ลดความเสี่ยงไฟไหม้! “นายกสภาวิศวกร” เตือนโรงงานคุมเข้มมาตรการป้องกันไฟไหม้ซ้ำ ต้องมีแผนจัดการ “ก่อนเกิด-ขณะเกิด-หลังเกิด” เพื่อลดการสูญเสียชีวิต-ทรัพย์สิน
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แนะทางออกโรงงานไฟไหม้ซ้ำ ด้วยมาตรการ 3 ระยะ ลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพิ่มความปลอดภัยการใช้ชีวิตในภาคประชาชน ดังนี้ 1. มาตรการก่อนเกิดเหตุ ที่สามารถทำได้โดยการเร่งทำระบบฐานข้อมูล ใช้มาตรการด้านผังเมืองท้องถิ่นควบคุมการผลิต ติดตาม-ตรวจสอบโรงงานอยู่สม่ำเสมอ เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัย 2. มาตรการขณะเกิดเหตุ ด้วยการปรับปรุงแผนปฏิบัติการที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล มีระบบบัญชาการพื้นที่ชัดเจน มีมาตรการการอพยพคน-การเคลื่อนย้ายรวดเร็ว และ 3. มาตรการหลังเกิดเหตุ ที่จำเป็นต้องทำต่อเนื่อง ผ่านการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง สอบสวนเหตุการณ์เชิงลึก และพัฒนาองค์ความรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านการร่วมประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า โรงงานภาคอุตสาหกรรมประสบเหตุโรงงานระเบิดหรือไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง ทั้งท่อแก๊สระเบิด โรงงานเม็ดโฟมระเบิด และล่าสุดโรงงานรองเท้าไฟไหม้ ที่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่โดยรอบเป็นอย่างมาก จากการฟุ้งกระจายของสารเคมีในชั้นบรรยากาศ รวมถึงการตกค้างของสารเคมี-แก๊สพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติ ผิวดิน หรือแม้กระทั่งผลผลิตทางการเกษตร ในฐานะ “นายกสภาวิศวกร” และพลเมืองคนหนึ่งที่มีบ้านและครอบครัวในกรุงเทพ ขอยื่นข้อเสนอแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประยุกต์ใช้มาตรการแก้ปัญหา 3 ระยะตามหลักวิศวกรรม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือผลกระทบข้างต้น อีกทั้งสร้างความปลอดภัยเพื่อลดความตื่นตระหนกในภาคประชาชน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- มาตรการป้องกันก่อนเกิดเหตุ (ซ้ำซาก) ผ่านการดำเนินงานใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ (1) เร่งทำระบบฐานข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีตำแหน่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลใกล้ชุมชน ได้แก่ วัตถุดิบในการผลิต สารเคมีอันตราย ขนาดความจุ สถานที่เก็บ และสถานะของเครื่องจักรที่ได้รับการตรวจสอบล่าสุดเมื่อใด ฯลฯ พร้อมทั้งแจ้งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผู้รับผิดชอบทราบทันที (2) ใช้มาตรการด้านผังเมืองท้องถิ่นควบคุมการผลิต หรือแรงม้าเครื่องจักร เพื่อป้องกันมิให้โรงงานไม่สามารถขยายกำลังการผลิตที่มีความเสี่ยงต่อชุมชนได้ (3) ติดตาม-ตรวจสอบโรงงานอยู่สม่ำเสมอ โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนที่อยู่รอบในรัศมี เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบ เป็นหูเป็นตาให้รัฐ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และ (4) เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัย ผ่านการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดับเพลิง สารเคมีที่ใช้ดับเพลิง การตรวจสอบซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือที่ชำรุดการไม่ได้ การติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย รวมทั้งการปรับปรุงสถานีดับเพลิงให้ได้มาตรฐาน ฯลฯ
- มาตรการขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ (ที่ผิดพลาดประจำ) ผ่านการดำเนินงานใน 3 แนวทางได้แก่ (1) ปรับปรุงแผนปฏิบัติการตามมาตรฐานสากลและทันสมัย นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทั้งการสื่อสาร การควบคุม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าระงับเหตุ ตลอดจนลดผลกระทบที่อาจจะเกิดทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน (2) มีระบบบัญชาการพื้นที่หรือต้องมีผู้บัญชาการเหตุการณ์อย่างชัดเจน มีความรู้รอบด้านและสามารถรวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยเข้าระงับเหตุอย่างทันท่วงทีและแม่นยำ (3) มีมาตรการการอพยพคน การเคลื่อนย้ายของอย่างรวดเร็วแบบญี่ปุ่น กำหนดจุดนัดพบหรือจุดรับการอพยพ ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีจุดนัดพบดังกล่าว!?
- มาตรการหลังเกิดเหตุ (จำเป็นมาก) นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่จำเป็นอย่างยิ่งภายหลังการระงับเหตุเป็นไปอย่างเรียบร้อยและปลอดภัย ผ่านการดำเนินงานใน 3 ขั้นตอน ดังนี้ (1) ตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนสุขภาพของประชาชน เพื่อกำหนดมาตรการเยียวยาพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอย่างเป็นธรรม (2) ต้องสอบสวนเหตุการณ์เชิงลึก หาสาเหตุของการเกิดเหตุและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อถอดบทเรียนจริงจัง พัฒนาองค์ความรู้เพื่อป้องกันเหตุซ้ำซาก ซึ่งในต่างประเทศมีการถอดบทเรียนเป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้สนใจได้ศึกษาโดยละเอียด (3) พัฒนาองค์ความรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านการร่วมประชุมทุกฝ่าย ระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกับหน่วยงาน ตลอดจนนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง
“อย่างไรก็ดี เหตุอัคคีภัยดังกล่าวจะลดน้อยถอยลงได้ หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังกันอย่างแข็งขัน ผ่านการถอดบทเรียนเพื่อจัดทำเป็นกรณีศึกษาหรือวาระแห่งชาติ เพื่อร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ จัดกิจกรรมฝึกปฏิบัติการดับเพลิงหรือเลือกใช้สารดับเพลิงที่สอดคล้องกับสารเคมีก่อประกายไฟ หรือกระทั่งการบรรจุหลักสูตรการเอาตัวรอดแก่ภาคประชาชน โดยอาจจะเริ่มจากระดับอนุบาล เป็นต้น อันจะนำไปสู่มาตรการเฝ้าระวังและระงับเหตุอัคคีภัยในระดับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน และเหมาะสมกับการนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ในอนาคต #จะทำก็ทำได้” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์