นิเทศนิด้าจับมือกับ กระทรวง อว. ววน. จัดมหกรรมอบรม Upskill และ Reskill กำลังคนด้าน DATA+AI นิเทศปัญญาประดิษฐ์
นิเทศนิด้าจับมือกับ กระทรวง อว. ววน. จัดมหกรรมอบรม Upskill และ Reskill กำลังคนด้าน DATA+AI นิเทศปัญญาประดิษฐ์ มากกว่า 4,000 คน ตอบรับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัวโครงการอบรมมหกรรมนิเทศปัญญาประดิษฐ์ DATA+AI Powered Communication 2022 โดยมุ่งหวังพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของบุคลากรวัยทำงานในประเทศไทยผ่านการเผยแพร่ความรู้พื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ และทักษะการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สอดคล้องกับบริบทในอาชีพ องค์กร หรือสังคมของกลุ่มเป้าหมาย และต้องการยกระดับทักษะสำหรับบุคลากรวัยทำงาน (Upskill/Reskill) เพื่อรองรับการประกอบอาชีพที่ต้องมีทักษะเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต และมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมการพัฒนาทักษะในครั้งนี้ มากกว่า 4,000 คน
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวในพิธีเปิดว่า การเติบโตของเทคโนโลยีจึงเป็นความท้าทายและเป็นความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรวัยทำงานในฐานะฟันเฟืองสำคัญในตลาดแรงงานที่อาจจะถูกเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาทดแทน การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรจะช่วยยกระดับศักยภาพและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อย่างมีส่วนร่วม เพื่อส่งมอบคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้คนไทยจะมีความรู้ และความพร้อมในการก้าวเข้าสู่สังคมที่นำด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ต่อไป
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ได้มีการเสวนา หัวข้อ “อนาคตนิเทศปัญญาประดิษฐ์ Future Landscape of Data + AI in Communication” สะท้อนให้เห็นความท้าทายในการหลอมรวมทักษะหรือกลุ่มคน 2 ศาสตร์ทั้งเทคโนโลยีและการสื่อสาร
รศ.ดร. คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ เราใช้ AI ในการพัฒนาเครื่องจักรต่าง ๆ แต่ในปัจจุบัน AI มีบทบาทในระบบฐานข้อมูลจำนวนมหาศาล เช่น ฐานข้อมูลงานวิจัยระดับประเทศ ดังนั้น การใช้ประโยชน์จาก DATA+AI ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อยกระดับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ตามแผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ระยะ 7 ปี (2564-2570)
รศ.ดร. ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ ภาครัฐ (GBDi) สังกัดสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ระบุถึงการใช้ DATA+AI มาใช้กับการโฆษณา และประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน โดยการโฆษณาต้องศึกษาข้อมูล กลุ่มเป้าหมาย ก่อนยิงโฆษณา เพื่อไม่ให้การโฆษณาสูญเปล่า ส่วนการประชาสัมพันธ์ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นกัน เพื่อสื่อสารตรงกลุ่มเป้าหมาย
ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการควรนำ DATA+AI มาพัฒนาในธุรกิจ แม้จำเป็นต้องลงทุนก่อน แต่หากลงทุนแล้ว จะ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพ เติบโตรวดเร็ว มีความโดดเด่นนำหน้าคู่แข่ง ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น ช่วยวิเคราะห์ผลตอบรับของลูกค้า รวมถึงในอนาคตผู้ประกอบการยังสามารถนำ DATA+AI พัฒนาหุ่นยนต์ใช้งานแทนแรงงานคนได้ด้วย
รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) สรุปการเสวนาว่า นิเทศศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์หลายด้าน ทั้งการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การถ่ายทำภาพยนตร์ ที่จำเป็นต้องใช้ DATA+AI ในการทำงานและสื่อสารกับสาธารณะ นักนิเทศศาสตร์จำเป็นต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อนำมาผลิตคอนเทนต์ ออกแบบสาร ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้มหกรรมอบรมปัญญาประดิษฐ์ เป็นการจัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Webinar 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 “Practical DATA+AI Skills for Next Normal Era” และ หลักสูตรที่ 2 “DATA+AI for Marketing Communication for Next Normal Era” ทั้งสองหลักสูตรมีทั้งภาคทฤษฎีพร้อมฝึกปฏิบัติ และมีวิทยากรมากกว่า 69 ท่าน
สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้ 2 หลักสูตรข้างต้นเพิ่มเติม สอบถามรายละเอียดที่หลักสูตรการจัดการการสื่อสารด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ (NIDA) ได้ทาง เพจ เด็กนิเทศ BIG DATA https://www.facebook.com/deknitadebigdata หรือเพจ CIC ศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมนิเทศศาสตร์ https://www.facebook.com/CICNitadeNida
ที่มา: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์