อาจารย์ มจพ. คว้ารางวัล BEST PRESENTATION จากงานประชุม ICRES 2021 ตอบโจทย์ การอนุรักษ์พลังงาน

อาจารย์ มจพ. คว้ารางวัล BEST PRESENTATION จากงานประชุม ICRES 2021 ตอบโจทย์ การอนุรักษ์พลังงาน

ผลงานวิจัย เรื่อง “Valorisation Wastes from Sugar Mill Plant and Water Supply Treatment Process as Alternative Materials for Ecological Ceramic Floor Tiles” รศ.ดร.อุบลรัตน์ หวังรักษ์ดีสกุล ภาควิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้รับรางวัลการนำเสนอยอดเยี่ยม BEST PRESENTATION ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 2021 3rd International Conference on Resources and Environment Sciences (ICRES 2021) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้มาทำความรู้จักกับ รศ.ดร.อุบลรัตน์ หวังรักษ์ดีสกุล เล่าถึง ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล Best Presentation Award จากงานประชุมวิชาการนานาชาติ ICRES 2021 เป็นการประชุมแบบออนไลน์ ที่เน้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นงานวิจัยประเภท Waste Utilization ซึ่งเน้นการใช้อรรถประโยชน์กากของเสียจากภาคอุตสาหกรรม ในการผลิตกระเบื้องเซรามิค ดังนั้น กากของเสียที่นำมาใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ จำต้องมีส่วนประกอบ Silica และ Alumina เป็นหลัก รวมทั้งสารประกอบโลหะออกไซด์ ที่ช่วยลดอุณหภูมิในการเผาเพื่อประหยัดพลังงานสำหรับการผลิตกระเบื้องเซรามิค โดยมีนายธนพงษ์ พุ่มม่วง นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผู้ร่วมวิจัยและสร้างชิ้นงานประดิษฐ์

วัตถุประสงค์ของงานวิจัย เพื่อศึกษาผลของการใช้ เถ้าชานอ้อย แคลเซียมคาร์บอนเนต ดินตะกอนน้ำประปา และเศษแก้วสีชา สำหรับกระเบื้องปูพื้น  และเพื่อพัฒนากระเบื้องดินเผาจากวัสดุของเสียจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 2508-2555  ส่วนวัสดุของเสียที่นำมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยนี้ มาจากโรงงานผลิตน้ำตาล คือ แคลเซียมคาร์บอเนต และ เถ้าชานอ้อย จากโรงผลิตน้ำประปา คือ ดินตะกอนน้ำประปา และเศษแก้วจากโรงผลิตขวดแก้ว ผลที่ได้ถือว่าเป็นการใช้กากของเสียในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาระต่อผู้ประกอบการในการกำจัดทิ้งวัสดุจากกระบวนการผลิต งานวิจัยนี้ได้รับทุนขับเคลื่อนงานวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ปี 2563 ระยะเวลา 1 ปี

ลักษณะเด่นของงานวิจัย วัสดุที่ใช้ในการผลิตเป็น กากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ในกระบวนการวิจัย และยังใช้อุณหภูมิในการเผาสำหรับกระเบื้องปูพื้นในงานวิจัยนี้ต่ำกว่าที่มีการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป สำหรับการประยุกต์ใช้ แคลเซียมคาร์บอเนต ของเสียจากโรงงานน้ำตาล นอกจากนี้ ยังได้ประยุกต์ใช้เศษแก้วที่มี เป็นส่วนประกอบของออกไซด์ที่ช่วยลดจุดหลอมตัวในการเผา เป็นการช่วยอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย

หากจะมองถึงประโยชน์การใช้งานวิจัย รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวว่าสามารถเป็นนำไปต่อยอดและพัฒนาไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมชุมชน ที่มีความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้สีสันที่แปลกตาจากที่โรงงานเคยผลิต รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ของเสีย มูลค่าของเสียเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้า สนับสนุนให้เกิดธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

สอบถามรายละเอียดได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์ 084-676-3237

ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ