จุฬาฯ ปรับห้องสมุดสู่ยุค New Normal เน้นสะอาดปลอดภัย บริการทั่วถึงและเท่าเทียม
บรรณารักษ์ จุฬาฯ เผยห้องสมุด จุฬาฯ พร้อมอวดโฉมใหม่เร็วๆ นี้ หลังปรับตัวรับมือโรคระบาด เดินหน้าสู่ระบบออนไลน์ จัดระบบฆ่าเชื้อและรักษาความสะอาดหนังสือและพื้นที่ เพิ่มบริการที่หลากหลาย เข้าถึงผู้ใช้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
สถานที่สาธารณะหลายแห่งต่างปรับตัวตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ห้องสมุดก็เช่นกัน ต้องปรับตัวทั้งรูปแบบการให้บริการและบทบาทต่อสังคม อย่างห้องสมุดหลายแห่งในต่างประเทศเปิดให้บริการแบบ Drive-thru Library มีบริการรับส่งหนังสือจากห้องสมุดถึงที่พักอาศัย รวมทั้งการปรับพื้นที่เป็นสถานีตรวจเชื้อ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ล่าสุด สมาคมวิชาชีพห้องสมุดไทยได้จัดประชุมออนไลน์ปรึกษาหารือเรื่องการปรับตัวของห้องสมุดเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางของห้องสมุดในอนาคต ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ หัวหน้าภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยถึงปัญหาในการปรับตัวของห้องสมุดทั่วโลกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า
“ที่เห็นชัดเจนคือการขาดข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการให้บริการในสถานการณ์เช่นนี้ ถัดมาคือการขาดมาตรฐานการจัดการพื้นที่บริการภายในห้องสมุด โดยเฉพาะเมื่อต้องคำนึงถึงปริมาณผู้ใช้ในแต่ละรอบและการรักษาระยะห่างระหว่างผู้ใช้บริการภายในห้องสมุด นอกจากนี้ยังมีเรื่องการฆ่าเชื้อหนังสือและวัสดุต่างๆ ซึ่งอาจเสื่อมคุณภาพหรือเสียหายจากการฉีดแอลกอฮอล์และฉายแสง UV (Ultraviolet)”
ผศ.ดร.ทรงพันธ์ กล่าวถึงทางออกของการจัดการห้องสมุดในเวลานี้ว่า “ทางออกที่เป็นไปได้ที่สุดจึงน่าจะเป็นบริการสื่อหรือหนังสือดิจิทัลซึ่งเหมาะสมสำหรับการให้บริการออนไลน์ เพื่อการลดความเสี่ยงจากการสัมผัสและการอยู่ใกล้กันภายในพื้นที่จำกัด แต่นั่นก็ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับกฎหมายการค้า ปัญหาด้านลิขสิทธิ์เผยแพร่ออนไลน์ ซึ่งห้องสมุดหลายแห่งไม่อาจให้บริการได้เต็มประสิทธิภาพอย่างที่คาดหวัง”
บทบาทใหม่ของห้องสมุดในต่างประเทศ
ผศ.ดร.ทรงพันธ์ กล่าวถึงการปรับตัวของห้องสมุดในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างห้องสมุดประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ปรับระบบการยืม-คืนหนังสือเป็น Drive-thru Library มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการหยิบหนังสือให้โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องลงจากรถ รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายในการใช้พื้นที่ เช่น การปรับเป็นศูนย์สนับสนุนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากพิกัดห้องสมุดส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนทำเลที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้สะดวก พื้นที่กว้างขวาง ระบายอากาศดี และที่สำคัญคือมีลานจอดรถเพียงพอ ส่วนเจ้าหน้าที่หรือบรรณารักษ์ก็ปรับหน้าที่กลายเป็นผู้ประสานงานคอยให้บริการผู้เข้ามาตรวจเชื้อ ห้องสมุดบางแห่งในสหรัฐฯ เช่น ห้องสมุดนิวยอร์ก ถึงกับยอมลงทุนพัฒนาแอปพลิเคชันและจัดกิจกรรมออนไลน์ (Online Group Club) เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนมีโอกาสได้อ่านหนังสือผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกัน
ข้ามไปฝั่งยุโรป เช่น หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส ได้เพิ่มบริการใหม่ “นิทรรศการเสมือน” (Virtual Exhibition) ให้ผู้สนใจเข้าชมออนไลน์พอให้คลายความเครียดจากวิกฤตการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อนานแรมปี ที่โปรตุเกส ห้องสมุดหันมาผลิตรายการอ่านหนังสือให้ฟังเพื่อการผ่อนคลายโดยเผยแพร่ทางช่อง YouTube ขณะที่เอเชีย เช่น อินเดีย ห้องสมุดที่นั่นได้เพิ่มบริการใหม่ “หนังสือบำบัด” โดยห้องสมุดจะจัดส่งหนังสือแนะนำไปให้ผู้อ่านถึงบ้าน ลดการเดินทางโดยไม่จำเป็น
ปรับบทบาทห้องสมุดจุฬาฯ ให้ทันสถานการณ์
ห้องสมุดจุฬาฯ ก็ปรับตัวเช่นเดียวกับห้องสมุดทั่วโลก รองศาสตราจารย์ ดร.อมร เพชรสม ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ ได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หลังการประชุมร่วมกับสมาคมวิชาชีพห้องสมุดของไทย
“สำหรับสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ หรือหอสมุดกลางได้ปิดทำการพร้อมกับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ การแพร่ระบาดรอบแรก เมื่อห้องสมุดปิด สิ่งแรกที่เราคำนึงถึงมากที่สุดคือต้องมั่นใจว่านิสิตและอาจารย์ รวมทั้งบุคลากรทุกคนยังคงสามารถเข้าถึงข้อมูลในรูปแบบการออนไลน์ได้ปกติ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดอัตโนมัติ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-books) วารสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-journal) และฐานข้อมูลต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เบื้องต้นคือหมั่นตรวจสอบระบบไอทีอย่างสม่ำเสมอ”
ห้องสมุดจุฬาฯ ยังร่วมมือกับฝ่ายวิชาการจัดโครงการอำนวยความสะดวกแก่นิสิตสามารถยืมโน้ตบุ๊กเพื่อใช้เรียนออนไลน์ได้ โดยทั้งหมดได้รับบริจาคจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และที่อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 200 เครื่อง นอกจากนี้ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ ยังจัดการอบรมต่างๆ เป็นประจำ เช่น สอนการใช้โปรแกรม EndNote ในรูปแบบออนไลน์ และยังมีบริการจัดส่งหนังสือถึงบ้านนิสิตและบุคลากรของจุฬาฯ ผ่านไปรษณีย์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเปิดบริการมาต่อเนื่องตั้งแต่การแพร่ระบาดระยะแรก นับถึงวันนี้มีผู้ใช้บริการกว่า 2,000 คน ยืมหนังสือไปทั้งสิ้นกว่า 4,000 เล่ม
ห้องสมุด จุฬาฯ พร้อมเปิดอีกครั้ง
ช่วงที่ห้องสมุดปิดทำการ ได้ใช้เวลาปรับปรุงระบบบริการเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด เช่น ระบบการเข้า-ออกห้องสมุด จุดวัดอุณหภูมิและตรวจสอบหน้ากากอนามัย ระบบฆ่าเชื้อหนังสือทุกเล่มที่รับคืนกลับมา การทำความสะอาดทุกห้องทุกชั้นภายในอาคารแม้ไม่มีผู้ใช้บริการ ส่วนบุคลากรที่ทำงานในห้องสมุดก็ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันนี้ บุคลากรรับวัคซีนไปแล้วกว่าร้อยละ 90
“เราเตรียมความพร้อมเต็มที่เพื่อรองรับการเปิดเรียนของจุฬาฯ ไม่ว่าจะด้านกายภาพและบุคลากร เพราะนิสิตเครียดกันมาเยอะแล้วจากการที่ต้องเรียนออนไลน์และกักตัวอยู่บ้าน ทันทีที่มหาวิทยาลัยเปิดห้องสมุดจะเป็นแหล่งที่นิสิตได้เข้ามาพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ได้ใช้ทุกพื้นที่ของห้องสมุดในการเรียนอย่างเต็มที่ และแม้ทุกคนจะได้รับวัคซีนแล้วก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะใช้บริการ” รศ.ดร.อมร กล่าว
อนาคตของห้องสมุดยุค New Normal
ผศ.ดร.ทรงพันธ์ หัวหน้าภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ยังฉายภาพอนาคตของห้องสมุดจุฬาฯ หลังวิกฤตครั้งนี้ โดยระบุว่าจะยกระดับทุกระบบเป็นออนไลน์มากขึ้น ซึ่งต้องปรับทั้งโครงสร้าง ตั้งแต่ระบบงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างและจัดหาทรัพยากรต่างๆ เข้ามา และพึ่งพาทรัพยากรที่เป็นตัวเล่มน้อยลง การปรับเปลี่ยนเช่นนี้จะส่งผลต่อตำแหน่งงานและเกิดหน่วยงานใหม่ด้วย ขณะเดียวกันทรัพยากรออนไลน์ก็มีข้อจำกัดดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น โดยเฉพาะข้อตกลง สัญญา และการอนุญาตต่างๆ ซึ่งต้องดำเนินการคลี่คลายในเรื่องนี้ต่อไปเพื่อให้ห้องสมุดตอบโจทย์ผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง
“แต่ก่อน ห้องสมุดบริการแบบใครมาก่อนได้ก่อน แต่ช่วงโควิดแพร่ระบาดหนัก ได้เห็นความเหลือมล้ำด้านโอกาส เราจึงมาทบทวนว่าน่าจะใช้วิธีการจัดลำดับความจำเป็นต้องการใช้ทรัพยากรเป็นหลักในการให้บริการ โดยคนที่มายืมต้องแจ้งความจำเป็นต้องการของตนว่าเร่งด่วนเพียงใด เทียบกับคนอื่นที่ต้องการทรัพยากรนี้เหมือนกัน ใครจำเป็นต้องการเร่งด่วนกว่ากัน เนื่องจากทรัพยากรพื้นฐานมีจำกัด แต่ห้องสมุดต้องบริการทุกคนซึ่งทรัพยากรที่มีอยู่รองรับทุกคนพร้อมกันไม่ได้” ผศ.ดร.ทรงพันธ์ กล่าวย้ำ
ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย