สถาบันเพิ่มฯ จับมือ มจธ. จัดตั้งศูนย์พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันแห่งชาติ (NICE) พัฒนาตัวชี้วัดประสิทธิภาพองค์กรแบบ End-to-End ซัพพลายเชนในระดับประเทศ
เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันแห่งชาติ (National Institute of Competitiveness Enhancement หรือ NICE) โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาตัวชี้วัดประสิทธิภาพองค์กรแบบ End-to-End ซัพพลายเชนในระดับประเทศ (National Benchmarking) และพัฒนาศักยภาพองค์กรสู่การดำเนินงานที่เป็นเลิศ
ผศ. ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เปิดเผยว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในครั้งนี้ นับเป็นการร่วมมือครั้งสำคัญ ที่ทำให้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้มีโอกาสนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาหลอมรวมให้เกิดเป็นก้าวแห่งการพัฒนาด้านวิชาการ ทั้ง การจัดการ นวัตกรรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน ควบคู่กับแก้ไขปัญหาด้านอุตสาหกรรมแก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยจะเริ่มดำเนินงานจาก การพัฒนาตัวชี้วัดประสิทธิภาพองค์กรแบบ End-to-End ซัพพลายเชนในระดับประเทศ (National Benchmarking) ร่วมกับ ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Excellence Center) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในด้านการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สู่การเป็นเสาหลักของผู้ประกอบการ ทำหน้าที่ส่งมอบองค์ความรู้ ผ่านการฝึกอบรม งานวิจัย และงานบริการให้คำปรึกษาแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมเป็นศูนย์กลางการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจ ในรูปแบบของการเป็นเพื่อนร่วมเดินทางในการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน”
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า “มจธ.เป็นองค์กรที่ตื่นตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคมเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เราเป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างผลงานวิชาการทั้งในด้านการวิจัย การผลิตบัณฑิต การให้คำปรึกษา และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ STECO จะทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมผ่านโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันแห่งชาติ ในช่วงสภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วไปและผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการต่างๆ ที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ความสามารถในการสร้างรายได้ลดลง เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย มีสัญญาณที่ดีในการที่กิจกรรมทางธุรกิจจะกลับเข้าสู่ความปกติใหม่ จึงได้เกิดศูนย์พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันแห่งชาติ (National Institute of Competitiveness Enhancement หรือ NICE) ภายใต้ความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาตัวชี้วัดประสิทธิภาพองค์กรแบบ End-to-End ซัพพลายเชนในระดับประเทศ (National Benchmarking) และพัฒนาศักยภาพองค์กรสู่การดำเนินงานที่เป็นเลิศ”
ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มจธ. กล่าวว่า “ปัจจุบันธุรกิจต่างเผชิญสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นประกอบกับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ปัจจัย ทั้งจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่ทำให้การดำเนินงานต่างๆ ภายในองค์กรและซัพพลายเชนปรับเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากกว่ากำไร” ทั้งนี้ เพื่อยกระดับความสามารถภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจึงร่วมมือกับศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร หรือ STECO ในการขับเคลื่อนการทำงานของศูนย์พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันแห่งชาติ National Institute of Competitiveness Enhancement หรือ NICE) โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาตัวชี้วัดประสิทธิภาพองค์กรแบบ End-to-End ซัพพลายเชนในระดับประเทศ (National Benchmarking) และพัฒนาศักยภาพองค์กรสู่การดำเนินงานที่เป็นเลิศ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และความเข้าใจในการบริหารและจัดการธุรกิจภาคอุตสาหกรรมทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ที่จะให้คำปรึกษาในการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน แก้ปัญหาหรือต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ประสบความสำเร็จ นำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) ดำเนินงานภายใต้ภารกิจหลัก ได้แก่ การวิจัยสร้างองค์ความรู้ด้านการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน อาทิ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขัน การให้คำปรึกษาทางด้านการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน อาทิ การพลิกฟื้นธุรกิจสู่ความยั่งยืน การพัฒนาบุคลากรของภาครัฐและภาคเอกชนให้สามารถสร้างและขับเคลื่อนปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันองค์กรได้ และการรับรองสมรรถนะบุคคล นอกจากนี้ STECO ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรม โดยในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมา STECO ได้ดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน การเผยแพร่คู่มือสร้างรากฐานธุรกิจ SME สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน และกิจกรรม STECO Online Forum ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศ คณาจารย์ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://steco.kmutt.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี