ศูนย์ AMSAR นิเทศ หอการค้า เผยผลวิจัย “ส่องไลฟ์สไตล์เด็กปอโท สื่อสารอย่างไรให้เติมเต็มจุดเจ็บปวด”
ศูนย์ศึกษาสื่อและการสื่อสารอาเซียน (AMSAR) เปิดเผยผลวิจัย “รูปแบบการดำเนินชีวิต ความต้องการและโอกาสในการสื่อสารการตลาดแบรนด์สินค้าและบริการของนักศึกษาปริญญาโท” ของนางสาวธัญนันท์ เหล่าบุรินทร์ โดยมี ผศ.ดร.สุทธนิภา ศรีไสย์ ผู้อำนวยการศูนย์ AMSAR เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยพัฒนาแบบสอบถามด้วยการสนทนากลุ่ม (Focus group) กับกลุ่มที่เป็นนักศึกษาปริญญาโทที่ได้/เคยเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนในประเทศไทย และได้/เคยมีประสบการณ์ทำวิจัย วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ ในระหว่างปีการศึกษา 2550-2563 ภายใต้เงื่อนไขที่ยังจดจำบริบทในช่วงการเรียนปริญญาโทได้ จำนวน 2 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน รวม 10 คน หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้จากการสนทนากลุ่มมาสำรวจนักศึกษาปริญญาโทหลากหลายสาขาวิชาจากทั้งสถาบัน/มหาวิทยาลัยในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 403 คน ผลการวิจัยพบว่า
8 เหตุผลหลักที่ตัดสินใจเรียนปริญญาโท
ผลการวิจัยพบว่า เหตุผลที่นักศึกษาตัดสินใจเรียนปริญญาโท 8 อันดับแรก ได้แก่ 1) ต้องการความรู้ (22.42%) 2) อัพเดตความรู้ (18.52%) 3) เพิ่มทักษะ (13.70%) 4) เพิ่มเงินเดือน (11.78%) 5) เลื่อนตำแหน่ง (11.09%) 6) เข้าสังคม (10.41%) 7) หางานใหม่ (9.41%) และ 8) ฆ่าเวลา (2.37%)
พักผ่อนน้อย-ใช้เวลาว่างกับตัวเองและครอบครัว-ให้ความสำคัญกับการเรียนเป็นอันดับหนึ่ง
ผลการวิจัยพบว่า กิจกรรมที่นักศึกษาปริญญาโททำระหว่างเรียนในระดับมากถึงมากที่สุด คือ 1) การใช้เวลาว่าง ได้แก่ การเล่นอินเทอร์เน็ต (ค่าเฉลี่ย 4.30) การเดินห้างสรรพสินค้า (ค่าเฉลี่ย 4.05) การรับประทานอาหารนอกบ้าน (ค่าเฉลี่ย 3.83) และใช้เวลาว่างอยู่กับครอบครัว (ค่าเฉลี่ย 3.62) และการเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวที่แตกต่างจากสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เช่น ต่างจังหวัด ร้านคาเฟ่ (ค่าเฉลี่ย 3.82) 2) กิจกรรมทางสังคม ซึ่งเน้นการเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน ได้แก่ การพูดคุยแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ชีวิต (ค่าเฉลี่ย 3.96) ตลอดจนรับประทานอาหารพร้อมเพื่อนร่วมชั้นเรียนในช่วงก่อน/ระหว่างหลังเลิกเรียน (ค่าเฉลี่ย 3.61) 3) การเรียน ได้แก่ การหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน (ค่าเฉลี่ย 3.72) การทำการบ้านปริญญาโทจนเช้า (ค่าเฉลี่ย 3.55) การนัดทำงานกลุ่มหลังเลิกเรียนกับเพื่อนร่วมชั้น (ค่าเฉลี่ย 3.51) และ4) การพักผ่อน ได้แก่ การพักผ่อนน้อย (ค่าเฉลี่ย 3.92)
Focus เรื่องเรียน-พร่องดูแลตัวเอง-ไม่มีเวลาเที่ยวไกล-ลดกิจกรรมเพื่อสังคม
ในขณะที่ผลการวิจัยพบว่ากิจกรรมที่นักศึกษาปริญญาโททำในระดับน้อยถึงปานกลาง หรือไม่ค่อยได้ทำ คือ 1) การทำงาน ได้แก่ การทำงานล่วงเวลาเกินเวลาปกติ-ในวันธรรมดาหรือวันหยุด (ค่าเฉลี่ย 3.38) การทำงานประจำโดยต้องหยุดเรียน (ค่าเฉลี่ย 2.33) 2) การดูแลสุขภาพ ได้แก่ การบริโภคอาหารเสริม หรืออาหารเพื่อสุขภาพ (ค่าเฉลี่ย 3.32) การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ (ค่าเฉลี่ย 3.13) การบำรุงผิวหน้าที่สถานเสริมความงาม (ค่าเฉลี่ย 2.80) 3) การใช้เวลาว่าง ได้แก่ กิจกรรมสันทนาการ อาทิ ชมภาพยนตร์ คอนเสิร์ต หรือละครเวที (ค่าเฉลี่ย 3.10) การเสริมสวย เข้าสปา การนวดผ่อนคลาย (ค่าเฉลี่ย 2.87) กิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย อาทิ การจัดแต่งบ้าน ปลูกต้นไม้ (ค่าเฉลี่ย 2.58) การนั่งสมาธิ ทาบุญ ปฏิบัติธรรม (ค่าเฉลี่ย 2.54) การเที่ยวกลางคืนตามสถานบันเทิง (ค่าเฉลี่ย 2.39) การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการภาพต่างๆ (ค่าเฉลี่ย 2.35) การเลี้ยงสัตว์ (ค่าเฉลี่ย 2.31) การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ (ค่าเฉลี่ย 2.29) 4) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนบางอย่าง ได้แก่ การนัดเพื่อนทำงานผ่านระบบออนไลน์ (ค่าเฉลี่ย 3.13) การทบทวนบทเรียนก่อนและหลังเรียน (ค่าเฉลี่ย 3.06) การเข้าเรียนสายหรือไม่ไปเรียน (ค่าเฉลี่ย 2.35) การหยุดเรียนหรือสลับเวลาเรียนเพื่อไปทำงานประจำ (ค่าเฉลี่ย 2.33) 5) การบริโภค ได้แก่ การซื้ออาหารผ่านดิลิเวอรี่ (ค่าเฉลี่ย 2.98) การทำอาหารเองเป็นประจำ (ค่าเฉลี่ย 2.91) 6) การพักผ่อน ได้แก่ การนอนหลับที่โต๊ะทำงานในช่วงเวลาพัก (ค่าเฉลี่ย 2.49) และ 7) กิจกรรมสังคม ได้แก่ เป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมเพื่อสังคม (ค่าเฉลี่ย 2.09)
สนใจข้อมูลข่าวสารอินเทรนด์-พัฒนาบุคลิกภาพ-ของมีประโยชน์-ซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีคุณภาพ
ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาปริญญาโทมีความสนใจในเรื่องต่อไปนี้ในระดับมาก 1) การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่พักผ่อนและงานกลุ่ม ได้แก่ ค้นหาสถานที่พักผ่อน (ค่าเฉลี่ย 4.15) ค้นหาสถานที่นั่งทำการบ้าน วิจัย (ค่าเฉลี่ย 3.89) 2) ข่าวสารและนวัตกรรมใหม่ ได้แก่ สนใจเรื่องที่กำลังเป็นกระแส เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ (ค่าเฉลี่ย 4.11) 3) การเรียน ได้แก่ การติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนบนสื่อสังคม (ค่าเฉลี่ย 4.02) 4) สุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง ได้แก่ เลือกและบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมที่มีประโยชน์ (ค่าเฉลี่ย 3.85) รับประทานวิตามิน อาหารเสริม (ค่าเฉลี่ย 3.46) 5) บุคลิกและการเข้าสังคม ได้แก่ สนใจบุคลิกภาพและการวางตัวในสังคม (ค่าเฉลี่ย 4.12) 6) การใช้เวลาว่างกับครอบครัว อาทิ การทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว (ค่าเฉลี่ย 3.50) 7) การบริโภคและซื้อสินค้า ได้แก่ การใส่ใจกับคุณภาพมากกว่าราคา (ค่าเฉลี่ย 4.00) การซื้อสินค้าออนไลน์ (ค่าเฉลี่ย 3.86) รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายภาพ หรือรีวิวประสบการณ์การใช้สินค้าและบริการโพสต์ลงในสื่อสังคมส่วนตัว (ค่าเฉลี่ย 3.42) 8) การสื่อสารการตลาดของแบรนด์สินค้าและบริการ ได้แก่ Promotion (ค่าเฉลี่ย 3.83) และการทดลองใช้แบรนด์สินค้าและบริการ (ค่าเฉลี่ย 3.83)
เห็นว่าเรียนปริญญาโททำให้ชีวิตเปลี่ยน-มีเวลาน้อยลง-เครียด-มีค่าใช้จ่ายทางสังคม แต่การเรียนจบคือเป้าหมายของชีวิต
ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาปริญญาโทเห็นว่า การเรียนปริญญาโททำให้เกิดผลกระทบดังนี้ ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป (ค่าเฉลี่ย 4.41) ทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อยลง (ค่าเฉลี่ย 4.39) ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพื่อการเข้าสังคม (ค่าเฉลี่ย 4.21) มีการบ้านมากเกินไปและทำให้เกิดความเครียด (ค่าเฉลี่ย 4.17) ทำให้ต้องบริโภคอาหารที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว (ค่าเฉลี่ย 4.09) ทำให้ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเองและครอบครัว (ค่าเฉลี่ย 4.02) และการเรียนจบปริญญาโทหรือปริญญาเอกคือเป้าหมายของชีวิต (ค่าเฉลี่ย 3.96)
เลือกซื้อสินค้าแพงคุณภาพดี-ข้อมูลแน่น-มีข้อความ “เฉพาะปริญญาโท”- บอกต่อหากประทับใจ
ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาปริญญาโทมีความคิดเห็นต่อการบริโภคสินค้าและบริการ ดังนี้ 1) การเลือกซื้อสินค้าและบริการ ได้แก่ สินค้าและบริการราคาแพงมีคุณภาพมากกว่าสินค้าที่มีราคาถูกเสมอ (ค่าเฉลี่ย 3.75) 2) แหล่งข้อมูลที่มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ได้แก่ ข้อมูลจากสื่อต่างๆ (ค่าเฉลี่ย 4.15) เพื่อนและครอบครัว (ค่าเฉลี่ย 4.09) 3) ข้อความที่กระตุ้นให้เกิดความตั้งใจอ่าน ได้แก่ เมื่อเจอข้อความที่มีคำว่า “ปริญญาโท” จะตั้งใจอ่านข้อความนั้น (ค่าเฉลี่ย 3.98) 4) การสื่อสารการตลาดที่มีความสำคัญต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ได้แก่ Promotion และส่วนลดซึ่งนักศึกษาปริญญาโทจะถามถึงเสมอ (ค่าเฉลี่ย 3.98) และ5) การบอกต่อหลังจากการซื้อสินค้าและบริการ ได้แก่ การรีวิวหลังการซื้อสินค้าและบริการ ได้แก่ จะแนะนำผู้อื่นให้รู้จักสินค้าและบริการนั้นเสมอหากประทับใจสินค้าและบริการที่ใช้ (ค่าเฉลี่ย 4.30) สำหรับรูปแบบการดำเนินชีวิตของนักศึกษาปริญญาโท สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้
รูปแบบการดำเนินชีวิตของนักศึกษาปริญญาโท
กิจกรรม
(Activities)
ความสนใจ
(Interests)
ความคิดเห็น
(Opinions)
ระดับมากที่สุด
1. ใช้เวลาว่างไปกับการเล่นอินเทอร์เน็ต
2) ซื้อของใช้ส่วนตัวด้วยตัวเอง
ระดับมาก
1) เดินห้างสรรพสินค้า
2) พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ชีวิตระหว่างเพื่อนร่วมชั้นเรียน
3) พักผ่อนน้อย นอนไม่หลับ
4) ออกไปรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม หรือเบเกอรีนอกบ้าน
5) เดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ ที่แตกต่างจากสภาพแวดล้อมปัจจุบัน อาทิ ต่างจังหวัด ร้านคาเฟ่
6) ทำกิจกรรมยามว่าง งานอดิเรก
7) หาความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่เกี่ยวกับวิชาที่เรียน
8) ใช้เวลาว่างอยู่กับครอบครัว
9) รับประทานอาหารพร้อมเพื่อนร่วมชั้นเรียนในช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังเลิกเรียน
10) ทำการบ้านปริญญาโทจนเช้า
11) นัดทำงานกลุ่มหลังเลิกเรียนกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน
ระดับมาก
1) สนใจค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว หรือพักผ่อนยามว่าง
2) สนใจเรื่องบุคลิกภาพและการวางตัวในสังคม
3) สนใจเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ
4) สนใจติดตามสื่อสังคมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับปริญญาโท
5) ใส่ใจกับคุณภาพมากกว่าราคา
6) สนใจค้นหาสถานที่นั่งทำการบ้าน วิจัย
7) สนใจซื้อสินค้าออนไลน์
8) สนใจบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
9) ใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมที่มีประโยชน์
10) สนใจ Promotion ของสินค้าและบริการ
11) สนใจทดลองใช้แบรนด์สินค้าและบริการใหม่ ๆ
12) ใส่ใจเรื่องสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง
13) สนใจเรื่องที่กำลังเป็นกระแสนิยม
14) สนใจทำกิจกรรมตามเพื่อนร่วมชั้นเรียน เช่นท่องเที่ยว รับประทานอาหาร
15) สนใจทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
16) สนใจรับประทานวิตามิน อาหารเสริม
17) สนใจถ่ายภาพ หรือรีวิวประสบการณ์การใช้สินค้าและบริการ โพสต์ลงในโซเชียลมีเดียส่วนตัว
ระดับมากที่สุด
1) การเรียนปริญญาโททำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป
2) การเรียนปริญญาโททำให้มีเวลาพักผ่อนน้อยลง
3) เมื่อประทับใจสินค้าและบริการที่ใช้ มักจะแนะนำผู้อื่นให้รู้จักสินค้าและบริการนั้นเสมอ
4) การเรียนปริญญาโททำให้มีค่าใช้จ่ายเพื่อการเข้าสังคมมากขึ้น
ระดับมาก
1) การบ้านปริญญาโทมีมากเกินไป ทำให้เกิดความเครียด
2) ข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ
3) การเรียนปริญญาโททำให้ต้องบริโภคอาหารที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว
4) เพื่อน ครอบครัว มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ
5) การเรียนปริญญาโททำให้ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเองและครอบครัว
6) เมื่อเจอข้อความที่มีคำว่า “ปริญญาโท” จะตั้งใจอ่านข้อความนั้น
7) การเลือกซื้อสินค้าและบริการ จะถามถึงโปรโมชั่นและส่วนลดเสมอ
8) การเรียนจบปริญญาโทหรือปริญญาเอก คือเป้าหมายของชีวิต
9) สินค้าและบริการราคาแพง มีคุณภาพมากกว่าสินค้าและบริการราคาถูก
10) การประชุมออนไลน์ช่วยให้ทำงานกลุ่มกับเพื่อนๆได้สะดวกยิ่งขึ้น
11) การเรียนปริญญาโททำให้เจอกับปัญหา ไม่มีสถานที่สำหรับทำงานกลุ่ม
นักศึกษาปริญญาโทต้องการแบรนด์สินค้าและบริการของนักศึกษาปริญญาโทเพิ่มขึ้นจากก่อนเรียน
ผลการวิจัยพบว่า ในช่วงเรียนปริญญาโทมีความต้องการแบรนด์สินค้าและบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเรียน และการทำวิจัย อาทิ บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ค่าเฉลี่ย 4.27) บริการจัดเก็บข้อมูลบนออนไลน์ อาทิ กูเกิลไดร์ฟ (ค่าเฉลี่ย 4.23) ส่วนประกันภัย (ค่าเฉลี่ย 3.09) เป็นบริการที่มีความต้องการเท่าเดิม ซึ่งสามารถสรุปผลวิจัยได้ดังตารางต่อไปนี้
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากก่อน-หลังเรียน
สินค้า
เพิ่มขึ้น
1) กาแฟ
2) เครื่องถ่ายเอกสาร อาทิ เครื่องพรินเตอร์ เครื่องสแกนเนอร์
3) อาหารปรุงสุก อาทิ อาหารจานเดียว
4) โน้ตบุ๊ก
5) กระดาษ สมุดบันทึก อาทิ กระดาษA4
6) เครื่องเขียน อาทิ ปากกา ดินสอ
7) ศูนย์การค้า อาทิ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า
8) แท็บเล็ต (Tablet)
9) อาหารแช่แข็ง อาทิ ข้าวกล่องแช่แข็ง
10) สินค้าแฟชั่น อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า
12) เบเกอรี
13) โทรศัพท์มือถือ
14) อาหารเสริม อาทิ วิตามินบี วิตามินซี
15) น้ำอัดลม
16) ยาและเวชภัณท์ อาทิ ยาดม ยาแก้ปวดหัว
11) อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊ก
12) เครื่องสำอาง อาทิ รองพื้น แป้ง ลิปสติก
17) เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย อาทิ ซุปไก่สกัด วิตามินซี
18) เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาทิ น้ำสมุนไพร น้ำผลไม้
19) เครื่องประดับ อาทิ สร้อย ต่างหู นาฬิกา
20) ยานยนต์ อาทิ รถยนต์ รถจักรยานยนต์
21) บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม อาทิ ปิ่นโต กล่องพลาสติก แก้วน้ำ
เพิ่มขึ้นมาก
1) การให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อาทิ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย
2) การจัดเก็บข้อมูลบนออนไลน์ อาทิ กูเกิลไดร์ฟ
เพิ่มขึ้น
3) รับจัดทำรูปเล่มวิทยานิพนธ์ ถ่ายเอกสาร
4) การขนส่งพัสดุ
5) อาหารบุฟเฟต์ อาทิ ชาบู หมูกระทะ
6) สถานบันเทิง ร้านอาหาร
7) ศูนย์หนังสือ ศูนย์การเรียนรู้ อาทิ ห้องสมุดมารวย ศูนย์การเรียนรู้ TCDC
8) จัดส่งอาหารและเครื่องดื่ม ฟู้ดเดลิเวอรี่
9) สถาบันการเงินต่าง ๆ อาทิ ธนาคาร เงินทุน หลักทรัพย์
10) แบรนด์บริการเฉพาะกิจ อาทิ รับแปลบทความ ที่ปรึกษาด้านการเงิน
11) สถานที่ออกกำลังกาย อาทิ ฟิตเนส สนามกีฬา
12) โรงแรม รีสอร์ต
13) ความบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต ละครเวที
14) ความเชื่อ ความศรัทธา อาทิ พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง
15) สายการบิน
โอกาสในการสื่อสารการตลาดแบรนด์สินค้าและบริการกับนักศึกษาปริญญาโท
ผลการวิจัยพบว่า การสื่อสารการตลาดที่มีโอกาสเข้าถึงนักศึกษาปริญญาโทในระดับมากถึงมากที่สุด ได้แก่ 1) การสื่อสารผ่านสื่อสังคม ได้แก่ การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมทั่วไป รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคม อาทิ การอบรมบนเฟซบุ๊กบัณฑิตวิทยาลัย (ค่าเฉลี่ย 3.75) 2) การส่งเสริมการขาย (Sales Promotion) ได้แก่ Promotion ส่วนลดสำหรับนักศึกษาปริญญาโทโดยเฉพาะ (ค่าเฉลี่ย 3.81) ของแถมสำหรับนักศึกษาปริญญาโท (ค่าเฉลี่ย 3.75) การสะสมแต้มแลกส่วนลดสำหรับนักศึกษาปริญญาโท (ค่าเฉลี่ย 3.64) 3) การสื่อสารผ่านสื่อนอกบ้าน (Outdoor Advertising) ได้แก่ การสื่อสารผ่านป้าย จอ LED ในห้างสรรพสินค้า บนท้องถนน (ค่าเฉลี่ย 3.67) และ 4) การตลาดทางตรง (Direct Marketing) ได้แก่ การที่แบรนด์สินค้าและบริการส่งข้อมูลถึงนักศึกษาปริญญาโทผ่านข้อความ SMS (ค่าเฉลี่ย 3.61) และอีเมล (E-mail) (ค่าเฉลี่ย 3.41)
ในขณะที่การสื่อสารการตลาดที่เข้าถึงนักศึกษาปริญญาโทในระดับปานกลาง ได้แก่ 1) การจัดกิจกรรมพิเศษ เช่น การจัดกิจกรรมให้เข้าร่วมเพื่อสร้างประสบการณ์กับแบรนด์สินค้าและบริการ (ค่าเฉลี่ย 3.28) การออกบูธจัดกิจกรรมตามมหาวิทยาลัย (ค่าเฉลี่ย 3.04) 2) การสื่อสารสื่อสิ่งพิมพ์บางประเภท อาทิ ผ่านใบปลิว แผ่นพับ โบรชัวร์ (ค่าเฉลี่ย 3.07) 3) การสื่อสารผ่านโทรทัศน์และวิทยุ (ค่าเฉลี่ย 2.92) และ 4) การสื่อสารผ่านสื่อนอกบ้านบางสื่อ อาทิ ป้ายในมหาวิทยาลัย (ค่าเฉลี่ย 3.24)
ข้อเสนอแนะต่อแบรนด์สินค้าและบริการ
นางสาวธัญนันท์ เหล่าบุรินทร์ ผู้วิจัย ระบุว่า จากผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการดำเนินชีวิตของนักศึกษาปริญญาโทในช่วงระหว่างเรียนค่อนข้างจริงจัง เครียด แทบไม่มีเวลาทำกิจกรรมนอกเหนือจากหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก กิจกรรมอื่นที่ทำได้ต้องใช้เวลาไม่นาน ไม่มีเงื่อนไขผูกมัด เมื่อทำแล้วต้องได้รับการยอมรับจากคนสังคมเดียวกัน ดังนั้น แบรนด์ที่มีโอกาสในการสื่อสารการตลาดกับนักศึกษาปริญญาโท ต้องเป็นแบรนด์ที่กลมกลืนไปกับรูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษาปริญญาโท อาทิ แบรนด์เกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แบรนด์บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการในการเรียนปริญญาโท แบรนด์สุขภาพ การแพทย์และความงาม เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตที่ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ แบรนด์อาหารจานด่วน ตอบสนองความต้องการบริโภคเพื่อความอยู่รอดในเวลาเร่งรีบ รวมถึงแบรนด์ร้านอาหาร หรือร้าน co-working space หรือ ร้านคาเฟ่ที่เอื้อต่อการทำการบ้าน/งานวิจัย มีโอกาสในการสื่อสารการตลาดกับกลุ่มนักศึกษาปริญญาโท นอกจากนี้ แบรนด์สินค้าและบริการด้านการศึกษาและวิจัย ยังสามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตของนักศึกษาปริญญาโทได้ดีและมีโอกาสในการสื่อสารกับนักศึกษาอีกด้วย
ทว่า หากสังเกตผลการศึกษาให้ดี พบว่า นักศึกษาปริญญาโทมีความสนใจในเกือบทุกเรื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา ทำให้เลือกทำเฉพาะกิจกรรมที่จำเป็นและสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตในช่วงเวลานั้น สะท้อนให้เห็นว่าในอนาคต นักศึกษาปริญญาโทอาจกลับมาทำกิจกรรมที่เคยได้รู้จักและมีความสนใจเมื่อมีเวลามากขึ้น อาทิ แบรนด์ฟิตเนส ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่ว่านักศึกษาปริญญาโทใส่ใจการดูแลสุขภาพ แบรนด์หลักสูตรระยะสั้น อาทิ คอร์สเรียนทำอาหาร คอร์สเรียนถ่ายรูป สอดคล้องกับผลการวิจัยที่ว่านักศึกษาปริญญาโทชอบหาความรู้เพิ่มเติม
เทคนิคการนำเสนอเนื้อหาให้เข้าถึงนักศึกษาปริญญาโท
จากผลการศึกษา พบว่า นักศึกษาปริญญาโทส่วนใหญ่มองว่าการเรียนปริญญาโททำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป มีเวลาพักผ่อนน้อยลง เครียด ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ต้องเข้าสังคม มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เน้นบริโภคสินค้าและบริการที่สะดวกรวดเร็วใช้เวลาน้อย พร้อมที่จะจ่ายเงินซื้อในราคาแพงเพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพมากกว่า ดังนั้น การสื่อสารการตลาดของแบรนด์ ควรนำเสนอสินค้าและบริการด้วยเนื้อหาที่สอดรับแทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของนักศึกษาปริญญาโท ประกอบกับการใช้สิ่งจูงใจร่วมด้วย อาทิ รีวิวห้องประชุมงานในร้านคาเฟ่บรรยากาศดี พร้อมสิทธิพิเศษสำหรับนักศึกษาปริญญาโทโดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองความคิดเห็นที่ว่าไม่มีสถานที่สำหรับทำงาน
ข้อความที่แบรนด์ควรระบุไว้เสมอ ได้แก่ “สำหรับนักศึกษาปริญญาโทโดยเฉพาะ” เพื่อจูงใจให้นักศึกษาปริญญาโทอ่านข้อความ ดังจะเห็นได้จากผลการวิจัยที่พบว่า นักศึกษาปริญญาโทมีความคิดเห็นค่อนข้างเห็นด้วยว่า เมื่อเจอข้อความที่มีคำว่า “ปริญญาโท” จะตั้งใจอ่านข้อความนั้น
นอกจากนี้ จากผลการวิจัยจะพบว่า นักศึกษาปริญญาโทมีรูปแบบการดำเนินชีวิตคล้ายกัน กิจกรรม ความสนใจ ความคิดเห็นคล้ายคลึงกัน และมี Pain points คล้ายกัน คือ มีความเครียด ห่วงใยใส่ใจสุขภาพแต่ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ พักผ่อนน้อย ต้องการยอมรับทางสังคม ต้องการความสำเร็จ มุ่งเน้นบ้านและครอบครัว มีเป้าหมาย สนใจสิ่งใหม่ๆ เน้นพัฒนาตัวเอง และให้ความสำคัญกับการเรียน ดังนั้นแบรนด์อาจพิจารณาสื่อสารโดยใช้ Pain points เหล่านี้สอดแทรกไปในเนื้อหาที่นำเสนอ อาจเป็นเนื้อหาให้ความรู้ง่าย ๆ หรือเนื้อหาที่สอดแทรกมุกตลก อาทิ บทความทำอย่างไรให้เรียนจบอย่างสุขภาพดี การทำเนื้อหาบนเพจสะท้อนชีวิตคลั่งเรียนของนักศึกษาปริญญาโท
เครื่องมือการสื่อสารการตลาดที่สร้างความได้เปรียบในการเข้าถึงนักศึกษาปริญญาโท
จากผลการศึกษา พบว่า นักศึกษาปริญญาโทใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์เป็นหลัก ติดตามสื่อสังคม (Social Media) อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ เพื่อการทำงาน การเรียน และผ่อนคลายความเครียด สะท้อนให้เห็นว่า สื่อสังคมเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารการตลาด เป็นสื่อโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต (Internet Advertising) เพื่อสร้างความได้เปรียบในการเข้าถึงนักศึกษาปริญญาโท เช่น เพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับปริญญาโท คล้ายกับเป็นอีกสังคมหนึ่งที่รวมนักศึกษาปริญญาโทเอาไว้ สำหรับพูดคุย บอกเล่า แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการเรียนปริญญาโท ตลอดจนมีการขายสินค้าที่มีข้อความเกี่ยวกับปริญญาโท ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่แบรนด์สินค้าและบริการทั่วไปสามารถซื้อโฆษณาเพื่อสื่อสารการตลาดไปยังนักศึกษาปริญญาโท อาทิ กระเป๋า สติกเกอร์ ที่มีข้อความเกี่ยวกับ “ปริญญาโท”
การตลาดทางตรง (Direct Marketing) เป็นอีกเครื่องมือที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกค้ากับแบรนด์สินค้าและบริการ ทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจมากขึ้น ลูกค้าจะรู้สึกเป็นคนที่แบรนด์ให้ความสำคัญ โดยแบรนด์ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ควรใช้สื่อสารการตลาดด้วยการส่งข้อความเชิญชวนให้ใช้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตราคาพิเศษสำหรับนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ต้องทำงานและเรียนควบคู่กันไป จึงต้องการเครือข่ายสัญญาณคุณภาพในราคาคุ้มค่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการเรียน หรือ แบรนด์ร้านหนังสือ อาจส่งข้อความเชิญชวนให้นักศึกษาปริญญาโท กดลิ้งก์ลงทะเบียน เพื่อรับสิทธิ์อ่าน E-book ฟรี สอดรับกับผลการวิจัยที่ว่า นักศึกษาปริญญาโทชอบหาความรู้เพิ่มเติม หรือแบรนด์ประกัน อาจส่งข้อความในเทศกาลและวันสำคัญของนักศึกษาปริญญาโทโดยใช้ฐานข้อมูลจากบัณฑิตวิทยาลัยที่ทำประกันไว้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตอาจนำไปสู่การเป็นลูกค้าในระยะยาวเมื่อนักศึกษาปริญญาโทว่างจากการเรียนและมีสนใจด้านการทำประกัน
นอกจากนั้น สื่อโฆษณากลางแจ้ง (Outdoor Advertising) อาทิ ป้ายโฆษณา จอ LED ตามท้องถนน รถไฟฟ้า หรือห้างสรรพสินค้า เป็นอีกช่องทางที่แบรนด์สามารถเข้าถึงนักศึกษาปริญญาโทได้ เห็นได้ผลการวิจัยพบว่า ในเวลาว่าง นักศึกษาปริญญาโทชอบออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านเพื่อหลีกหนีจากสภาพแวดล้อมปัจจุบัน อาทิ รับประทานอาหารนอกบ้าน หรือเดินทางไปต่างจังหวัด อีกทั้งสามารถเผยแพร่ได้ในวงกว้าง สื่อสารไปยังกลุ่มคนจำนวนมาก และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่จำกัดเวลา หรือแม้กระทั่งการสื่อสารผ่านสถานที่/ร้านอาหาร/ร้านคาเฟ่ที่นักศึกษาปริญญาโทใช้ทำงานกลุ่ม ทำการบ้าน หรือทำวิจัย อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีโอกาสในการสื่อสารกับกลุ่มดังกล่าว
การส่งเสริมการขาย (Sales Promotion) สามารถเข้าถึงนักศึกษาปริญญาโทได้มาก เห็นได้จากผลการวิจัยที่พบว่า Promotion ส่วนลดและของแถมเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดที่นักศึกษาปริญญาโทมีความถี่ในการเข้าถึงมากเป็นอันดับต้น ๆ หากแบรนด์สามารถเชื่อมโยงสินค้าและบริการเข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตของนักศึกษาปริญญาโทได้ จะสร้างโอกาสในการขยายตลาดเฉพาะกลุ่ม อาทิ แบรนด์เครื่องดื่มกาแฟ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่นักศึกษาปริญญาโทมีความต้องการเพิ่มขึ้นมากในช่วงการเรียนปริญญาโท อาจใช้ตู้จำหน่ายกาแฟอัตโนมัติแทนการใช้พนักงานขาย นำไปติดตั้งใต้อาคารเรียนปริญญาโท พร้อมให้สิทธิพิเศษแก่นักศึกษาปริญญาโท ทดลองดื่มกาแฟฟรีเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดที่ตู้ กรอกรหัสนักศึกษาปริญญาโทยืนยันตัวตน จากนั้นเมื่อซื้อแก้วถัดไปเพียงสแกนคิวอาร์โค้ดสามารถรับส่วนลดค่ากาแฟได้ทันที
นอกจากนี้ แบรนด์อาจจะพิจารณาใช้การบอกต่อ (word-of-mouth) โดยจัด Promotion โดยใช้กลุ่มเพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือบุคคลในครอบครัวเพื่อชักจูงใจ อาทิ Friend get friends หรือมีการทดลองแจกแบรนด์สินค้าและบริการให้นักศึกษาปริญญาโทโดยเฉพาะ อาจมีการให้รางวัล หรือมีวิธีกระตุ้นให้นักศึกษาปริญญาโทแนะนำ-บอกต่อ-ถ่ายภาพ-เขียนรีวิวลงบนโพสต์เฟซบุ๊กของตนเองต่อไป
ผศ.ดร.สุทธนิภา ศรีไสย์ อาจารย์ที่ปรึกษา ให้ความเห็นว่า “จากผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาปริญญาโทที่มีอาชีพ รายได้ ภูมิลำเนา และสาขาวิชาที่เรียนแตกต่างกันมีไลฟ์สไตล์ ความต้องการแบรนด์ รวมถึงโอกาสในการสื่อสารการตลาดแทบไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นักศึกษาปริญญาโทเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ซึ่งมีไลฟ์สไตล์และความต้องการแบรนด์คล้ายคลึงกัน มี pain points ใกล้เคียงกัน แม้ตลาดมีขนาดเล็ก มีจำนวนไม่มาก หลายธุรกิจอาจมองว่าไม่คุ้มที่จะลงทุนทำการตลาดแต่เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่กลับมา นับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจซึ่งอาจสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ได้ เพราะกลุ่มนักศึกษาปริญญาโทนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ในระดับปานกลางถึงสูงและมีอำนาจในการซื้อ และจะเต็มใจจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการในราคาที่สูงกว่าปกติเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ทั้งยังสนใจซื้อสินค้าออนไลน์ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการบอกต่อ คือ การถ่ายภาพ รีวิวสินค้าและบริการลงโพสต์ลงสื่อสังคมของตัวเอง และจะแนะนำผู้อื่นเสมอหากประทับใจในสินค้าและบริการนั้น นอกจากนี้ยังมีความต้องการแบรนด์เกือบทุกประเภทเพิ่มขึ้นในระหว่างเรียนปริญญาโท ประกอบกับใช้เวลาว่างกับการเล่นอินเทอร์เน็ต ใช้สื่อสังคม และหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงสนใจกิจกรรมเพื่อพัฒนาตัวเอง อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการสื่อสารการตลาด เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเฉพาะเจาะจง มีความเป็นวัฒนธรรมกลุ่มซึ่งอยู่ในวงจำกัด ทำให้สามารถเลือกช่องทางที่จะสื่อสารทางการตลาดแบบเจาะจง ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี นักสื่อสารการตลาดควรศึกษาพฤติกรรมและค้นหาความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็น Stated Need, Real Need, Unstated Need, Delight Need, Secret Need หรือแม้กระทั่งความต้องการที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของผู้บริโภค (Unmet Needs) ก่อนวางแผนสื่อสาร
“หากเราทราบพฤติกรรมหรือความต้องการของคนกลุ่มนึง อาจนำไปสู่ความเข้าใจ Pattern พฤติกรรมอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ ข้อน่าสังเกตจากผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า นักศึกษาปริญญาโทมีการทำกิจกรรม (Activities) และความสนใจ (Interest) รวมถึงการบริโภคสื่อคล้ายคลึงกับตลาดคนเหงา (Lonely Market) และตลาดคนอกหัก (Broken-hearted Market) โดยพบว่า กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด อารมณ์ขุ่นมัว หรือ ไม่สบายใจ นิยมทำกิจกรรมที่หลีกหนีความเป็นจริง หรือสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ เช่น รับประทานอาหารในร้านอาหาร หรือคาเฟ่ และนิยมการช็อปปิง รวมถึงใช้สื่อสังคม เช่น เฟซบุ๊กในการผ่อนคลายความเครียด หรือ อารมณ์หดหู่…นักการตลาดสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปออกแบบเครื่องมือสื่อสารการตลาดให้เข้าถึงจริตของผู้บริโภคได้ นอกจากจะขายของได้ การสื่อสารการตลาดอาจใช้ในการเยียวยาจิตใจผู้บริโภคได้อีกด้วย” ผศ.ดร.สุทธนิภา กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: ศูนย์ศึกษาสื่อและการสื่อสารอาเซียน คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (AMSAR)