ครั้งแรกในประเทศไทย ม.มหิดลผ่านการรับรองมาตรฐานพัฒนาบทเรียนออนไลน์นานาชาติ ISO/IEC 40180:2017 จากประเทศเยอรมนี
จากเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 4 ซึ่งว่าด้วยเรื่องคุณภาพการศึกษา(Quality Education) คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกในอนาคตจะบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ได้ หากไม่มีการลงทุนที่ดีพอในการพัฒนามนุษย์ด้วยการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการรับรองระบบการจัดการคุณภาพ
และการบริหารงานด้าน e-learning และ MOOC ตามมาตรฐาน ISO/IEC
40180:2017 เพื่อยกระดับการจัดการคุณภาพ และการบริหารงานด้านการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากลครั้งแรกในประเทศไทย โดย บริษัททูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ ณประเทศเยอรมนี นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำในการพัฒนาคุณภาพบทเรียนออนไลน์ให้ได้มาตรฐานสากลอย่างยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่ทั่วโลกพลิกโฉมการเรียนรู้สู่ระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ ที่ปรึกษากองบริหารการศึกษา และผู้
อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล จากการนำทีมงานเทคโนโลยีการศึกษา กองบริหารการศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล สร้างระบบ MUx (Mahidol University Extension) ซึ่งได้พัฒนาบทเรียนออนไลน์ เพื่อเปิดสอนให้กับประชาชนทั่วไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปีพ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ในขณะดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
หนึ่งในกรอบการดำเนินงาน (framework) ซึ่งเป็นมิติหลักของการประเมินคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC
40180:2017 คือ “Instructional Design” หรือ “Conceptional Design” ซึ่งเป็นการออกแบบสื่อบทเรียนออนไลน์ตามเป้าหมายของการเรียนรู้ที่เป็นระบบ ทั้งในด้านการวางเนื้อหาแนวทางการสอน ด้านเทคนิค และการมีปฏิสัมพันธ์ ด้วยระบบการจัดบทเรียนออนไลน์ที่ได้มาตรฐานสากลนี้ประกอบกับองค์ความรู้จากทีมผู้สอนที่มีคุณภาพ และการตอบรับที่ดีจากประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ความสนใจลงทะเบียนกว่า 430,000 ราย ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถขยายผลต่อยอดสู่การพัฒนาบทเรียนออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ของประชาชนสำหรับพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืนต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทุ่มเทจัดสรรทุนสำหรับคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาบทเรียนออนไลน์ให้มีความทันสมัยในหลากหลายวิชา โดยกำหนดให้ผู้สอนเข้ารับการอบรม “หลักสูตรการออกแบบการเรียนการสอนสำหรับบทเรียนออนไลน์” (Instructional Design for Online Learning) ก่อนเปิดสอนบทเรียนออนไลน์ใน MUx ซึ่งนำทีมจัดอบรมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ โดยมีไฮไลท์ที่การขมวดรวมทฤษฎีเพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาบทเรียนออนไลน์ได้อย่างกระชับ ครอบคลุม และใช้ได้จริง โดยมีตัวอย่างกรณีศึกษา (case study) และเครื่องมือต้นแบบ (template) ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้ทันที ตาม framework ของISO/IEC
40180:2017 ซึ่งมีการแสดงผลสะท้อนกลับ (feedback) ที่ผู้เรียนสามารถใช้แบบทดสอบความรู้ในการเรียนรู้ไปด้วยโดยปัจจุบันได้ถอดบทเรียนเปิดให้ประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้ลงทะเบียนเข้าอบรมออนไลน์ในระบบ MUx ของมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป โดยได้รับความนิยมติดอันดับ Top10 ของ MUx อีกด้วย
นอกจากนี้ ในโลกยุคดิจิทัล ลำพังความรู้เรื่องเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการประกอบการ (Entrepreneurial Study) ร่วมด้วย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการก้าวสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลกของมหาวิทยาลัยมหิดล และทั่วโลก รวมทั้งนโยบาย Thailand 4.0 โดยได้รับการบรรจุอยู่ในรายวิชาออนไลน์ล่าสุดที่ชื่อว่า “หลักสูตรพื้นฐานประกอบการยุค4.0” นำการสอนโดย อาจารย์ ดร.พรพิรัตน์ คันธธาศิริ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประกอบการเชิงนิเวศวัฒนธรรม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปได้ลงทะเบียนอบรมออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีบางองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนกำหนดให้เป็นวิชาเพื่อการพัฒนาบุคลากร และประกอบการพิจารณาปรับฐานเงินเดือน
อาจารย์ ดร.พรพิรัตน์ คันธธาศิริ อธิบายว่า หลายคนคุ้นชินกับคำว่า “บริหารธุรกิจ” ซึ่งคนส่วนใหญ่มองภาพในเชิงธุรกิจอย่างเดียว แต่คำว่า “การประกอบการ” นั้นจะหมายรวมถึงการประกอบกิจการทั้งหมด ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการ หากทำด้วย “จิตสำนึกแห่งการเป็นผู้ประกอบการ” จะสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งสามารถจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้อีกด้วยโดย “หลักสูตรพื้นฐานประกอบการยุค 4.0” จะเป็นบทเรียนที่ว่าด้วยองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการทำให้ธุรกิจ และการประกอบการดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับหลักสูตรซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนจนติดอันดับ Top10 ของ MUx อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ “หลักสูตรพื้นฐานของประสาทวิทยาศาสตร์” เป็นรายวิชาความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์เพื่อความรู้ความเข้าใจถึงการทำงานของสมองรวมทั้งสารสื่อประสาทต่างๆ ในสมองของมนุษย์ นำการสอนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติคุณ วิวัฒน์ภิญโญ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
ความผิดปกติของร่างกายบางอย่างสามารถอธิบายได้ง่ายๆด้วยความรู้พื้นฐานของประสาทวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นอาการนอนไม่หลับ ซึ่งบ่อยครั้งพบสาเหตุสำคัญจากการนอนไม่ปิดไฟ ที่อาจไปชะลอกระบวนการหลับได้ หรืออาการHeatstroke ซึ่งเกิดจากการต้องสูญเสียเหงื่อเป็นจำนวนมากเมื่อเวลาร้อน จนสมองไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ และกรณีของผู้ติดยาเสพติด ซึ่งไม่สามารถหยุดยาได้ในทันที เนื่องจากกลไกที่เกิดขึ้นในสมอง เป็นต้น
และยิ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่าง และหลายคนต้องเผชิญกับความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะพยาบาลศาสตร์ จึงได้เปิดหลักสูตรออนไลน์ “การพัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนา” ขึ้นเพื่อเป็นที่พึ่งสำหรับประชาชนให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยจิตใจที่เข้มแข็งและในขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดูแลตนเอง และผู้ที่อยู่รอบข้างได้อย่างยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์กลิ่นชบา สุวรรณรงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลหนึ่งในทีมผู้สอนหลักสูตรออนไลน์ “การพัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนา” ซึ่งเป็นหนึ่งในรายวิชาที่ติดอันดับ Top10 ของ MUx อยู่ในปัจจุบัน ได้กล่าวแนะนำถึงหลักธรรมพุทธธรรม ซึ่งเป็นหัวข้อที่ตนรับผิดชอบสอนในหลักสูตรดังกล่าวให้เข้าใจง่ายว่า คือ “การทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” ด้วยการหมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ให้อภัย ปฏิบัติดี มอบสิ่งดีๆ แก่ผู้อื่น และที่สำคัญให้”มีสติ” กับ “ทุกสิ่งที่ทำ” และ “ทุกคำที่พูด” โดยรายวิชาฯ ได้เปิดกว้างให้ประชาชนจากทุกศาสนาสามารถสมัครลงทะเบียนเพื่ออบรมออนไลน์ศึกษาหลักของพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้เป็นหลักธรรมนำชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักศึกษาพยาบาล ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นฐานในการรู้จักและเข้าใจชีวิต เพื่อที่จะเข้าใจและช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเอื้ออาทรต่อไป
ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดกว่า 100 หลักสูตรให้ประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้เลือกลงทะเบียนเรียนออนไลน์พร้อมรับประกาศนียบัตรเมื่อผ่านการอบรมตามเกณฑ์วัดผลที่กำหนดของแต่ละหลักสูตร สมัครและเข้าอบรมออนไลน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ mux.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล