ม.มหิดล สร้าง “ภูมิคุ้มกันทางปัญญา” ปรับหลักสูตรพยาบาลให้พร้อมรับสถานการณ์ “อยู่ร่วมCOVID-19” และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี ตรงกับ”วันพยาบาลแห่งชาติ” ซึ่งจัดตั้งขึ้นเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ที่ทรงมีคุณูปการต่อการพยาบาลไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงบทบาทของคณะฯในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา ซึ่งได้สืบสานพระปณิธานแห่ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ที่ทรงอุทิศตนเพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้เข้าถึงการดูแลสุขภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ด้อยโอกาส และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล ได้ให้ความเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าประเทศไทยจะประสบกับภาวะยากลำบากจากวิกฤติการณ์ใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ เคียงบ่าเคียงไหล่บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ และสหสาขาวิชา คอยให้ความช่วยเหลือดูแลสุขภาวะประชาชน โดยเป็นผู้วางระบบการบริหารจัดการ การประเมินผู้ป่วยและส่งต่อ ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการประจำศูนย์ ทั้งในรูปแบบของ CI – Community Isolation หรือการกักโรคในชุมชน และ HI – Home Isolation หรือการกักโรคที่บ้าน
ที่ผ่านมา จากการปฏิบัติหน้าที่ในการลงพื้นที่ของคณาจารย์นักศึกษา และบุคลากรของคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ณ หน่วย CI ในชุมชนต่างๆ ในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้ทุกหน่วยที่อยู่ในความดูแลไม่ปรากฏผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 โดยทางคณะฯ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะลดระดับลงจน “Set Zero” หรือเท่ากับเลขศูนย์
ซึ่งการเปิดโอกาสให้นักศึกษาของคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ในทุกหลักสูตรได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจิตอาสาช่วยเหลือดูแลประชาชน นอกจากจะเป็นการฝึกวิชาชีพพยาบาลจากการได้ปฏิบัติจริงแล้ว คณะฯ ยังได้วางแผนสู่การถอดบทเรียน และต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาวะประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไปอีกด้วย
และที่สำคัญ การที่จะ “อยู่ร่วม COVID-19” และโรคอุบัติใหม่ในอนาคตต่อไปได้อย่างยั่งยืน นอกจากจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางร่างกายด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว จำเป็นจะต้องมีการสร้าง “ภูมิคุ้มกันทางปัญญา” เพื่อเตรียมพร้อมต่อทุกสถานการณ์อย่างยั่งยืน โดยต่อไปคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะได้มีการปรับทุกหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาการพยาบาล ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อการเรียนรู้ และพร้อมรับสถานการณ์วิกฤติต่างๆ รวมทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอีกด้วย
“เชื่อว่าความเป็นคนไทยมีจิตใจดีมีอยู่ในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว แต่พยาบาลที่ดี นอกจากการมีจิตใจที่ดีแล้ว จะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และต่อประชาชนในเรื่องของการดูแลสุขภาวะในทุกโอกาส เพื่อบรรลุสู่หนทางที่จะก้าวผ่านวิกฤติการณ์ต่างๆ สู่ความเป็นปกติวิถีใหม่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
แบนเนอร์ออกแบบโดย วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล