การศึกษาไทยมูฟออน!! สมศ. พาเปิดห้องเรียน “ไกลกังวล ฯ – เทศบาลสวนสนุก” กับเคล็ดลับ “ปรับเทคนิค” “ปรับสกิล” รับเปิดเรียนอีกครั้ง
หนึ่งปีที่ผ่านมาระบบการศึกษาทั่วโลกอยู่ในภาวะที่เรียกว่าสงบนิ่ง เสมือนถูกฟรีซไว้ ภาคส่วนดังกล่าวไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ เด็กๆ หลายคนเสียโอกาสในการวิ่งเล่นและทำกิจกรรม พลาดโอกาสทางการศึกษาไปกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น โดยการระบาดดังกล่าวยังเป็นตัวซ้ำเติมถึงระบบการเรียนการสอนออนไลน์ ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพที่ผู้สอนและผู้เรียนไม่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างเต็มที่ ปัญหาและอุปสรรคระหว่างที่เรียนออนไลน์จะได้รับการแก้ไขอย่างไร หรือจะมีการเปิดเทอมให้กลับเข้าไปเรียนที่โรงเรียนได้ปกติเมื่อไหร่ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ยังคล้ายเป็นการปิดเทอมใหญ่ที่แสนจะยาวนาน ที่ทุกๆ คน ต่างเฝ้ารอวันที่จะกลับมาปกติเหมือนเดิมอีกครั้ง
แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้ช่วงเวลาที่หยุดนิ่งดังกล่าว ก็ยังมีหลายหน่วยงานพยายามปรับหรือหาวิธีการที่จะให้สามารถดำเนินงานไปได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ลดภาระขั้นตอนการประสานงาน หรือสร้างโมเดลรูปแบบการทำงานใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะหน่วยงานประเมินการศึกษาอย่าง สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. ก็ได้มีการปรับรูปแบบการประเมินแบบใหม่ที่เน้นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น หรือ สถานศึกษาที่สามารถสร้างโมเดลการสอนให้เหมาะสมกับสถานศึกษาของตนเอง จนสามารถประสบความสำเร็จได้รับรางวัลสถานศึกษา ประเภทดีเยี่ยม ในการประเมินคุณภาพภายนอกระยะที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 อย่างเช่น โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และโรงเรียนเทศบาลสวนสนุก จังหวัดขอนแก่น
– จากผู้นำการสอนทางไกล สู่ความพร้อมการสอนออนไลน์ และแผนเตรียมฟื้นฟูจิตใจเด็ก
ดร.ราตรี ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนไกลกังวลในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีระบบการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV และพัฒนาการสอนของครูอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครูผู้สอนทุกท่านมีประสบการณ์ และเทคนิคในการสอนผ่านหน้ากล้อง ทำให้ทางโรงเรียนไม่ประสบปัญหาเท่าใดนักเมื่อต้องมีเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ แต่ปัญหาสำคัญคือการที่นักเรียนไม่สามารถมาโรงเรียนได้ จึงทำให้โรงเรียนต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยทางโรงเรียนและครูผู้สอนได้ช่วยกันวิเคราะห์ว่า ในเมื่อนักเรียนไม่สามารถมาโรงเรียนได้ ดังนั้นทางโรงเรียนจึงมีนโยบายจับโรงเรียนไปหานักเรียนที่บ้านแทนผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ถุงปัญญา” ที่ภายในประกอบด้วยหนังสือนิทาน เกมเสริมสร้างทักษะ ตลอดจนอุปกรณ์ประกอบกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ที่เป็นการเสริมสร้างทักษะให้กับนักเรียน พร้อมคู่มือการสอนในการทำกิจกรรมทุกขั้นตอนให้กับผู้ปกครอง และคู่มือการประเมินนักเรียนแบบง่ายๆ ที่จะให้ผู้ปกครองช่วยประเมินว่าบุตรหลานของตนได้ว่าสามารถทำกิจกรรมได้แค่ไหน มีพัฒนาการไปได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งวิธีการประเมินก็จะแตกกต่างกันไปตามระดับชั้น นอกจากนั้นทางโรงเรียนได้มีการวางแผนไว้เพื่อรองรับหากเด็กนักเรียนต้องกลับเข้ามาเรียนรวมกัน โดยทางโรงเรียนได้เตรียมหลักสูตรฟื้นฟู ด้วยการให้ครูผู้สอนทุกกลุ่มการเรียนรู้มาช่วยกันวิเคราะห์กันว่า เมื่อมีการเปิดเทอมแล้วทางโรงเรียนจะต้องมีการฟื้นฟูเรื่องใดบ้างให้กับนักเรียน ซึ่งอาจจะมีการตัดบทเรียนบางส่วนออก หรือบางอย่างที่มีการสอนออนไลน์ไปแล้วอาจไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร อาจจะนำมาสอนเพื่อเป็นการทบทวนให้กับนักเรียนอีกครั้ง
ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้การสื่อสารถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ทางโรงเรียนจึงให้ครูผู้สอนโทรศัพท์หานักเรียนวันละ 5 คน เพื่อเป็นการพูดคุยให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างครูผู้สอนและเด็กนักเรียน รวมไปถึงให้ครูผู้สอนได้พูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อสอบถามความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนไปพร้อมกัน อีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันมาตรการด้านความปลอดภัยของครูผู้สอนและนักเรียน เพราะบางครั้งครูผู้สอนต้องพบปะกับผู้ปกครองหรือนำใบงานไปให้เด็กนักเรียนที่บ้าน ดังนั้นทางโรงเรียนจึงมีมาตรการดูแลบุคลากรของทางโรงเรียนด้วยการให้ครูผู้สอนทุกท่านเข้ารับการฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ และให้มีการตรวจ ATK ทุก 2 สัปดาห์ ดร.ราตรี กล่าวเสริม
– “คิด แก้ ลงมือ” ร่วมกัน พลังสำคัญในการฝ่าวิกฤต
นางช่อเอื้อง ฤกษ์รุจิพิมล ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลสวนสนุก กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ทางโรงเรียนเทศบาลสวนสนุกได้สร้างโมเดลการสอนแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นการประเมินและปรับเปลี่ยนจากการสอนออนไลน์ที่ผ่านมา โดยคำนึงถึงว่าการเรียนแบบไหนจะเหมาะสมกับผู้เรียนมากที่สุด ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ออกมาแล้วก็ได้โมเดลการเรียนการสอนที่ว่าใน 1 วันนั้นจะให้มีการเรียน 4 วิชาเท่านั้น เพื่อเป็นการไม่ให้นักเรียนเกิดความกดดันหรือมีความเครียดในการเรียนออนไลน์มากเกินไป สามารถไปวิ่งเล่นให้เหมาะสมกับวัยของเขา และทางโรงเรียนยังให้ครูผู้สอนโทรศัพท์สอบถามยังผู้ปกครองในทุกระดับชั้นเสมอว่า เกิดปัญหาใดบ้างในการเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองอยากให้ทางโรงเรียนช่วยเหลืออย่างไรเป็นการปรึกษากัน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันหาทางออกให้เกิดความเหมาะสมกับทุกฝ่าย
ซึ่งการสอนออนไลน์ของทางโรงเรียนนั้นทำให้ครูผู้สอนต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก ทั้งการเรียนรู้เทคโนโลยีเครื่องมือในการสอนแบบใหม่ การปรับความคุ้นเคยสำหรับการสอนผ่านหน้ากล้อง เทคนิคการสอนที่ดึงดูความสนใจ ครูผู้สอนแต่ละท่านก็หาวิธีการที่ตนเองถนัดมาใช้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจเข้าเรียนออนไลน์ เช่น การใช้ท่วงทำนองหมอลำประกอบการสอนออนไลน์ เพราะหมอลำเป็นศิลปะพื้นถิ่นที่นักเรียนมีความคุ้นเคย ดังนั้นเมื่อนำทำนองหมอลำเข้ามาประกอบการการสอนออนไลน์ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจ และตั้งใจในการเรียนออนไลน์มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับสร้างกิจกรรมหรือเกมส์ฝึกทักษะให้นักเรียนเล่นระหว่างที่เรียนออนไลน์ โดยทางโรงเรียนได้มีการส่งเสริมความรู้ให้กับครูผู้สอนในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการสอน ด้วยการจัดอบรมในช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์ โดยการให้ครูผู้สอนในโรงเรียนบางท่านที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีมาเป็นวิทยากรสอน ซึ่งทางโรงเรียนไม่ได้มีการบังคับให้เข้าอบรม แต่ครูผู้สอนทุกท่านต่างเข้ารับการอบรมด้วยความสมัครใจ เพราะต้องการที่จะเรียนรู้ในเรื่องของเทคโนโลยี ลดปัญหาระหว่างสอนออนไลน์ นับว่าเป็นการอุทิศตนเองในช่วงวันหยุดของคุณครูผู้สอนทุกคนในโรงเรียนเทศบาลสวนสนุกเป็นอย่างมาก นางช่อเอื้อง กล่าวเพิ่มเติม
– ลดภาระครู สู่การเพิ่มเทคโนโลยี และชี้ทางออกที่ตรงจุด
ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา สมศ. ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 โดยพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงตามบริบทการจัดการเรียนการสอนและการจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดย สมศ. ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมิน โดยได้นำรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์ COVID-19 มาใช้เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยกำหนดแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์ COVID -19 เป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 เป็นการประเมินผลการวิเคราะห์จาก SAR ของสถานศึกษาโดยไม่ขอเอกสารเพิ่มจากสถานศึกษา เพื่อเป็นการลดภาระและไม่รบกวนสถานศึกษา ส่วนระยะที่ 2 เป็นการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแบบออนไลน์ ซึ่งการประเมินในระยะที่ 2 เป็นการประเมินจากการตรวจเยี่ยมแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจของสถานศึกษา ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้เรื่องแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ให้กับสถานศึกษาผ่านโครงการส่งเสริมสถานศึกษาและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดแบบออนไลน์ ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับชมวีดิทัศน์ และดาวน์โหลดไฟล์เอกสารแนะนำ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยแนวทางดังกล่าวทำให้ สมศ. สามารถประเมินคุณภาพภายนอกและรับรองผลให้แก่สถานศึกษาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้สถานศึกษาหลายแห่งต้องปิดการเรียนการสอนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ส่งผลให้สถานศึกษาหลายแห่งเกิดความกังวลในการขอเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก ดังนั้นจึงขอย้ำอีกครั้งว่า สมศ.ได้มีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างนี้มาประกอบการพิจารณาปรับรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป โดยที่ สมศ. ยังคงยึดหลักการประเมินคุณภาพภายนอกโดยไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้แก่สถานศึกษาและครูผู้สอน พร้อมทั้งเน้นการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่สถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของสถานศึกษาและสถานการณ์ในปัจจุบันได้
ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 ทำสถานศึกษาต่างก็พยายามที่จะ “เรียนรู้” ในการหาโมเดลที่ใช่ แล้วนำมา “ปรับเปลี่ยน” เพื่อให้เหมาะสมกับสถานศึกษาของตนเองให้มีความพร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปสู่ความก้าวหน้าได้อย่างไม่มีสะดุด ซึ่งเชื่อได้ว่าอีกไม่นานนี้ ระบบการศึกษาไทยจะมีการเปลี่ยนแปลง และก้าวไปสู่จุดที่ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์