จรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
เนื่องจากวิชาชีพบัญชีเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องข้อมูลทางการเงินของกิจการ นักบัญชีจะเก็บรวบรวมข้อมูล บันทึกรายการ สรุปข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบของรายงานทางการเงินรวมไปถึงงานตรวจสอบและแสดงความเห็นต่อรายงานทางการเงิน ผู้ใช้ข้อมูลมีหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ข้อมูลภายในองค์กรและภายนอกองค์กรเพื่อนำข้อมูลrไปใช้ในการตัดสินใจที่แตกต่างกันไป ดังนั้นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจะต้องปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำบัญชีหรือผู้สอบบัญชีบนพื้นฐานของจรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
ตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปี 2561 ได้อธิบายถึงหลักการพื้นฐานที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติตามทั้งหมด 6 หลักการ ประกอบด้วย
1.ความซื่อสัตย์สุจริต
ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติตนอย่างตรงไปตรงมาทางวิชาชีพและทางธุรกิจ หากผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจัดทำบัญชีหรือนำเสนอรายงานที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการปฏิบัติงานจะถือว่าผิดจรรยาบรรณในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต อีกทั้งในกรณีที่ผู้ทำบัญชีหรือผู้สอบบัญชีตรวจพบว่างบการเงินของลูกค้าเป็นกิจการที่ทำผิดกฏหมาย เช่น เป็นกิจการค้าไม้เถื่อนหรือประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพนัน หากผู้ประกอบวิชาชีพบัญชียังคงปฏิบัติหน้าที่การทำบัญชีหรือตรวจสอบบัญชีให้ลูกค้าต่อ การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต
2.ความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระ
ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจะต้องไม่ยอมให้อคติหรืออิทธิพลใดๆมาอยู่เหนือการใช้ดุลยพินิจในการที่จะปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพ เช่น นาย วินัย ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต รับงานสอบบัญชีจากสำนักงานบัญชีแห่งหนึ่งจำนวน 190 งบการเงิน กรณีดังกล่าวอาจแสดงให้เห็นว่ารายได้ของ นาย วินัย จะขึ้นอยู่กับสำนักงานบัญชีแห่งนี้เท่านั้น สำนักงานบัญชีจะมีอิทธิพลต่อการแสดงความเห็นของ นาย วินัย ต่องบการเงิน นาย วินัย จะสูญเสียความเป็นอิสระในการใช้ดุลยพินิจตามมาตรฐานวิชาชีพตามที่ควรจะเป็นได้ ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณในเรื่องความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระ
3.ความรู้ ความสามารถ ความเอาใจใส่ และการรักษามาตรฐานในการปฏิบัติงาน
ในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำบัญชีหรือผู้สอบบัญชีจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความรู้ความสามารถ ความชำนาญทางวิชาชีพ ความรอบคอบ เอาใจใส่ และปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจะไม่รับงานเกินกว่าความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญของตน ตัวอย่างในกรณีของผู้สอบบัญชี รับงานสอบบัญชีมาจาก บริษัท ABC สอบบัญชีจำกัด แต่ไม่ได้ทำจดหมายตอบรับงานตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่กำหนดไว้ เพราะเนื่องจากเป็นคนรู้จักคุ้นเคยกัน หรือ การรับงานสอบบัญชีในธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะและผู้สอบบัญชีไม่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจดังกล่าว การกระทำเช่นนี้ถือว่าผิดจรรยาบรรณในเรื่องความรู้ ความสามารถ ความเอาใจใส่ และการรักษามาตรฐานในการปฏิบัติงานเป็นต้น
4.การรักษาความลับ
ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจะต้องรักษาความลับของลูกค้าทั้งก่อนรับงาน ระหว่างปฏิบัติงาน และหลังการรับงานเรียบร้อย โดยไม่เปิดเผยข้อมูลลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจ หรือไม่นำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลที่สาม ตัวอย่างเช่น น.ส.รักดี ผู้สอบบัญชี นำข้อมูลร่างงบการเงินของบริษัทลูกค้าที่ผ่านการสอบบัญชีแล้วแต่ยังไม่ได้เปิดเผย ไปใช้ซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การกระทำดังกล่าว น.ส.รักดี นำข้อมูลภายในของลูกค้าไปใช้ในการซื้อขายหุ้นเพื่อประโยชน์ส่วนตน ถือว่าผิดจรรยาบรรณในเรื่องการรักษาความลับ เป็นต้น
5.พฤติกรรมทางวิชาชีพ
ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อความน่าเชื่อถือของวิชาชีพบัญชี รับผิดชอบต่อผู้รับบริการและผู้ที่ตนปฏิบัติหน้าให้ เช่น สำนักงาน นิติบุคคล ผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นต้น เช่น การที่ผู้สอบบัญชีลงลายมือชื่อรับรองงบการเงินโดยไม่ได้ตรวจสอบงบการเงินจริง หรือ บริษัท AAA การบัญชี จำกัด ลงโฆษณาว่าหากให้บริษัททำบัญชี จะเสียภาษีเงินได้น้อยมาก การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณในเรื่องพฤติกรรมทางวิชาชีพ เป็นต้น
6.ความโปร่งใส
ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติงานตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบต่าง ๆ ตามมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดและไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงที่เป็นสาระสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงินได้ การละเว้นไม่แสดงหรือแสดงข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ จะถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณในเรื่องความโปร่งใส
ทั้งนี้หากผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีอยู่ภายใต้เหตุการณ์แวดล้อมที่ประเมินแล้วเกิดอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพบัญชี ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องขจัดหรือลดอุปสรรคดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
โดยอุปสรรคตามที่จรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปี 2561 อธิบายไว้มี 5 ประเภท
1.อุปสรรคที่เกิดจากผลประโยชน์ส่วนตน
อุปสรรคที่เกิดจากผลประโยชน์ทางการเงินหรือผลประโยชน์อื่นที่มีอิทธิพลอย่างไม่เหมาะสมต่อการใช้ดุลยพินิจหรือพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น การรับงานสอบบัญชีจากสำนักงานบัญชีแห่งเดียวจำนวน 190 งบการเงิน โดยสำนักงานบัญชีแจ้งว่าค่าสอบบัญชีจะขึ้นกับรูปแบบการแสดงความเห็นในงบการเงิน การรับงานสอบบัญชีดังกล่าวจะกระทบต่อการปฏิบัติงานของประกอบวิชาชีพบัญชีเนื่องจากอุปสรรคที่เกิดจากผลประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น
2.อุปสรรคที่เกิดจากการสอบทานผลงานตนเอง
อุปสรรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไม่สามารถประเมินได้อย่างเหมาะสมเกี่ยวกับผลของการใช้ดุลยพินิจที่ผ่านมาของตน เช่น น.ส.จิตรา ผู้สอบบัญชีบริษัท AAA จำกัด ได้จ้างผู้ทำบัญชีของบริษัท AAA จำกัดมาเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทดังกล่าวเพราะเห็นว่ามีความเข้าใจในธุรกิจดังกล่าวเป็นอย่างดี กรณีดังกล่าวจะกระทบต่อการปฏิบัติงานของประกอบวิชาชีพบัญชีเนื่องจากมีอุปสรรคที่เกิดจากการสอบทานผลงานตนเอง เป็นต้น
3.อุปสรรคที่เกิดจากการเป็นผู้ให้การสนับสนุน
อุปสรรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเป็นผู้ให้การสนับสนุนสถานภาพของลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างรายใดรายหนึ่งจนไม่ สามารถอยู่ในฐานะที่สามารถปฏิบัติงานได้ด้วยความเที่ยงธรรม เช่น ผู้สอบบัญชีเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทผู้ว่าจ้าง กรณีดังกล่าวจะกระทบต่อการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเนื่องจากอุปสรรคที่เกิดจากการเป็นผู้ให้การสนับสนุน เป็นต้น
4.อุปสรรคที่เกิดจากความคุ้นเคย
อุปสรรคที่เกิดจากความสัมพันธ์หรือใกล้ชิดกับลูกค้าหรือผู้ว่าจ้าง เกิดความเห็นอกเห็นใจจนเกินไปในผลประโยชน์หรือง่ายต่อการยอมรับในผลงานของบุคคลดังกล่าว เช่น การรับงานสอบบัญชีแต่ไม่ได้ทำจดหมายตอบรับงานตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่กำหนดไว้เพราะเป็นคนรู้จักคุ้นเคยกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เนื่องจากอุปสรรคที่เกิดจากความคุ้นเคย เป็นต้น
5.อุปสรรคที่เกิดจากการถูกข่มขู่
อุปสรรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีถูกยับยั้งจากการปฏิบัติงานอย่างเที่ยงธรรม เนื่องจากแรงกดดันบางอย่างที่เกิดขึ้นจริงหรือซึ่งเข้าใจไปได้ เช่น ผู้ทำบัญชีถูกเจ้าของกิจการสั่งให้ทำบัญชีโดยรับรู้รายการตามที่เจ้าของกิจการต้องการ หากไม่ทำจะไล่ออก กรณีดังกล่าวกระทบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเนื่องจากอุปสรรคที่เกิดจากการถูกข่มขู่ เป็นต้น
ในการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหากผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการปฏิบัติงานจะต้องขจัดหรือลดอุปสรรคดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยการขอคำปรึกษาจากบุคคลอื่นที่เหมาะสมภายในสำนักงาน องค์กรผู้ว่าจ้าง ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลขององค์กร หรือองค์กรทางวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นเพื่อให้การปฏิบัติงานในวิชาชีพบัญชีสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของจรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีทั้ง 6 หลักการ ทั้งนี้เพื่อรักษาเกียรติแห่งวิชาชีพบัญชีและเพื่อข้อมูลทางการบัญชีที่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน
บทความ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองเอก วรรณพฤกษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บรรณานุกรม
สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์. ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2561.สืบค้นวันที่ วันที่ 5 สิงหาคม 2564 จาก
https://acpro-std.tfac.or.th/uploads/files/IESBA_summary.pdf
สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์. คำอธิบายข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2561.สืบค้นวันที่ วันที่ 5 สิงหาคม 2564 จาก https://chanthaburi.cad.go.th/download/Sheet/4_fap%20Ethics%20Booklet%20[46%20pages]%20(25-5-62).pdf
ที่มา: มหาวิทยาลัยศรีปทุม