“เปลี่ยน Living เป็น Learning” การเรียนรู้ที่ดีเกิดได้แม้ในวิกฤต โควิด-19

“เปลี่ยน Living เป็น Learning” การเรียนรู้ที่ดีเกิดได้แม้ในวิกฤต โควิด-19

ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้  “เปลี่ยน Living เป็น Learning” แนวทางที่ทำได้จริงจากตัวอย่าง 3 โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาศรีสะเกษ  ปลดล็อกข้อจำกัด สร้างโอกาสการเรียนรู้   จับมือผู้ปกครอง และนักเรียนออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา  

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. จัดการเสวนาออนไลน์ “ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้” ครั้งที่ 1 : บทเรียนจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ

นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กล่าวว่า การเสวนาออนไลน์ “ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้”

จัดขั้นเพื่อนำเสนอแนวทางที่เป็นทางออกการจัดการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19 ที่จะช่วยพ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียนเองให้คลายกังวลว่าลูกหลานและลูกศิษย์จะยังคงได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้แม้ในสถานการณ์โควิด โดยเป็นข้อค้นพบจากโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 3 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ ระยอง และสตูล ในบริบทแตกต่าง  โดยครั้งแรกนี้คือตัวอย่างจาก โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาศรีสะเกษ ที่มีโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นโค้ช ที่จะได้คำตอบว่า ในสถานการณ์โคดวิด เรียนรู้ให้เด็กสนุกได้ ไม่ เบื่อ

“โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว การศึกษาเปลี่ยนหรือยัง” นี่คือหลักฐานว่าการศึกษาก็กำลังเปลี่ยนเช่นกัน  จะพบว่าขณะทีครูปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนเป็น Active learning ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง   “โควิด-19” คือความท้าทาย ให้ครูหาวิธีทำอย่างไรให้นักเรียนลุกขึ้นมาเรียนรู้ด้วยตนเองจากที่บ้านได้อย่างไร ซึ่งจะได้คำตอบจากการเสวนา “ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้” ทั้ง 3 พื้นที่

  • เปลี่ยน Living เป็น Learning”

ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ สรุปถึงหัวใจสำคัญของการปรับโครงสร้างการเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยย้ำชัดว่า ครูกับผู้ปกครองต้องทำงานร่วมกัน โดยครูต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง ดึงผู้ปกครองมาร่วมเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจเป้าหมาย รู้จักลูก (ตามวัย) และรู้วิธีการเรียนรู้ร่วมกับลูก วงเรียนรู้ PLC (Professional Learning Community) หรือ ชุมชนการเรียนรู้  ที่ขยายจากการทำเฉพาะในกลุ่มครูไปสู่ผู้ปกครองจึงมีความสำคัญมากต่อการกำหนดทิศทางให้การเรียนรู้เดินหน้าต่อได้บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกัน

“ตอนนี้ครูอยู่ในสถานการณ์ท้าทาย เราต้องดึงศักยภาพมาสู้เพื่อให้เกิดสมรรถนะในตัวเอง แน่นอนว่าการเรียนที่โรงเรียน เด็กได้ผลลัพธ์มากกว่าเพราะได้เรียนรู้ร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน แต่เมื่ออยู่ที่บ้าน ขึ้นอยู่กับว่าครูจะออกแบบการเรียนรู้และให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองได้มากแค่ไหน เพราะผู้ปกครองกลายเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ครูและโรงเรียนต้องทำงานต่อไปเพราะเราคงไม่สามารถทำงานสำเร็จได้ในวันเดียว  ผู้ปกครองก็ไม่สามารถเข้าใจได้ในวันเดียว สถานการณ์การเรียนแม้ว่าครูไม่ได้เต็มที่ทั้งหมด แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่พวกเราทำอยู่นี้คือหนทางออกในอนาคต เพราะยุคสมัยนี้การผูกขาดยึดโยงการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่สถาบันการศึกษาแล้ว เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากที่เคยคิดจากโรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ มาสู่ผู้เรียนเป็นฐานการเรียนรู้ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน” ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง กล่าว

  • เมื่อโลกเปลี่ยน ครูต้องเปลี่ยน

 วัตถุประสงค์ของการวางโครงสร้างการจัดการเรียนรู้ในช่วงล็อกดาวน์ของโรงเรียนลำปลายมาศ เน้นไปที่การทำให้การเรียนของผู้เรียนไม่ชะงัก ไม่ถดถอย เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับการระบาดของโรคได้โดยไม่รู้สึกตระหนกและหวาดกลัว รวมทั้งให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนความเป็นผู้จัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-directed learner)

สำหรับนักเรียนปฐมวัย ครูสุกัญญา แสนลาด  โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เล่าประสบการณ์ว่า การจัดการเรียนการสอนของเด็กอนุบาลต้องสอนพ่อแม่ก่อน ครูนัดผู้ปกครองมาประชุมร่วมกัน “ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองกลับไปสร้างการเรียนรู้ให้ลูกที่บ้านได้?” วิธีคิดนี้ทำให้การเรียนการสอนช่วงโควิด-19 ระดับอนุบาลของโรงเรียนลำปลายมาศฯ “ไม่เรียน” ออนไลน์ 100% และครูไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตัวเด็กเลยแต่มีผู้ปกครองเป็น “โค้ช” อยู่ที่บ้าน

การสร้าง self ให้ผู้เรียนเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ ครูสุกัญญา ยกตัวอย่างประโยคที่ยิ่งพูดลูกยิ่งเสีย self หรือยิ่งเสียความมั่นใจในตัวเอง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง เช่น  “ทำไมไม่เก่งเหมือนพี่ เหมือนน้องบ้าง” “อีกแล้วนะสอนไม่รู้จักจำ” “บอกกี่ครั้งแล้วว่าอย่าทำ” “ไปไกลๆ เลยนะ พ่อแม่กำลังยุ่งอยู่” เป็นต้น โดยครูจะชี้แนะแนวทางให้ผู้ปกครองวิเคราะห์คำพูดและท่าทีของครูว่า คำพูดไหนควรพูดไม่ควรพูด ท่าทีไหนควรทำและไม่ควรทำกับลูก เพื่อให้ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดสื่อสารในทางที่ผิด

ในระดับประถมศึกษา วิธีการที่ ครูศิริมา โพธิจักร์ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา นำมาใช้สร้างการเรียนรู้ คือ ความพยายามเข้าไปแก้ปัญหาให้ลูกศิษย์เป็นรายคน และไม่ใช้ช่วงเวลาออนไลน์ในการบอกสอน แต่เปลี่ยนมาเป็นการฟังผู้เรียนนำเสนองาน อธิบายปัญหา และให้คำแนะนำจากกิจกรรมที่ผู้เรียนออกไปปฏิบัติ

“กระบวนการฟีดแบคให้คำแนะนำนักเรียนของโรงเรียนลำปลายมาศฯ ครูจะทำทันที เราจะไม่ทิ้งโทรศัพท์และไม่รอช้า เมื่อมีไลน์เข้ามาครูจะรีบตอบกลับ เพราะเราเชื่อว่า ณ ขณะนั้นผู้เรียนกำลังมีความอยากเรียนรู้ ครูจะไม่ทิ้งโอกาสนี้” ครูศิริมา กล่าว

ด้าน ครูพรรณี แซ่ซือ ครูระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา กล่าวว่า ครูต้องปรับวิธีคิดของตัวเองให้เข้าใจโครงสร้างการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่เน้นให้โจทย์ยากและซับซ้อนกับนักเรียนแต่ไม่เน้นปริมาณ หลังจากนั้นจึงวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล ประเมินศักยภาพของผู้ปกครอง และความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนรู้ของผู้เรียน นอกจากนี้ ครูยังต้องทำงานกับผู้ปกครองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการทำให้ผู้ปกครองเข้าใจลูกที่อยู่ในวัยรุ่น ครูใช้วิธีการให้พ่อแม่วิเคราะห์งานลูก และให้ลูกวิเคราะห์งานของพ่อแม่ เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน และตารางเวลาเรียนก็ยังเป็นการกำหนดร่วมกันอีกด้วย เช่น มีเรียนตอน 19.00 น. เป็นต้น

“เด็กวัยนี้ใช้เวลาหน้าจอเยอะมาก ครูต้องฉกชิงช่วงเวลาหน้าจอมาเป็นช่วงเวลาการเรียนรู้ให้ได้ ด้วยการให้นักเรียนได้ลงมือทำ สร้างการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ที่นักเรียนออกแบบเอง เช่น การให้นักเรียนศึกษาสรรพคุณของสมุนไพรใกล้ตัว และสกัดน้ำมันจากสมุนไพรหรือวัตถุดิบที่สนใจ เพราะเป้าหมายสำหรับนักเรียนมัธยม เราต้องการให้เขากำกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ชิ้นงานเป็นแค่ร่องรอยการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน เพื่อให้ครูประเมิน ติดตามผล และเห็นแนวโน้มว่าจะพัฒนาเพิ่มเติมในทิศทางไหน”

  • อยู่ที่ไหนก็ ‘เรียนได้’…อยู่ที่ไหนก็ ‘ได้เรียน’

กรณีศึกษาเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ มีโรงเรียนนำร่อง 2 โรงเรียน ที่มีบริบทแตกต่างกัน แต่ทั้ง 2 แห่ง สามารถจัดการเรียนรู้ฝ่าโควิด-19 ครั้งนี้ได้ สอดคล้องกับแนวคิดของครูใหญ่วิเชียรที่บอกว่า อยู่ที่ไหนก็ ‘เรียนได้’…อยู่ที่ไหนก็ ‘ได้เรียน’

ครูปัญชลีย์ ฉัตรอริยวิชญ์  โรงเรียนบ้านปะทาย จังหวัดศรีสะเกษ พยายามหาวิธีช่วยสนับสนุนพี่ๆ ไม่ให้ห่างการศึกษา ครูเอ๋ออกแบบการเรียนการสอนด้วยการเลือกหยิบตัวชี้วัดที่สำคัญของแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ในแต่ละช่วงชั้นมาวางแผนการสอนก่อน และเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน เช่น หน่วยการเรียนรู้จำนวนที่มีค่ามากในวิชาคณิตศาสตร์ ครูตั้งคำถามก่อนวางแผนการสอนว่า ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน? เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง?  จำนวนที่มีค่ามากที่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุดเป็นอะไรได้บ้าง? นำมาสู่ไอเดียที่ครูหยิบยกตัวเลขจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มาจัดการเรียนการสอนเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนการประเมินเบื้องต้น ให้เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง โดยครูกำหนดระดับให้เช่น “เตาะแตะ ใกล้แล้ว

“ในช่วงแรกนักเรียนประถม ครูให้การบ้านไปเยอะ นักเรียนทำไม่ทัน บางครั้งผู้ปกครองทำให้ พอเกิดปัญหาครูก็ต้องมาปรับตารางการเรียนรู้ใหม่ เพื่อลดภาระงานของผู้เรียน ออกแบบวิธีการวัดและการประเมินผลใหม่ และสร้างการเรียนรู้กับผู้ปกครอง”

อีกด้านหนึ่ง โรงเรียนบ้านกระถุน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเชิงระบบ มีนักเรียนประมาณ 70 คน ครู 7 คน สอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6  ครูสินีนาฎ ยาหอม เล่าว่า แนวคิดการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนมุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะชีวิตและทักษะทางสังคม โดยผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ผ่านวิถีชีวิตประจำวัน เช่น งานครัว งานบ้าน และงานสวน แต่ยังคงความท้าทายและความซับซ้อนของโจทย์การเรียนรู้ เช่นเดียวกับโรงเรียนลำปลายมาศฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบ

ครูสินีนาฎ ยกตัวอย่างโจทย์ที่มอบหมายให้นักเรียนระดับประถมลงมือทำงานครัว โดยให้ถ่ายคลิปขณะทำกิจกรรมส่งในกลุ่มไลน์ และให้อธิบายกระบวนการทำงาน โดยแจกแจงบทบาทให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้วย เช่น ถ่ายวิดีโอ ตั้งคำถามกระตุ้นการเรียนรู้กับลูกขณะทำกิจกรรม หลังทำกิจกรรมเสร็จแล้ว สำหรับนักเรียนชั้น ป.1 ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมบอก (อ่านหรือพาเขียน) ใบงานสรุปกิจกรรม ส่วนนักเรียนชั้น ป.2 – 3 สามารถออกแบบใบงานสรุปเองได้

“ความท้าทายของครู อยู่ที่นักเรียนบางคนอาศัยอยู่กับปู่ย่า ตายาย เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไปถึงเป้าหมายการเรียนรู้ได้ยาก เพราะผู้ปกครองไม่สามารถสนับสนุนการเรียนรู้ได้เต็มที่ หรือบางคนไม่สามารถเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนได้ แต่ความโชคดีของการเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ครูลงพื้นที่ไปหานักเรียนได้เลย แล้วแก้ปัญหาด้วยการนัดสอน และพูดคุยเพิ่มเติม หรือบ้านไหนที่เด็กเรียนรู้ได้ดี ผู้ปกครองพอช่วยได้ ครูจะพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ช่วยตั้งคำถาม หัวใจสำคัญของโรงเรียนบ้านกระถุน คือ ผู้ปกครองกับโรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากทำให้การทำงานร่วมกันง่าย โดยเฉพาะในวง PLC ที่คุยกันได้แบบเปิดใจ”

  • โอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง

 วิกฤติครั้งนี้ทำให้คนทำงานด้านการศึกษาทุกฝ่ายปรับตัวเร็วขึ้น และเกิดนวัตกรรมมากมายที่เป็นรูปธรรมด้านการจัดการเรียนรู้ไปสู่ผู้เรียน รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถานบันอาศรมศิลป์ สะท้อนว่า โควิด-19 ปรับวิธีคิดของคนทั้งประเทศหลายด้าน ในด้านการศึกษาทำให้โรงเรียนถูกมองเป็นเพียงแค่ศูนย์ปฏิบัติการสร้างการเรียนรู้ และมองเห็นสถานที่ทุกแห่งเป็นสถานที่เรียนรู้ได้

“เราได้เห็นภาพชัดเจนว่าเด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองจริงๆ เป็นอย่างไร จนทำให้ครูมีความเชื่อว่าเด็กทำได้ วิกฤตครั้งนี้เปลี่ยนวิธีทำงานของครู เปิดทางให้ครูได้ปรับทักษะ เช่น การวิเคราะห์บทเรียน การสร้างคำถาม การประเมินผลที่ไปให้ถึงสมรรถนะผู้เรียนจริงๆ เปลี่ยนวิธีคิดของผู้ปกครองที่คิดว่าส่งลูกมาที่โรงเรียนแล้วสบาย ทั้งที่จริงๆ บ้านเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้มหาศาล เป็นจุดที่ทำให้ผู้ปกครองได้มีปฏิสัมพันธ์ในเชิงการเรียนรู้กับลูกหลาน แม้แต่ปู่ย่าตายายก็ทำได้ เป็นโอกาสให้เกิดการสร้างเครื่องมือที่ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทำให้บ้านกับโรงเรียนเชื่อมโยง แล้วใช้เครื่องมือเดียวกันในการพัฒนาผู้เรียน”

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โรงเรียนลำปลายมาศเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ มีปรัชญาของผู้บริหารที่สามารถถ่ายทอดแนวคิดเชิงโครงสร้างของระบบโรงเรียนไปสู่ครูด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้ครูและผู้บริหารเข้าใจตรงกันว่ากำลังจะพาโรงเรียนไปในทิศทางไหน ในที่นี้คือเน้นตัวเด็ก (self) เป็นสำคัญ การที่โรงเรียนแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ (Vision) กับผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจเป้าหมายเป็นการสร้างแรงผลักดันที่ทำให้ผู้ปกครองไม่มองเรื่องการช่วยลูกเรียนที่บ้านเป็นภาระ ส่วนนี้ทำให้ผู้ปกครองเต็มใจให้ความร่วมมือแทนที่จะส่งเสียงก่นด่า

“การทำแซนด์บ็อกซ์ (พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา) การเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้ทดลองทำอย่างอิสระ เป็นแนวคิดที่สำคัญ ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงโครงสร้าง เราจะรู้สึกถึงความแข็งกระด้าง แต่โครงสร้างในมิติใหม่ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นโครงสร้างที่ยืดหยุ่น ร่วมมือ และเข้าใจตรงกัน แสดงให้เห็นวิธีการออกแบบโครงสร้างการเรียนรู้ที่ครูต้องเข้าใจตรงกันก่อน จุดตั้งต้น คือ ครูต้องการอะไร แล้วอยากให้เกิดอะไรกับผู้เรียน หลังจากนั้นจึงสร้างระบบการเรียนรู้ให้กับผู้ปกครอง ไปพร้อมๆ กับการสร้างความเข้าใจ ตระเตรียมผู้ปกครอง สืบหาปัญหาและข้อจำกัด ทำให้การเรียนรู้ที่บ้านและที่โรงเรียนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน มีเป้าหมายตรงกันอยู่ที่ผู้เรียน…เราต้องไม่กลัวโควิด-19 แต่ต้องอยู่ร่วมกับมันให้ได้”

  • ปลดล็อกเมื่อล็อกดาวน์

การจัดการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่น ปลดล็อกระบบไม่เน้นการสอนเพื่อวัดผล เรียนเฉพาะวิชาสำคัญ แล้วผลักดันให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้จากเรื่องราวรอบตัว เป็นการสร้างการเรียนรู้ที่ผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษามีความคิดเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องหนุนการศึกษาไทยไปในทิศทางนี้ท่ามกลางสภาวะวิกฤติ

ขณะที่การสนับสนุนจากฝ่ายนโยบาย ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ย้ำว่า ปัจจุบันมีการปลดล็อกให้โรงเรียนจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นแทบทุกด้าน

 “สำนักวิชาการฯ พยายามติดตามข่าวว่าปัญหาและความทุกข์ของครูอยู่ตรงไหน แล้วพยายามปลดล็อกให้ ทั้งเรื่องตัวชี้วัด การสอบ การนับเวลาเรียน ให้อยู่บนเกณฑ์และเป้าหมายที่ครูกำหนดได้และสามารถลงมือทำได้ทันที”

ด้าน ดร.สิริกร มณีรินทร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) กล่าวถึง การขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายด้านการศึกษาว่า จากที่กระทรวงศึกษาธิการมีประกาศเริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะทุกโรงเรียน ในปีการศึกษา 2565 หลังมีการวิจัย พัฒนา และทดลองใช้กับโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม 8 จังหวัด กรณีศึกษาจากทั้ง 3 โรงเรียนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะจะไม่เป็นภาระให้กับครูและโรงเรียนในอนาคต เพราะเนื้อหาในหลักสูตรทั้งหมดเป็นสิ่งที่โรงเรียนทำอยู่แล้ว

“หัวใจความสำเร็จของการศึกษาฐานสมรรถนะ คือ การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ร่วมมือร่วมใจกันในโรงเรียน ระหว่างผู้อำนวยการ ครูทุกคนในโรงเรียน มาวางแผนจัดการเรียนรู้ร่วมกัน ในวันนี้ได้เห็นภาพที่เกินความคาดหมายไปด้วยซ้ำ เพราะได้เห็นความร่วมมือของผู้อำนวยการ ครู นักเรียนและผู้ปกครอง เป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่อิงกับชีวิตจริง ผู้เรียนได้รู้และเข้าใจเป้าหมายการเรียนรู้ของตัวเอง โดยมีผู้ปกครองคอยช่วย ได้รับความรู้ ทักษะและเจตนคติไปด้วยกันอย่างครบถ้วน สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นได้” ดร.สิริกร กล่าว

หมายเหตุ :

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) คือ ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ขึ้นมา เป็นนโยบายเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พยายามหาพื้นที่โรงเรียนตัวอย่าง เพื่อทดลองแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาแนวใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับยุคสมัยในศตวรรษที่ 21

ที่มา: kidkonkwa

Tags :

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ