยั่งยืน (Creating a Sustainable Management System)
“จากนี้ไปการลดการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและร่วมกันลดผลกระทบดังกล่าว นอกจากนี้ มจธ. ในฐานะหน่วยงานภาควิชาการ ก็พร้อมที่จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระดับสากลในการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในระดับองค์กรและทุกพื้นที่การศึกษา” ดร.สุวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ด้วยเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการพัฒนาองค์กรไปสู่การลดการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (KMUTT Carbon Neutrality 2040) มจธ.จึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network) ที่ดำเนินการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) และเครือข่าย Race to Zero ที่เป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติในการไปสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้ มจธ. จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศไทยไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE 100) โดยได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของ RE100 Thailand Club ซึ่งริเริ่มโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี