วิศวะมหิดล – สงขลานครินทร์ จัดการประชุมนานาชาติ นวัตกรรมสีเขียวและยั่งยืน (ICGSI 2021)
ตอบรับ COP26 กระแสโลกที่นานาประเทศต่างให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะโลกร้อน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สถานวิจัยการประเมินทางสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีการจัดการของเสียอันตราย คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ นวัตกรรมสีเขียวและยั่งยืน (International Conference on Green and Sustainable Innovation) ครั้งที่ 8 (ICGSI) ประจำปี 2564 ภายใต้ธีม “ขับเคลื่อนความปกติใหม่สู่ อนาคตใหม่อย่างยั่งยืน” (Driving the New Normal Towards a Sustainable New Future) ผ่านระบบออนไลน์และออนไซต์ ณ โรงแรมกระบี่รีสอร์ท จ.กระบี่
รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีความยินดีต้อนรับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ นวัตกรรมสีเขียวและยั่งยืน ประจำปี 2564 หรือ International Conference on Green and Sustainable Innovation (ICGSI) ครั้งที่ 8 ด้วยวิสัยทัศน์และพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดล เรามุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก การประชุมนานาชาติครั้งนี้เป็นการผนึกพลังร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกและพัฒนาประชาคมนานาชาติสู่ความยั่งยืน โดยมีจุดมุ่งหมายของการจัดงานเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และเรียนรู้จากเครือข่ายพันธมิตร เปิดรับโอกาสในการทำงานร่วมกันในด้านการศึกษา การวิจัย และนวัตกรรมด้านวิศวกรรมในการประเมินผลสภาวะแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลที่คาดหวังของการประชุมนี้ คือการสร้างกรอบการทำงานระดับชาติและระดับนานาชาติสำหรับการศึกษา การวิจัย และนวัตกรรมที่ยั่งยืนในอนาคต โดยเรามีความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับพันธมิตรมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
รศ.ดร.ตระการ ประภัสพงษา ประธานร่วมจัดงาน ICGSI 2021 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกเผชิญปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ งานประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมสีเขียวและยั่งยืนเพื่อโลกของเรา โดยมีผู้เข้าประชุมทั้งออนไซต์และผ่านระบบออนไลน์ ภายในงานมีการจัดเวิร์คช็อปหรือการประชุมเชิงปฏิบัติการที่น่าสนใจ ได้แก่
- Biocapacity and Ecological Footprint Workshop โดย รศ.ดร.จรงค์พันธ์ มุสิกะวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- Thai Spatially Differentiated Life Cycle Impact Assessment Method (ThaiSD Method) Workshop และ
- PM2.5 Footprint Workshop โดย รศ.ดร.ตระการ ประภัสพงษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- BenMAP Workshop โดย Dr.Thao Pham บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีตลอดจนกิจกรรมการพบปะของเครือข่าย Thai LCA Network และการประชุมนักวิจัยรุ่นใหม่
ทั้งนี้ มีการนำเสนอผลงานวิจัยและสาระต่างๆ องค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ อาทิเช่น 1. การประยุกต์ใช้การประเมินวัฎจักรชีวิตและระบบนิเวศอุตสาหกรรม (LCA and Industrial Ecology Applications: From Research to Implementation in Policies and Industry) โดย Prof.Dr.Sangwon Suh, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาบาร่า (UC Santa Barbara) สหรัฐอเมริกา 2. แนวนโยบายและการปฏิบัติของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนในประเทศไทย (SDGs & Circular Economy Policies and Practices for Sustainable Consumption and Production in Thailand) โดย รศ.ดร. ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 3. เจนเนอเรชั่น เอ็กซ์ กับสิ่งทดแทนสารเคมีที่ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (PFOA) (GenX as a Replacement for PFOA : Aqueous Phase Treatability Issue and The Price to Pay) โดยศ.ดร.เอกลักษณ์ คาน จาก University of Nevada ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา 4. นวัตกรรมและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม กับคุณภาพอากาศบริสุทธิ์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของเอเชีย (Environmental Innovation and Policies Towards Clean Air for a Sustainable Future in Asia) โดย ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 5. Dietary Footprints – การประยุกต์ใช้การประเมินวัฎจักรชีวิต (LCA) ในการบริโภคอาหาร (Dietary Footprints – LCA Applications in Food Consumption) โดย Dr.Brad Ridoutt, The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation (CSIRO), ประเทศออสเตรเลีย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดประชุมคู่ขนาน นำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งหมด 57 ผลงาน ในหลากหลายหัวข้อ ได้แก่ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน การเกษตรและอาหารยั่งยืน สารเคมี วัสดุและทรัพยากรยั่งยืน การขนส่งและพลังงานยั่งยืน การบริการ การท่องเที่ยวและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน และนวัตกรรมด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน
ที่มา: บริษัท เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด