ม.พะเยา เป็นเจ้าภาพคัดเลือก ๕ ทีม สุดยอดตัวแทนภาคเหนือ ในการแข่งขัน U2T Hackathon ระดับภูมิภาค (ภาคเหนือตอนบน)

ม.พะเยา เป็นเจ้าภาพคัดเลือก ๕ ทีม สุดยอดตัวแทนภาคเหนือ ในการแข่งขัน U2T Hackathon ระดับภูมิภาค (ภาคเหนือตอนบน)

มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมการ Pitching U2T Hackathon ระดับภูมิภาค เพื่อคัดเลือก ๕ ทีมสุดท้ายจาก ๒๒ ทีม ในการแข่งขัน U2T Hackathon ระดับภูมิภาค (ภาคเหนือ) เมื่อวันศุกร์ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ มอบรางวัลให้กับ ๕ ทีม ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของภาคเหนือโครงการแข่งขัน U2T Hackathon ระดับภูมิภาค (ภาคเหนือตอนบน) ณโรงแรม M2 Hotel Waterside จังหวัดพะเยา โดยทีมที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่

  • ทีม Rice is Life มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ทีม Nile Creek Rescue มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย
  • ทีม My straw House มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ทีม น้ำอ้อยป่าตุ้ม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ 
  • ทีม มุส่าโต่ ห่อทีหล่ม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่

โดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานรอบตัดสิน จากมหาวิทยาลัยพะเยาในวันนี้คือ 

  • รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย
  • ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์พล
  • ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา นายณรงค์ชัย สุทธิกุลบุตร
  • ผู้อำนวยการกองบริหารงานวิจัย นางสาวอัญชลี เทียมคีรี

โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) หรือU2T ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทักษะแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ U2T ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันได้ระดมความคิดจากปัญหาและความต้องการในพื้นที่กว่า ๓,๐๐๐ ตำบล ทั่วประเทศ เพื่อได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงในชุมชน จนเกิดแนวทางการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรมที่ยกระดับเศรษฐกิจจากฐานรากอย่างแท้จริง และเพื่อเป็นแนวทางไปสู่การขยายผลเกิดการขับเคลื่อนทางสังคมเป็นพลังจากคนพื้นที่ร่วมกับพลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สู่ความยั่งยืน

สุดยอด ๕ ทีม ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของภาคเหนือ จะได้รับเงินรางวัล ทีมละ ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่เชิดชูเกียรติ เพื่อนำแนวทางการพัฒนา ในรูปแบบไอเดียไปทดลองทดสอบในพื้นที่จริง ภายใต้คำแนะนำของพี่เลี้ยงและผู้นำชุมชน เป็นเวลา ๓ เดือน เพื่อพัฒนาเป็น “ตัวต้นแบบ” หรือ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ก่อนเข้าสู่การเฟ้นหา ๕ สุดยอดแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในการแข่งขันระดับประเทศ ในเดือน พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ชิงเงินรางวัลสนับสนุนทีมละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมรับโล่เชิดชูเกียรติเพื่อต่อยอดและพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมชุมชนในต่อไป

ที่มา: มหาวิทยาลัยพะเยา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ