NIA ร่วมกับ TCELS จับมือเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี จัดอบรมออนไลน์ “หลักสูตรยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ ตามหลักการ OECD GLP”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ฝ่ายโปรแกรมบริหารเภสัชภัณฑ์และเซลล์บำบัด และ โปรแกรมเวชนครและสารสนเทศชีวการแพทย์ จับมือร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA), ภาควิชาเภสัชวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าและเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศูนย์ไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดอบรมออนไลน์ในการพัฒนาบุคลากรด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อรองรับการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะรองรับการทดสอบความปลอดภัยยาและวัคซีน COVID-19 เครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรและรองรับการยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ในประเทศ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในหัวข้อ “หลักสูตรการยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ ตามหลักการ OECD GLP” ในวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2564 เวลา 08.30-16.30 น. ผ่านโปรแกรม Microsoft Team
โดยได้รับเกียรติจาก พ.อ.ผศ.นพ. ดุสิต สถาวร รองผู้อำนวยการ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (ผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์บริการ) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งได้รับเกียรติจากวิทยากรกูรูผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ อาทิ ดร.สุมล ปวิตรานนท์ บรรยายหัวข้อ Introduction to general OECD GLP principles, ดร.ภัทรวีร์ สร้อยสังวาลย์ บรรยายหัวข้อ National Compliance Monitoring Authority, ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ บรรยายหัวข้อ How to lmplement OECD GLP for Test Facility และ Experience for OECD GLP inspection
ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “วันที่ 20-21 กรกฎาคม 2564 เวลา 08.30-16.30 น. ทางทีมผู้จัดและเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ได้จัดอบรมในรูปแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Microsoft Team ตามแนวชีวิตวีถีใหม่ (New Normal) จากการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤตการระบาดของ COVID-19 หัวข้อที่อบรมคือ “หลักสูตรการยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ ตามหลักการ OECD GLP” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการ OECD GLP และมาตรฐานการทดสอบเครื่องมือแพทย์ ISO 14971 :2019 ในประเทศให้สามารถทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ เภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ยาสัตว์ สารปรุงแต่งในอาหาร และอาหารสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง สารเคมีในอุตสาหกรรมหรือใช้ในครัวเรือน โดยเฉพาะการดำเนินการรองรับการทดสอบยา วัคซีน COVID-19 ซึ่งดำเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ OECD และสมาชิกสมทบ 44 ประเทศทั่วโลก”
ที่มา: ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)