นิสิตนิติศาสตร์ จุฬาฯ ครองแชมป์การแข่งขันว่าความศาลจำลอง และบทบาทสมมติ ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ประจำปี 2021
ทีมนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันว่าความศาลจำลอง (Moot Court) และบทบาทสมมติ (Role Play) ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ประจำปี 2021 ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในรอบ Asia Pacific และ Jean-Pict Competition ต่อไป
ทีมนิสิตที่ได้รางวัลชนะเลิศ ประกอบด้วย นางสาวธัญลักษณ์ ประสมทอง นางสาวรินรดา สากิยลักษณ์ นายอันดามัน สายสีทอง นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากนี้นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภท Role Play รางวัลรองชนะเลิศ Best Mooter รางวัลที่ 2 และรางวัลที่ 3 Prosecution Memorial Defence Memorial อีกด้วย
ธัญลักษณ์ ประสมทอง (น้องปาร์ตี้) นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ตัวแทนทีมนิสิตที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้รับรางวัลพิเศษ Best Mooter จากการแข่งขันครั้งนี้ เปิดเผยว่า การแข่งขันว่าความศาลจำลอง และบทบาทสมมติในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ประจำปี 2021 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 – 19 และ 25 -26 กันยายน 2564 เพื่อคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันว่าความศาลจำลองในระดับภูมิภาค และแข่งขันรายการบทบาทสมมติในระดับนานาชาติ ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นที่ประเทศเม็กซิโก
น้องปาร์ตีเล่าถึงการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ว่า “ทางคณะจะมีชมรม IMAC (International Mooting Association of Chulalongkorn University) ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและช่วยเตรียมความพร้อมให้นิสิตเพื่อเข้าร่วมแข่งขันว่าความศาลจำลอง โดยมีรุ่นพี่ที่เคยแข่งขันรายการนี้เมื่อปีก่อนๆ มาให้คำแนะนำและช่วยเป็นโค้ชให้”
การแข่งขันว่าความศาลจำลอง (Moot Court) ในรอบแรกหรือรอบ Preliminary Round เป็นการคัดเลือก 10 ทีมสุดท้าย โดยผู้เข้าแข่งขันต้องทำแบบทดสอบจากกาชาดระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย (ICRC) จากนั้นจะมีโจทย์สำหรับการแข่งขันว่าความศาลจำลอง ผู้เข้าร่วมแข่งขันต้องเขียนคำฟ้องทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย และต้องว่าความกับศาล โดยจะมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่เป็นศาลคอยถามคำถามทางกฎหมายระหว่างที่ผู้เข้าแข่งขันว่าความ เมื่อผ่านคัดเลือกในรอบแรกแล้ว จะมีการคัดเลือก 4 ทีม เพื่อเข้ารอบ Semifinal และคัดเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกเพื่อแข่งขันรอบ Championship ต่อไป
“ส่วนการแข่งขันบทบาทสมมติ (Role Play) จะไม่มีโจทย์มาให้ล่วงหน้าเหมือนการแข่งขันว่าความศาลจำลอง แต่จะให้เวลาประมาณ 15 นาทีเพื่ออ่านโจทย์ และตีความบทบาทสมมุติที่ได้รับว่าเราอยู่ในสถานการณ์ไหน เราก็จะต้องเป็นผู้เจรจาในสถานการณ์นั้นๆ” น้องปาร์ตี้กล่าว สำหรับความท้าทายในการแข่งขันในครั้งนี้เป็นเรื่องของเวลาในการแข่งขันที่ใกล้กับช่วงสอบกลางภาค “วันที่แข่งเสร็จ วันตอมาก็เป็นวันสอบกลางภาคเลย ซึ่งปี 3 เป็นปีที่ค่อนข้างหนัก ต้องอ่านหนังสือเยอะมากๆ และเพื่อนในทีมทุกคนอยู่ชั้นปีเดียวกันทั้งหมด จึงต้องแบ่งเวลาให้ดีมากๆ” น้องปาร์ตี้ กล่าว
สำหรับประสบการณ์และความรู้จากการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ทำให้น้องปาร์ตี้ได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์การว่าความจริง เข้าใจการใช้กฎหมายในสถานการณ์จริงมากขึ้น การแข่งขันในครั้งนี้ทำให้ได้นำความรู้มาใช้จริงนอกเหนือจากแค่อ่านในหนังสือ เช่น การอธิบายกฎหมายให้กับผู้ลีภัย ทหาร ตำรวจ ซึ่งต้องอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายที่สุด
น้องปาร์ตี้เผยถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า เกิดจากทีมเวิร์คที่ดี เพื่อนในทีมทุกคนทุ่มเทให้กับการแข่งขันเต็มที่ โดยค้นคว้าหาข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันและฝึกซ้อมด้วยกันอยู่เสมอ สำหรับการแข่งขันในรอบต่อไป น้องปาร์ตี้และเพื่อนๆ ก็ได้เตรียมความพร้อมเป็นอย่างดีเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันในระดับเอเชีย
“ที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันในประเทศ เราได้ฝึกซ้อมกับรุ่นพี่ แต่เมื่อได้ไปแข่งขันในเวทีใหญ่ขึ้นระดับเอเชีย เราต้องซ้อมหนักขึ้น พยายามหาคนที่มาช่วยโค้ชให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ในคณะ หรือจากสถาบันอื่นๆ เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่จัดแบบออนไลน์จึงต้องเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ อุปกรณ์ กล้อง และสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้พร้อมด้วย”
“ฝากถึงน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันในปีหน้า ไม่จำเป็นต้องเป็นนิสิตนักศึกษาด้านกฎหมายก็สามารถสมัครได้ ในบางปีมีนักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์มาสมัคร เพียงแค่ใช้ทักษะทางกฎหมายก็สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ สำหรับผู้ที่สนใจกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ หรือผู้ที่อยากมาลองเขียนคำฟ้อง การว่าความ ควรที่จะมาสมัครรายการนี้เพราะจะทำให้เราได้เพิ่มทักษะ ความสามารถ และได้ประสบการณ์ที่ดีจากการแข่งขัน” น้องปาร์ตี้ฝากเชิญชวน
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย