“พลังความคิดในการผลิตกำลังคนระบบรางในประเทศไทย” CVM ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี

“พลังความคิดในการผลิตกำลังคนระบบรางในประเทศไทย” CVM ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี สาขาระบบราง

โดยนายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี กล่าวว่าจากการที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ได้รับการประกาศจัดตั้ง เป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) สาขาระบบราง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยมีภารกิจเชื่อมโยงสถานศึกษาเครือข่าย การพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู พัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษา และพัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อผลิตกำลังคนตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ และบูรณาการ การขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนใน กลุ่มอุตสาหกรรมระบบราง ให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และของประเทศ จึงจัดประชุมระดมความ คิดเห็นในรูปแบบออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนระบบราง ภายใต้แนวคิด “พลังความคิดในการผลิตกำลังคนระบบรางในประเทศไทย” โดยมีผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ ในด้านอุตสาหกรรมระบบรางจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และได้นำเสนอวิสัยทัศน์ ต่อที่ประชุมไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่าการขับเคลื่อนนโยบาย ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) 25 แห่ง และศูนย์ความเป็นเลิศทางอาชีวศึกษา (Excellent Center) เชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 12 S curve เป็นแนวทางที่ทาง สอศ. นำมาเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและนโยบายการพัฒนาประเทศ โดยหนึ่งในนั้น คือ อุตสาหกรรมระบบราง ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ” สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีสถานศึกษาที่เป็น Excellent Center ในสาขาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงขนส่งทางราง อย่างวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยเทคนิคนครลำปาง วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ วิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม ซึ่งกล่าวได้ว่าครอบคลุมทั่วประเทศ” โดยวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ได้มีสถานะเป็นศูนย์ CVM ในสาขาระบบราง มีบทบาทและสถานที่ตั้งอยู่ในภาคของอีอีซี (เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor : EEC) จึงต้องเชื่อมโยงสถานศึกษาจากทั่วประเทศ กระชับเข้ามาในระดับภูมิภาค ที่มีการจัดการเรียนการสอนและผลิตกำลังคนอาชีวะที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของอีอีซีและของประเทศอย่างเต็มที่

โดย นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่าจะเป็นกลไกทำงานกับภาคการศึกษา เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการในการสนับสนุนการฝึกอาชีพของนักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะอาชีวศึกษาในการผลิตกำลังกำลังคนด้านระบบราง ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจหลักของกรมราง คือ การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางรางที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ การปฏิบัติการ การซ่อมบำรุง การกำกับดูแลการก่อสร้างการประกอบกิจการเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งทุกภารกิจต่างๆ และจะมีการจัดตั้ง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ที่เราวางเป้าหมายไว้ว่า ในอนาคตข้างหน้าเราต้องสร้างรถไฟเองได้ เป็น Thai first และ Local Express ใน 3-5 ปี ดังนั้นต้องมีการเตรียมพร้อมผลิต คนขับรถไฟความความเร็วสูง โดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งจะมีความต้องการสูงมากในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาต้องวางแผนผลิตกำลังคนด้านนี้ควบคู่ไปด้วย ตั้งแต่ ปวช. ปวส. จนจบประดับปริญญาตรี และควรเร่งทำความร่วมมือกับประเทศจีน ในการส่งนักศึกษาไปฝึกด้านนี้โดยเฉพาะ และจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการความร่วมมือครอบคลุมด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา มาตรฐานระบบราง อุตสาหกรรมระบบราง

ด้าน ดร.อภิชาติ ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) ชี้แจงว่า ในส่วนอีอีซี จะร่วมขับเคลื่อน ในการประสาน อำนวยความสะดวก ทุกภาคส่วน หรือการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง ภายใต้กฎหมายของอีอีซี ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินการไปแล้วโดยเฉพาะ EEC Model Type A และ EEC Model Type B ทั้งนี้ อีอีซีจะเป็นสื่อกลางในการ Matching กับสถานประกอบการที่มีความต้องการกำลังคน และจะร่วมสนับสนุนให้ภารกิจนี้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นเครือข่าย

ขณะที่ นายประสิทธิ์ พรหมสุรภัทร ประธานอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพรถไฟความเร็วสูงและระบบราง ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน Railway Safety เรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องแรก ยึดโยงกับงาน operator ทุกส่วน สถาบันการศึกษา ในปัจจุบันยังไม่หลักสูตรเฉพาะ Safety Awareness ที่สร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน พนักงาน ผู้โดยสาร การปลูกฝัง ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไร เนื่องจาก Railway Safety สำคัญมาก ๆ จำเป็นต้องสร้างให้เป็นกิจนิสัย โดยเห็นควรช่วยกันพัฒนาคู่มือในการจัดการเรียนการสอนใน ระดับอาชีวศึกษา และมีการจัดฝึกอบรมให้เป็นรูปธรรม

ซึ่ง นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้ให้ความคิดเห็นและให้ความสำคัญมุ่งเน้นเรื่อง ความปลอดภัย เป็นอันดับแรกจึงควรบรรจุอยู่ในหลักสูตรอาชีวศึกษา และทุกสถาบันการศึกษา ให้มุ่งให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน Railway Safety เป็นอันดับแรก และสอดคล้องกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ (มหาชน) ที่มีหลักสูตรความปลอดภัยเป็นเรื่องแรก เช่นเดียวกันกับ ประธาน อ.กรอ.อศ.

ด้านนายปริญ นาชัยสิทธิ์ นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง กล่าวว่าสมาคมฯ ประกอบด้วยสมาชิก กว่า 400 หน่วยงาน เช่น สถานประกอบการ สถาบัน องค์กร คลอบคลุมทุกลักษณะงานด้านระบบราง พร้อมที่จะร่วมมือ สนับสนุน ส่งเสริม เชื่อมโยงเผยแพร่ความรู้ ให้กับทุกหน่วยงาน ในการผลิตกำลังคนสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบราง และมีมุมมองว่าเห็นควรสร้างชิ้นส่วนอุตสาหกรรมระบบราง ตามนโยบาย “Thai First” เพิ่มเติม และต้องมีการเชื่อมโยงอาชีวศึกษากับการจัดทำฐานของข้อมูล ของแต่ละสถานศึกษา มหาวิทยาลัย ที่เปิดหลักสูตรด้านระบบรางเพื่อจะเชื่อมโยงถ่ายโอนแบบไม่มีรอยต่อ และนำไปสู่การรับรองมาตรฐานสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ (มหาชน) ผู้สำเร็จการศึกษาแล้วทำงานได้ทันที ตรงตามความต้องการของประเทศได้จริง

พร้อมกับที่ นางปัทมา วีระวานิ ผู้ชำนาญการ สอศ. กล่าวถึงการ การจัดการเรียนการสอนด้านระบบราง ควรมีมาตรฐานมากำกับสาขานี้โดยเฉพาะ และให้พิจารณามาตรฐานในระดับสูงสุดคือความเป็นมาตรฐานสากล ทั้งนี้สนับสนุนให้ดำเนินการร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ (มหาชน) ในการปรับปรุงหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ พร้อมทั้งต้องนำกลไกของ อ.กรอ.อศ. อาศัยระบบความร่วมมือที่เข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่มาตรฐานที่เป็นสากล

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ