ม.มหิดลจัดอบรมเปลี่ยนเด็กไทยให้เป็นอัจฉริยะ

ม.มหิดลจัดอบรมเปลี่ยนเด็กไทยให้เป็นอัจฉริยะ

ในยุคที่พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นอัจฉริยะเหมือนดาวินชีอย่างในรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ จนถึงปัจจุบันเกิดวิกฤติ COVID-19 ที่สื่อออนไลน์ได้กลายเป็นเครื่องมือหลักในการเรียนรู้ ด้วย “The 7 Davinci Principles by Michael Gelb” หรือ “หลัก 7 ประการของดาวินชี โดย ไมเคิล เกลบ์” ซึ่งเป็นนักคิด-นักเขียนระดับโลก ก็สามารถนำมา “เปลี่ยนลูกให้เป็นอัจฉริยะ” ได้ไม่ยากด้วยตัวเอง

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้อธิบายถึง  “The 7 Davinci Principles by Michael Gelb” ว่าประกอบไปด้วย 1.”Curiosita” หรือ ความอยากรู้อยากเห็น 2.”Dimonstrazione” หรือ การเรียนรู้จากความผิดพลาด3.”Sensazione” หรือ การเรียนรู้จากระบบประสาทสัมผัสทั้งหก 4.”Sfumato” หรือ การเปิดรับความขัดแย้ง5.”Arte/Scienza” หรือ การผสมผสานระหว่างศาสตร์และศิลป์ ตรรกะและจินตนาการ สมองซีกซ้าย-ขวา6.”Corporalita” หรือ การสร้างความสามารถที่หลากหลายและการมีสติสัมปชัญญะ และ 7.”Connessione” หรือ การจดจำเชื่อมโยง และคิดอย่างเป็นระบบ

ซึ่งหลักการ “Curiosita” หรือ ความอยากรู้อยากเห็น ถือเป็นการเริ่มต้นสู่การเรียนรู้ที่สำคัญ จะดีเพียงใดหากเราสามารถสร้างกลวิธี หรือปลูกฝังให้เด็กเกิดความกระหายใคร่รู้ เพื่อทำให้เขาสามารถสร้างคำถาม และหาคำตอบโดยการลงมือทำด้วยตัวเอง รวมทั้งได้เปิดตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางสมองและร่างกาย และเรียนรู้ได้มากขึ้น

ตัวอย่างของการฝึก Curiosita ให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน คือ การให้เด็กได้แข่งกันตั้งคำถามที่ไม่คิดว่ามีใครตอบได้ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้แข่งกันหาคำตอบด้วยในขณะเดียวกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเรียนรู้ของเด็กไทยว่า เกิดจากการไม่มีการฝึกให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม แต่มักสอนโดยคุณครูตั้งโจทย์ เพื่อให้เด็กมุ่งหาคำตอบเท่านั้น เลยกลายเป็นว่า เด็กอาจแก้ปัญหาได้ แต่คิดคำถามไม่เป็น เพราะมัวแต่หาคำตอบที่ผู้อื่นตั้งให้ ซึ่งการตั้งคำถามที่เกิดจากความกระหายใคร่รู้ จะเป็นบ่อเกิดสู่ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ได้ต่อไป

บ่อยครั้งเหตุเกิดจากการที่เด็กมัวแต่กลัวผิดพลาดจึงไม่กล้าตั้งคำถาม และลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้โดยในชีวิตจริงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในห้องเรียน เกิดผลเสียน้อยกว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางวิชาชีพ  เช่น แพทย์ หากไปทำผิดพลาดอาจทำให้ผู้อื่นสูญเสียอวัยวะ หรือถึงแก่ชีวิต หรืออาจถูกดำเนินคดีได้ เป็นต้น

แม้แต่ในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการเรียนรู้ช่วงวิกฤติ COVID-19 ก็จำเป็นต้องใช้ทักษะต่างๆ ในการค้นคว้าหาข้อมูล หากรู้จักตั้งคำถาม ก็จะได้คำตอบที่ตรงประเด็น และในการอ่าน และการฟัง ถ้ายิ่งจับประเด็นเป็น ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ได้มากขึ้นเท่านั้น

29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2564 สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง”สอนเป็นจีเนียสอย่างดาวินชี (Teaching to be a genius like Da Vinci) ณ โรงแรมโนโวเทล สุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมฝึกตั้งคำถาม ฝึกสังเกตุ และฝึกประสาทสัมผัสแบบทดลองให้เห็นจริง ตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจ นอกจากจะได้ฝึกสร้างแบบทดลองด้วยตัวเองแล้ว ยังได้เรียนรู้เทคนิค และกิจกรรมต่างๆ มากมาย ที่นอกจากจะสามารถฝึกระบบประสาทสัมผัส สร้างสมาธิแล้ว ยังสร้างความเพลิดเพลินอีกด้วย

“หากเราสามารถฝึกเด็กไทยให้พร้อมด้วยทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาการเรียนรู้ได้ ก็จะทำให้เด็กไทยมีความเฉลียวฉลาดมากขึ้น จากการสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น ยิ่งเรียนสนุก ก็ยิ่งฉลาด และพร้อมจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติได้ต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ชัยเลิศพิชิตพรชัย กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.il.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม  นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ