คณะบัญชี และ หลักสูตรนวัตกรรม จุฬาฯ เผยโมเดลดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชัน เปิดโรดแมพสู่การเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้จริง
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Business School: CBS) และ หลักสูตรสหสาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาฯ (Technopreneurship Innovation Management Program, Chulalongkorn University: CUTIP) เปิดเส้นทางสู่การลงมือเปลี่ยนธุรกิจได้จริง หลังผลการวิจัยพบว่า องค์กรส่วนใหญ่ในไทยยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มทำดิจิทัลทราสฟอร์มเมชันและมีเพียง 5% ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า ทางคณะได้พัฒนาหลักสูตร และกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อปั้นนักธุรกิจยุคใหม่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจในยุคเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชันเป็นประเด็นที่พูดถึงกันมา 2-3 ปีแล้ว และทุกธุรกิจในประเทศไทยก็ต้องการปรับเปลี่ยน แต่ปรากฎว่า ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก ดังนั้น คณะบัญชี จุฬาฯ จึงพยายามผลักดันในหลายแนวทาง โดยล่าสุด คณะบัญชี จุฬาฯ และหลักสูตรสหสาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาฯ ได้จัดเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “ดิจิทัลทรานสฟอร์มธุรกิจ 2022 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “CBS Dean’s Distinguished Seminar Series” พร้อมเปิดตัวเข็มทิศทรานสฟอร์มธุรกิจ (Digital Transformation Compass) กระตุ้นธุรกิจไทยเร่งก้าวสู่โรดแมพการเปลี่ยนแปลงผ่านการตรวจเช็ค วุฒิภาวะทางดิจิทัล
รศ.ดร.วิเลิศ ชี้ว่า ธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ เพราะมักจะติดกับดักทางความคิดที่จะเน้นการผลิตสินค้าคุณภาพ แต่การทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลต้องหานวัตกรรมตอบสนอง วิถีชีวิตของคนที่มีความต้องการหลากหลาย และมีทัศนคติในเรื่องของจิตวิทยาของมนุษย์ Every digital business is human business ขณะเดียวกัน ธุรกิจต้องเปลี่ยนแนวคิดจากกลยุทธ์สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า CRM (Customer Relationship Management) มาเป็นการเน้นสร้างความสัมพันธ์ผ่านดิจิทัล DRM (Digital Relationship Management)
นอกจากนี้ผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ต้องผันตัวเองให้กลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจด้วยนวัตกรรม (Innopreneurship) ที่ต้องอาศัย 3 ปัจจัยหลักคือ T-transformation to innovation โดยเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ พันธกิจ และคนในองค์กร I-insight ต้องได้ข้อมูลเชิงลึกถึงระดับจิตใจของลูกค้า และ P-Proactive ซึ่งองค์กรจะต้องก้าวล้ำเหนือคู่แข่ง ทั้งนี้ ผู้นำองค์กรจะต้องทรานสฟอร์มวิสัยทัศน์ ให้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง และเป็นคนที่มีสัญชาตญาณของความอยู่รอด (Survival Instinct)
ด้าน ธนพงศ์พรรณ ธัญญรัตตกุล ผู้เขียนหนังสือ Digital Transformation Compass หรือเข็มทิศ ทรานสฟอร์มธุรกิจ กล่าวว่า การทำดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชัน คือ การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ซึ่งองค์กรธุรกิจต่างๆ รู้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล แต่มีปัญหาในการลงมือทำ และไม่รู้ว่าตนเองไปถูกทางหรือไม่ ดังนั้น การเปลี่ยนธุรกิจต้องอาศัย 3 เครื่องมือ ได้แก่ Digital Maturity Assessment, Digital Transformation Model, และ Digital Transformation Metrics
ดร. ณัฐพร วิรุฬหการุญ หัวหน้าคณะวิจัย Thailand Digital Transformation Readiness 2021 เสนอผลการสำรวจในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ระดับความพร้อมด้านดิจิทัลขององค์กรธุรกิจไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.27 จากคะแนนเต็ม 4 โดย 57% อยู่ในกลุ่มกำลังเริ่มทำดิจิทัลทราสฟอร์มเมชัน (Adopters) ตามด้วยกลุ่มที่กำลังคิดจะเปลี่ยนแปลง (Dreamers) ส่วนกลุ่มที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง (Differentiators) มีเพียง 5% เท่านั้น
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้การทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ วิสัยทัศน์ไม่ชัดเจน ลอกหรือนำบทเรียนขององค์กรอื่นมาปรับใช้ ขาดการทำโรดแมพและทรัพยากรที่จำเป็น และไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่เป็นเพียงเพื่อการประชาสัมพันธ์องค์กร
ดร. ณัฐพร แนะว่า “เราต้องรู้ตัวเองว่า ตอนนี้เรากำลังมีความพร้อมทางดิจิทัลมากน้อยเพียงใด (Digital Readiness) และมีวุฒิภาวะทางดิจิทัลอยู่ที่ระดับใด (Digital Maturity Level) ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่า ปัจจุบัน เราสามารถใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีได้ดีเพียงใด (Digital Capabilities)”
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า คนเป็นมิติที่มีความพร้อมน้อยที่สุด เนื่องจากขาดความรู้และทักษะด้านดิจิทัล ตลอดจนความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับประเทศ
ดร. บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT (Personnel Management Association of Thailand) กล่าวว่า การพลิกโฉมเรื่องคนนับเป็นความท้าทายขององค์กรอย่างยิ่ง โดยการทำ people transformation เป็นสิ่งที่องค์กรต้องทำคู่ขนานกันกับ organizational transformation นอกจากนี้ องค์กรยังต้องทำ HR transformation ด้วย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การสรรหาบุคลากรไปจนกระทั่งเกษียณอายุ
ทางด้าน สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาองค์กรต้นแบบของการทรานสฟอร์มธุรกิจ กล่าวว่า ตลอด 40 ปี อาร์เอส เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดและเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิสรัปชันอย่างรุนแรง ซึ่ง อาร์เอสได้มีการปรับตัวอย่างมากในระยะ 7 ปีที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากธุรกิจสื่อและบันเทิงมาสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซ โดยนำเอาจุดแข็งของทั้งธุรกิจ Entertainment และ Commerce มารวมกัน กลายเป็น Entertainmerce
“ปัจจุบัน ธุรกิจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงมาก เนื่องจากภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาร์เอส จึงต้องมีความตื่นตัวและตื่นรู้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับตัวและแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว”
สุรชัย กล่าวอีกว่า อาร์เอสมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศในธุรกิจ Entertainmerce ด้วยการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้น และทำให้แต่ละธุรกิจในระบบนิเวศเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน (Synergy) โดยในอีก 2 ปีข้างหน้า อาร์เอสตั้งเป้าหมายจะเติบโตในแนวราบ ซึ่งปัจจุบัน รายได้หลักของอาร์เอส ไม่ได้มาจากธุรกิจ Entertainment อีกแล้ว แต่มาจากธุรกิจ Commerce มาเสริมทัพให้ก้าวหน้าต่อไปในโลกของดิจิทัล
สำหรับผู้ที่สนใจงานเสวนา ดิจิทัลทรานสฟอร์มธุรกิจ 2022 สามารถชมคลิปเต็มย้อนหลังได้ที่ www.facebook.com/CBSChula www.facebook.com/cbsAcademyChula
สำหรับผู้ที่สนใจรายงานThailand Digital Transformation Readiness 2021, แบบประเมิน Digital Maturity Assessment และ ตัวอย่างหนังสือ E-book Digital Transformation Compass สามารถลงทะเบียนรับฟรีได้ที่ www.digitaltransformationacademy.org/DigitalTransformation2022
ที่มา: แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์