มหาวิทยาลัยพะเยา ต้อนรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ เยี่ยมชมมรดกทางวัฒนธรรมเมืองพะเยา
มหาวิทยาลัยพะเยา ต้อนรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ เยี่ยมชมมรดกทางวัฒนธรรมเมืองพะเยา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา ให้การต้อนรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในโอกาสที่มาเยี่ยมชมมรดกทางวัฒนธรรมเมืองพะเยา ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทั้งนี้มหาวิทยาลัยพะเยา ได้มอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต ดร.วุฒิชัย ไชยรินคำ ผู้ช่วยอธิการบดี อาจารย์จารุวรรณ โปษยานนท์ พร้อมด้วยหัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) นายนริศ ศรีสว่าง และนักวิจัยและประธานวิสาหกิจชุมชนแม่ต๋ำหล่ายต้า นายอัษฎากรณ์ ฉัตรานันท์ เป็นผู้ให้ข้อมูลและนำชม วัดศรีโคมคำ พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี) โบราณสถานวัดสบร่องขุย สักการะราชานุสาวรีย์พญางำเมือง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมคณะผู้บริหาร รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดพะเยา และพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา
“จากการจัดอันดับประเทศยอดเยี่ยมในโลกที่มีอิทธิพลด้านมรดกทางวัฒนธรรม พบว่าประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 5 ของโลก ซึ่งเราถือว่าเป็นสิ่งที่บรรพชนของเราได้ลุงทุนไว้มากมายในอดีตและตกทอดมาถึงปัจจุบัน เราต้องนำรากวัฒนธรรมชุมชนนี้ เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่การพัฒนาประเทศต่อไป โดยเฉพาะวันนี้ได้มีโอกาสมาเห็นเมืองเก่าพะเยา และรับฟังข้อมูลต่าง ๆ ยิ่งเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเดินสองขา คือ ขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ขาด้านศิลปวัฒนธรรมต่อยอดไปยังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งขาวิทยาศาสตร์สามารถเข้ามาช่วยงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมได้อีกมาก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าว
อีกทั้งยังฝากถึงมหาวิทยาลัยพะเยาพิจารณาส่งเสริมหลักสูตรที่เกี่ยวกับ Cultural Heritage ซึ่งทราบว่ามหาวิทยาลัยมีรายวิชาพะเยาศึกษาเป็นเบื้องต้นแล้วนั้น ยิ่งควรพัฒนาสร้างหลักสูตรเช่นนี้ เพื่อให้คนทั่วโลกที่สนใจได้มาเรียนรู้ โดยเฉพาะเมืองพะเยาหรือเมืองภูกามยาวแห่งนี้ มีหลักฐานโบราณคดีมากมาย มีจารึกหินทรายจำนวนมาก มีประวัติศาสตร์ที่สามารถย้อนขึ้นไปไกลจากสมัยพญางำเมืองได้อีกเป็นร้อยปีถึงยุคขุนเจือง ต้องถือว่าที่นี่เป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญอย่างยิ่ง พร้อมมอบหมายให้มหาวิทยาลัยพะเยาขับเคลื่อนและพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางสังคม ตามแนวทางธัชชา อีกด้วย
ที่มา: มหาวิทยาลัยพะเยา