เปิดเคล็ดลับ สมัครงานอย่างไรให้ปัง ต้องมี “คุณ-นะ-ทำ” ไม่ใช่แค่คิดอย่างเดียว

เปิดเคล็ดลับ สมัครงานอย่างไรให้ปัง ต้องมี “คุณ-นะ-ทำ” ไม่ใช่แค่คิดอย่างเดียว

แนะนักศึกษาจบใหม่ ต้องกล้าออกจาก Comfort zone สร้างทักษะจากการทำสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต แค่หัดทำอาหารก็ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นได้ ระบุ ปัจจุบันองค์กรต้องการ “คุณ-นะ-ทำ”

รศ.ดร.สถาพร โอภาสานนท์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและกำลังเข้าสู่ชีวิตการทำงาน จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องความรู้และทักษะ แต่ส่วนตัวให้น้ำหนักไปที่ทักษะมากกว่า เนื่องจากความรู้ในปัจจุบันเข้าถึงง่าย อยู่ที่ปลายนิ้วมือ เพียงเปิดมือถือก็หาความรู้ได้มากมายแล้ว ส่วนทักษะจำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ

สำหรับทักษะที่ควรฝึกฝนในโลกยุคใหม่คงไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว หลายคนพูดกันถึงความพร้อมต่อการมาถึงของยุคดิจิทัล จำเป็นต้องเขียนโปรแกรม (Coding) เป็น หรือมีพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ส่วนตัวเห็นว่าหากทุกคนมุ่งไปทางนั้นพร้อมกันหมด ศาสตร์ด้านอื่นก็คงไม่เหลือความจำเป็นอีกแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่

อย่างไรก็ตาม ทักษะที่ควรมีในปัจจุบันและอนาคต คือพื้นฐานทางด้านภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ 2, 3 หรือ 4 ก็ตาม ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องมือแปลภาษาช่วยเหลือให้สามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น แต่ภาษาก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการพูดเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ หากไปติดต่อธุรกิจแล้วใช้แต่เครื่องมือแปลภาษา การปฏิสัมพันธ์กับคู่สนทนาก็จะไม่เกิดขึ้นเท่ากับที่เราพูดเอง

นอกจากนี้ ทักษะที่สำคัญที่ต้องมีควบคู่กันไปคือทักษะที่ไม่ได้อยู่ใน comfort zone ของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ทันสมัยหรือซับซ้อน ตัวอย่างเช่น ทักษะการทำอาหารที่สามารถฝึกได้ หรือทักษะด้านการเล่นเกม ที่อาจพัฒนาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตหรือเกมดีไซเนอร์ แม้กระทั่งทักษะที่สะสมมาจากการออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว หรือไปเป็นยูทูปเบอร์ได้เช่นกัน ซึ่งอาชีพในปัจจุบันมีความหลากหลายมากกว่าในอดีตมาก

รศ.ดร.สถาพร กล่าวต่อไปว่า ทักษะบางอย่างอาจไม่ได้ประโยชน์ทางตรง เช่น ฝึกทำอาหาร สุดท้ายแม้จะไม่ได้เป็นเชฟหรืออยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้กระบวนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ฝึกความมีระเบียบรอบคอบ รู้จักอดทนรอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมให้เรามีความแตกต่างในการทำงานจริงมากกว่าคนอื่น เพราะเวลาทำงานจริง บริษัทหรือนายจ้างอาจไม่ได้ให้ความสำคัญว่าเราเรียนอะไรมาบ้าง เก่งอะไรมา คนที่เรียนได้เกรดดีๆ อาจทำงานสู้คนเรียนได้เกรดกลางๆ ไม่ได้ เพราะการทำงานไม่ได้ใช้แค่ความรู้ ทุกอย่างที่เราได้จากการออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ สามารถที่จะเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้เราได้

“เราจะเลือกทำอะไรอาจไม่สำคัญเท่ากับเราได้คิดตรึกตรองอะไรตามไปด้วยในการทำกิจกรรมนั้นๆ ควรก้าวออกจาก comfort zone เดิมๆ เปลี่ยนไปหาสิ่งอื่น ลองทำสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะนักศึกษาที่เพิ่งจบ ถ้าล้มวันนี้ก็ยังไม่เจ็บหนักเท่าคนที่มีอายุมาก คนรุ่นใหม่มีโอกาสให้ล้ม มีโอกาสได้เรียนถูกเรียนผิด ที่สำคัญคือล้มได้แต่ต้องรีบลุก และต้องเรียนรู้จากการล้ม ใช้เวลาอย่างสนุก ตื่นเต้น ก่อนเริ่มทำงาน” รศ.ดร.สถาพร กล่าว

สำหรับทักษะสำคัญที่ทุกคนควรจะมี คือ “Problem Solving” ในยุคนี้ต้องแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง คนที่จะมีทักษะในการแก้ปัญหาได้จะต้องสามารถคิดอย่างเป็นระบบ คิดแบบมีตรรกะ และคิดในเชิงวิเคราะห์ได้ และมากกว่าการเป็นนักคิด ต้องเป็นนักทำด้วย

“คิดอย่างเดียวแต่ไม่รู้ว่าจะทำให้สิ่งที่เราคิดอออกมาเป็นรูปปฏิบัติได้อย่างไร แล้วตัวเองก็ทำไม่ได้ ต้องไปหาคนอื่นทำ ในยุคนี้อาจจะลำบาก สิ่งที่องค์กรต้องการไม่ใช่แค่คิดได้อย่างเดียว แต่คิดแล้วต้องมี “คุณ-นะ-ทำ” ด้วย คือคิดแล้วก็ต้องลงมือทำได้ด้วย” รศ.ดร.สถาพร กล่าว

รศ.ดร.สถาพร กล่าวถึงการสมัครงานว่า การสมัครงานจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบรรทัดฐานและมารยาททางสังคม ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายในใบสมัคร หรือการสนทนาตอบโต้ ซึ่งต้องเข้าใจว่าชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยหรือในครอบครัว มีความต่างจากสังคมในที่ทำงาน ที่สำคัญคือต้องพยายามหาจุดแข็งของตนเองมานำเสนอให้เขาเห็นว่าทำไมเราถึงเด่นกว่าคนอื่น ทำไมเขาควรลงทุนกับเรา

“ไม่มีใครอยากรับคนที่ไม่แตกต่างจากคนอื่น ทุกที่ล้วนต้องการคนที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรได้ จุดแข็งจะต้องสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทและตำแหน่งนั้นต้องการ” รศ.ดร.สถาพร กล่าว

ที่มา: คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ