ม.มหิดล ส่งเสริมนักศึกษาทำกิจกรรมจิตอาสา ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ช่วงวิกฤติ COVID-19
นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา วันละกว่า 1,000 คน จนถึงปัจจุบันรวมกว่า 20,000 คนโดยได้ระดมบุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งนักศึกษาจิตอาสาของมหาวิทยาลัยมหิดลมาคอยให้บริการ
ในส่วนของนักศึกษาจิตอาสา มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดรับสมัครจากเพจ Mahidol Volunteer ตามความสมัครใจ ซึ่งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ร่วมทำกิจกรรมนอกจากจะได้รับ Activity Transcript หรือ AT เป็นเครดิตในใบรายงานผลการศึกษาแล้ว ยังได้ความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค COVID-19
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กิจกรรมจิตอาสาถือเป็น “สายเลือดหลัก” ของกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นกิจกรรมเสริมที่ไม่ได้อยู่ในการเรียนการสอน แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถเข้ามาช่วยเหลือสังคมได้ COVID-19 ส่งผลกระทบกับคนทั้งโลก ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมามองว่า เราจะสามารถช่วยเหลือกันให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร โดยนำเอาความรู้ความสามารถที่มีอยู่มาทำประโยชน์กลับคืนสู่สังคม ซึ่งหลักของการทำกิจกรรมจิตอาสาของมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ได้ทำเพื่อหวังชื่อเสียง แต่หวังที่จะทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ “จิตวิญญาณที่แท้จริง” ของมหาวิทยาลัยมหิดล
“ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในมหาวิทยาลัยมหิดล “จิตอาสามหาวิทยาลัยมหิดล” ต่างจาก “จิตอาสาทั่วไป” คือ เราจะเอา”ความเป็นมหิดล” ใส่ลงไปในคำว่า “จิตอาสา” ด้วย แม้หลายคนจะมองว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัยทางด้านการแพทย์ต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ไม่ว่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลจะเรียนสาขาใดก็สามารถนำความรู้ความสามารถของตัวเองไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นได้ โดยในอนาคตมหาวิทยาลัยมหิดลจะทำให้ทุกกิจกรรมจิตอาสา มีการสอดแทรกความรู้ของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในสาขานั้นๆลงไปด้วย สำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา COVID-19 เราไม่ได้บอกว่าจะต้องระวังตัวเป็นพิเศษแค่ในช่วงที่ทำกิจกรรม แต่จะบอกให้ใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังในทุกเวลา ซึ่งการที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมในสภาวะที่ยากลำบากนี้ นอกจากเป็นการฝึกให้รู้จักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนแล้ว จะทำให้เกิด “พลังชีวิต” จากความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองมากขึ้นด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าว
นศพ.ปุณยาพร โง้วสวัสดิ์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่เสียสละทำหน้าที่จิตอาสา ณ ศูนย์บริการฉีดวัคซีน ศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มาตลอดเวลากว่าสองสัปดาห์จากการสมัครผ่านเพจ Mahidol Volunteer เล่าว่า แม้การเรียนแพทย์จะเป็นการเรียนที่ต้องใช้เวลาทุ่มเทอย่างหนัก แต่ก็ได้ใช้เวลาก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 วันที่9 สิงหาคม 2564 บำเพ็ญประโยชน์ ณ จุดบริการที่ 7 ซึ่งเป็นจุดพักและรับรองการฉีดวัคซีน COVID-19 จุดสุดท้ายก่อนที่ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนจะกลับบ้าน ด้วยความยึดมั่นในพระปณิธานแห่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย” ตามพระราชดำรัสที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สองประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
นศพ.ปุณยาพร โง้วสวัสดิ์ ได้เล่าย้อนไปถึงตอนสอบสัมภาษณ์เข้าเป็นนักศึกษาแพทย์ศิริราช อาจารย์แพทย์ผู้สอบสัมภาษณ์ถามว่า “ถ้าวันหนึ่งต้องมาปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นโดยที่จะต้องเสี่ยง COVID-19 จะกลัวมั้ย” ตนได้ตอบไปอย่างไม่ลังเลเลยว่า ไม่กลัว และถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือทันที จนเมื่อถึงเวลาปิดภาคเรียนจึงได้สมัครเป็นจิตอาสาเพื่อทำตามที่ได้ตั้งใจไว้ ด้วยความรู้สึกอยากจะก้าวออกมาจาก “safe zone” หรือ พื้นที่ปลอดภัยที่ไม่ต้องทำอะไร แต่เลือกที่จะออกมาทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นบ้าง เพราะรู้สึกว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้มอบโอกาสให้ตนได้เข้ามาศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ใฝ่ฝันมาโดยตลอด ทำให้ตนและครอบครัวเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ จึงอยากทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อเป็นการตอบแทนบ้าง
ซึ่งประสบการณ์ที่ได้รับจากการเป็นจิตอาสาประจำศูนย์บริการฉีดวัคซีน ได้จากการพูดคุยกับผู้มารับบริการฉีดวัคซีน แล้วรู้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร จึงได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งต้องค้นคว้าข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการวันต่อๆ ไป เช่น มีผู้รับบริการบางรายถามว่า “ฉีดวัคซีนไปแล้ว จะสามารถออกกำลังกายได้เลยหรือไม่” ซึ่งจากที่ตนได้ศึกษามาก่อนที่จะมาประจำจุดบริการจึงสามารถให้คำตอบได้ทันทีว่า ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนควรเว้นช่วงหยุดพักร่างกายในระยะหนึ่งหลังฉีดวัคซีน เพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้น นอกจากนี้ ยังสามารถตอบคำถามทั่วไปเช่น หากดื่มชา-กาแฟมาก่อนจะเข้ารับการฉีดวัคซีนได้หรือไม่ โดยจากการค้นข้อมูล “หมอพร้อม” ทำให้ทราบว่าสามารถฉีดได้ รวมถึงยังได้แนะนำผู้รับบริการด้วยว่า หากมีอาการผิดปกติหลังฉีดวัคซีน เช่น แน่นหน้าอก มือชา ปลายเท้าชา มีตุ่มแดง หรือผิวหนังเป็นจ้ำ ควรรีบพบแพทย์ ฯลฯ
นศพ.ปุณยาพร โง้วสวัสดิ์ ได้เข้ามาเป็นนักศึกษาแพทย์ศิริราชตั้งแต่ช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาดเมื่อปีที่ผ่านมานอกจากการเป็นจิตอาสาศูนย์บริการฉีดวัคซีน ศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา แล้ว ยังรับหน้าที่เป็นประธานจัดงาน “รับน้องปี 1 ศิริราช” เป็นคณะทำงานของสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช และการจัดทำธงวันมหิดล-ออกหน่วยรับบริจาค แม้จะเรียนหนัก แต่ก็สามารถแบ่งเวลาให้กับการทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับชีวิตอีกด้วย โดยเชื่อว่าการทำกิจกรรมจิตอาสาเป็นเหมือนพลังทางจิตใจ ทำให้สุขใจ และได้เพื่อนกลับไปเสมอ
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจได้จากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล