มาตรฐานอาชีพครูฝึกในสถานประกอบการ โดย สคช. ขึ้นแท่นระดับสากล หลัง UNESCO-UNEVOC ยกให้เป็นนวัตกรรมตัวอย่าง ในการขับเคลื่อนมาตรฐานอาชีพในระบบฝึกอบรม

มาตรฐานอาชีพครูฝึกในสถานประกอบการ โดย สคช. ขึ้นแท่นระดับสากล หลัง UNESCO-UNEVOC ยกให้เป็นนวัตกรรมตัวอย่าง ในการขับเคลื่อนมาตรฐานอาชีพในระบบฝึกอบรม

UNESCO-UNEVOC หรือ ศูนย์ระหว่างประเทศด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ ยกระดับมาตรฐานอาชีพครูฝึกในสถานประกอบการที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และคนในอาชีพ เป็นตัวอย่างนวัตกรรมด้านการบูรณาการสมรรถนะและคุณวุฒิใหม่ ซึ่งผลงานชิ้นดังกล่าว มีการนำมาตรฐานอาชีพครูฝึกในสถานประกอบการ ซึ่งทำหน้าที่สอนงาน ถ่ายทอดความรู้ upskill และ reskill กำลังคนสาขาต่างๆ ได้อย่างมีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานสากล

ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่าเกิดจากความร่วมมือของ สคช. ที่ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดทำมาตรฐานอาชีพเพื่อพัฒนาทักษะ กำลังคน โดยเฉพาะการจัดทำมาตรฐานอาชีพครูฝึกในสถานประกอบการ ที่เป็นมาตรฐานในระดับอาเซียน ให้นำมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิ การขับรถขนส่ง การผลิตอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ การผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมาตรฐานมีความสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงไปในบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการนำมาตรฐานอาชีพไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญวิกฤติต่างๆ ทำให้โลกเปลี่ยนหันมาให้ความสำคัญกับความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น คนในอาชีพจึงต้องปรับตัวให้ทัน ซึ่ง สคช. เองได้สนับสนุนการฝึกอบรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ จัดการฝึกอบรมโดยครูช่างชาวเยอรมันให้กับผู้ผ่านการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมวิชาชีพ ส่งเสริมให้ครูฝึกในสถานประกอบการเข้ารับการประเมิน เพื่อเป็นการประกันคุณภาพการเรียนการสอนแบบทวิภาคีและการฝึกอบรมในสถานประกอบการ ควบคู่ไปกับการการันตี และผลักดันให้เกิดการเลือกใช้บริการกับผู้ที่ผ่านการประเมินจากคลังข้อมูลคนในอาชีพที่ สคช. จัดทำขึ้น อาทิ แอปพลิเคชัน ปักหมุดมืออาชีพ ซึ่งจะเป็นสำคัญให้เกิดการยอมรับ ใช้บริการ และเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ดร.นพดล ยังกล่าวว่า สคช. ได้ร่วมกับ GIZ (German International Cooperation) หอการค้าเยอรมัน-ไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในการเทียบเคียงมาตรฐานอาชีพครูฝึกในประเทศไทย รองรับผู้ที่ผ่านการประเมินและผู้รับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ สามารถเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อเข้าสู่การรับรองระบบคุณวุฒิวิชาชีพได้ โดยขณะนี้มีครูฝึกในสถานประกอบการ ได้รับการรับรองตามมาตรฐานอาชีพแล้วกว่า 90 คน ส่งผลให้ได้รับค่าตอบแทนในอาชีพเพิ่มขึ้น และยังเป็นต้นแบบถ่ายทอดประสบการณ์การทำงาน ที่สำคัญมีการขึ้นทะเบียนครูฝึกที่ผ่านการรับรองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เข้ารับการอบรมอีกด้วย

สำหรับ UNESCO-UNEVOC เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการคัดเลือกและรวบรวม แนวทางปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรมในระบบฝึกอบรมสายวิชาชีพจากทั่วโลก ที่สอดคล้องและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (2030 Agenda for Sustainable Development) เพื่อเผยแพร่และสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ นำไปปรับใช้ ซึ่งผลงานของ สคช. ที่ได้รับคัดเลือก จะได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นในฐานข้อมูล Innovative practices from Asia-Pacific, Africa and Europe และช่องทางของ UNESCO-UNEVOC ด้วย

ที่มา: บริษัทเก็ทไอเดีย มีเดีย พลัส จำกัด (สำนักงานใหญ่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ